Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

นาฬิกาในร่างกายของมนุษย์

Posted By Plook Creator | 01 ก.พ. 60
6,141 Views

  Favorite

คุณจะรู้เวลาในขณะนั้นได้อย่างไรหากไม่ได้มองนาฬิกา สิ่งมีชีวิตหลายชนิดรู้เวลาในแต่ละวันได้ด้วยตัวของมันเอง ต้นไม้ออกดอกในเวลาเช้า คายก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์เมื่อดวงอาทิตย์ตกและฟ้ามืดลง นกออกหากินตอนเช้า พร้อม ๆ กับแมลงต่าง ๆ ที่รู้เวลาว่าเมื่อไหร่ต้องออกมาหากิน เมื่อไหร่ต้องหลบนักล่า ดอกไม้บางชนิดบานเมื่อเช้าตรูและหุบเมื่อสายเท่านั้น ในขณะที่บางดอกบานแค่ตอนสายแต่หุบตอนบ่าย ๆ มันรู้เวลาได้ แต่ร่างกายของมนุษย์เองหละรู้ถึงเวลาหรือไม่ หากไม่มองเงาแดด ไม่สังเกตตำแหน่งของดวงอาทิตย์

 

ภาพ : Pixabay

 

Circadian Rhythm คือ นาฬิกาชีวิตของร่างกายมนุษย์ เป็นนาฬิกาทางชีวภาพซึ่งมีอยู่ในร่างกายของสิ่งมีชีวิต โดยปกติแล้วจะทำงานเป็นวงจรรอบละ 24 ชั่วโมงกับเศษอีกเล็กน้อยเกือบจะเท่ากับชั่วโมงในแต่ละวัน มันทำให้ร่างกายของเรารู้ว่าเมื่อไหร่ควรตื่น เมื่อไหร่ควรนอน เมื่อไหร่ควรกิน การทดลองเกี่ยวกับนาฬิกาของร่างกายเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1962 เมื่อนักสำรวจถ้ำชื่อ Michel Siffre ขังตัวเองไว้ในถ้ำที่ไม่มีแสงสว่างจากภายนอกและไม่มีนาฬิกา เป็นเวลานานนับเดือน เขาใช้ชีวิตตามปกติ กิน นอน ตื่น ตามร่างกายต้องการ พร้อม ๆ กับบันทึกข้อมูลเอาไว้

 

เมือการทดลองสิ้นสุดลงเขาตรวจพบว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในถ้ำนั้นเกิดขึ้นเป็นวัฏจักรตามที่มันควรจะเป็น เขานอน กิน และตื่นเป็นเวลาราวกับดูนาฬิกาอยู่เสมอ และนั่นทำให้มนุษยชาติรู้ว่าเราทุกคนมีนาฬิกาภายในร่างกายเป็นของตัวเอง แต่สิ่งเหล่านี้อาจจะเปลี่ยนไปหากคุณทำงานและนอนไม่เป็นเวลา นั่นทำให้ระบบนาฬิกาภายในร่างกายปั่นป่วน ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงร่างกายทั้งในแง่การทำงานและการใช้ชีวิต

 

นักวิทยาศาสตร์พบว่าจังหวะชีวิตที่เกิดขึ้นและหมุนเวียนเปลี่ยนไปตาม Circadian Rhythm นี้ส่งผลต่อระดับฮอร์โมนที่ต่อมต่าง ๆ ในร่างกายปล่อยออกมา ระดับน้ำตาลและสารอาหารต่าง ๆ ในเลือด รวมไปถึงระบบกลไกต่าง ๆ เช่น การย่อยอาหาร การดูดซึม การหายใจ การเต้นของหัวใจ การขับของเสียออกจากร่างกาย หรือแม้แต่การทำงานของยาที่เราทานเข้าไปเพื่อรักษาโรค ทุกอย่างล้วนเกี่ยวพันกับระบบนาฬิกาในร่างกายของเรา

 

นักวิทยาศาสตร์พบว่า เครือข่ายระบบประสาทที่อยู่ในสมองของเราทำหน้าที่เหมือนนาฬิกาจับเวลา รวมถึงปฏิทินบอกวันและฤดู แต่การทำงานของมันก็อาจถูกปรับเปลี่ยนได้จากปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น ความตื่นเต้นต่อกิจกรรมที่ได้สัมผัส อย่างดูบอลคู่โปรดตอนตี 2 ก็ทำให้คุณตื่นแทนที่จะง่วงนอนเพราะเป็นเวลานอน หรือการทำกิจกรรมที่น่าเบื่อในเวลากลางวัน เอนตัว มีหมอนหนุน พร้อมผ้าห่ม ก็อาจจะทำให้คุณง่วงในตอนบ่ายแทน

 

ภาพ : Pixabay

 

อย่างไรก็ตามนาฬิกาของร่างกายเราก็ยังรับเอาปัจจัยทางธรรมชาติอื่น ๆ อย่างแสงอาทิตย์ อาหาร เสีย ง และอุณหภูมิ เข้ามาประมวลผลด้วย ปัจจัยเหล่านี้เรียกว่า Zeitgebers เป็นศัพท์ภาษาเยอรมันแปลว่า Givers of time ผู้กำหนดจังหวะหรือเวลา และมันเป็นปัจจัยที่ช่วยให้คุณปรับตัวเวลาต้องเดินทางไปอยู่ต่างประเทศซึ่งมีเวลาต่างกันมาก ๆ เป็นไปได้ง่ายขึ้น ความมืดและสว่างมีผลต่อกลุ่มเซลล์ในสมอง โดยมันจะช่วยปรับให้นาฬิกาในร่างกายเปลี่ยนแปลงไปตาม Timezone ที่คุณอยู่ แน่นอนว่าบางคนเปลี่่ยนแปลงได้เร็ว บางคนเปลี่ยนแปลงได้ช้า อย่าง เช่นอาการ Jet lag ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อคุณเดินทางไปยังประเทศที่มีเวลาต่างจากประเทศตั้งต้น ทำให้เกิดอาการไม่สบายตัว ง่วงนอนในเวลากลางวัน นอนไม่หลับเมื่อถึงกลางคืน หิวไม่เป็นเวลา คลื่นเหียน สลบ เซื่องซึม ท้องอืด ความสามารถในการทำงานและกิจกรรมต่าง ๆ ลดลง ซึ่งคนปกติอาจใช้เวลา 1-2 วันในการปรับตัว แต่บางคนใช้เวลามากกว่านั้น

 

ภาพ : Pixabay

 

อย่างไรก็ตามนาฬิกาที่อยู่ในร่างกายของเราไม่ได้เที่ยงตรงเสมอไป และ Circadian Rhythm เป็นเพียงจังหวะของการเปลี่ยนแปลงคร่าว ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นรอบๆ ดังนั้นหากคุณจะไว้ใจร่างกายของคุณว่าจะตื่นตอนแสงแรกของวันส่องผ่านหน้าต่างห้องนอนของคุณในทุกเช้า และนอนเมื่อตะวันลับขอบฟ้าในทุกวัน คุณก็คงต้องไม่ลืมว่า ช่วงเวลากลางวันและกลางคืนเปลี่ยนไปตามแต่ละฤดูกาล ฤดูร้อนมีช่วงเวลากลางวันที่ยาวกว่านานกว่าฤดูหนาว และในทางกลับกันฤดูหนาวก็มีช่วงเวลากลางคืนที่ยาวนานกว่า ดังนั้นมันจึงยังจำเป็นที่เราจะต้องใช้นาฬิกาหรืออุปกรณ์จับเวลาควบคู่ด้วย ไม่อย่างนั้นคุณคงพลาดนัดเดท ไปไม่ทันทำงาน หรือแม้แต่พลาดการดูหนังรอบดึกแน่ ๆ



ขอบคุณภาพปก : Pixabay

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 0 Followers
  • Follow