Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สร้างเด็กให้ฉลาดด้วยการฝึกประสาทสัมผัสทั้ง 7

Posted By Plook Parenting | 23 ม.ค. 60
14,165 Views

  Favorite

ระบบประสาทสัมผัส (Sensory Integration) เป็นกระบวนการทางระบบประสาทที่มีติดตัวเด็กมาตั้งแต่กำเนิด ซึ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาสมองของเด็กเป็นอย่างมาก โดยสมองของเด็กจะประมวลผลและประเมินสิ่งที่ร่างกายได้รับเข้ามาผ่านทางประสาทสัมผัสทั้ง 7 ด้าน ส่งผลให้เด็กเกิดการจดจำ เรียนรู้ และวางแผนจัดการได้อย่างรวดเร็วและเป็นระบบ

 

การฝึกให้เด็กได้ใช้ประสาททั้ง 7 อย่างเหมาะสม ควรทำตั้งแต่แรกเกิดถึง 3 ปี เพราะเป็นช่วงเวลาทองของสมองเด็ก ที่จะมีพัฒนาการการเรียนรู้ และการเชื่อมโยงของ
ใยประสาท หรือการสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาทที่ดีที่สุด โดยใยประสาทที่ถูกส่งเสริมจะพัฒนาและคงอยู่ต่อไป ส่วนใยประสาทที่ไม่ได้รับการกระตุ้นหรือใช้งานก็จะหายไปเมื่อเข้าสู่ช่วงวัย 6 - 10 ปี ซึ่งอาจส่งผลให้ลูกมีความบกพร่องในระบบประสาทสัมผัสด้านใดด้านหนึ่ง เช่น มีอุปสรรคในการเล่น การทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือการดำเนินกิจวัตรประจำวัน เช่น กลัวเมื่อต้องมีการเคลื่อนไหว มีความยากลำบากในการใช้มือ ไม่สามารถกะแรงที่ต้องใช้ในกิจกรรมได้อย่างเหมาะสม มีความยากลำบากในการปรับตัวเข้ากับคนแปลกหน้า เปลี่ยนแปลงยาก ซึ่งอาจนำไปสู่พฤติกรรมแยกตัว ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยส่งเสริมให้ลูกฝึกฝนประสาทสัมผัสทุกด้านผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่เขาชื่นชอบ เพื่อกระตุ้นสมองให้เกิดการพัฒนาความสามารถที่สูงขึ้นและมีการแสดงออกของพฤติกรรมที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้อย่างเหมาะสม

 

ภาพ ShutterStock

 

วิธีการ

1. การสัมผัส

สามารถฝึกประสาทสัมผัสด้านนี้โดยการ ให้เด็กฝึกหยิบจับวัตถุต่าง ๆ ที่มีรูปทรงแตกต่างกัน อย่างการเล่นปั้นดินน้ำมัน ทราย หรือให้ลูกได้ลองจับวัสดุที่มีพื้นผิวต่างกัน ซึ่งนอกจากจะเป็นการพัฒนาประสาทสัมผัสได้ดีมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างกล้ามเนื้อมัดเล็กอีกด้วย

 

2. การมองเห็น

เช่น การอ่าน การเขียน การนับจำนวน การกะระยะ การแยกแยะความชัด มัว สว่าง แสง และสีต่าง ๆ คุณพ่อคุณแม่อาจลองฝึกด้วยการเล่นเกมฝึกสายตา อาทิ เล่นเกมหาภาพที่ซ่อนอยู่ใต้ภาพ หรือจับคู่ภาพหรือสิ่งของ รวมถึงการฝึกการวาดรูประบายสี เพื่อสอนให้ลูกรู้จักแยกแยะความแตกต่างของสีสัน

 

3. การฟัง

สามารถฝึกได้โดยการให้ลูกได้ลองฟังเสียงต่าง ๆ รอบตัวแล้วจับคู่เสียงที่เหมือนกัน หรืออาจให้ลูกน้อยลองเดินและเคลื่อนไหวตามเสียงเคาะ จะช่วยทำให้ลูกสามารถรับรู้และจำแนกเสียงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวได้

 

4. การรับรส

สามารถฝึกให้ลูกได้เรียนรู้รสชาติต่าง ๆ โดยให้ลองชิมอาหารรสชาติต่าง ๆ กัน เช่น รส หวาน เค็ม เปรี้ยว ขม ลูกจะได้รู้ว่ารสชาติต่าง ๆ ส่งผลต่อความรู้สึกอย่างไร และยังช่วยให้ลูกได้เรียนรู้ถึงสิ่งที่เป็นพิษที่อาจเป็นอันตรายหากกินเข้าไปอีกด้วย

 

5. การรับรู้กลิ่น

การฝึกฝนประสาทรับรู้กลิ่นของลูก อาจให้ลูกลองดมกลิ่นต่าง ๆ ทั้งหอมและเหม็นเพื่อให้ลูกได้รู้จักแยกแยะความแตกต่าง หรืออาจจะเล่นเกมปิดตาดมกลิ่นต่าง ๆ แล้วให้ลูกลองทายดูว่าเป็นกลิ่นอะไร

 

6. การทรงตัว

คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกฝนทักษะด้านนี้ให้แก่ลูกได้ โดยผ่านกิจกรรมการเคลื่อนไหวในทิศทางต่าง ๆ เช่น การกระโดด การนอนกลิ้ง เล่นวิ่งกระต่ายขาเดียว ยืนบนกระดานทรงตัว โดยจะช่วยประสานการเคลื่อนไหวของตาและศีรษะ ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการทรงตัว

 

7. การรับความรู้สึกที่กล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อ

คุณพ่อคุณแม่ต้องเปิดโอกาสให้ลูกได้เล่นปีนป่าย ห้อยโหน ล้มลุกคลุกคลาน เพื่อเรียนรู้ใช้กล้ามเนื้ออย่างอิสระ เพื่อช่วยให้ลูกได้รับรู้ถึงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย สามารถควบคุม วางแผนการเคลื่อนไหวอย่างราบรื่น ทราบถึงทิศทางและความเร็วของการเคลื่อนไหวของแขนขาได้ดี

 

หากเด็ก ๆ ได้รับการพัฒนาประสาทสัมผัสทั้ง 7 ด้าน อย่างเหมาะสมกับวัยแล้ว สมองจะสั่งการและตอบสนองออกมาในรูปของพฤติกรรมการเคลื่อนไหวและการแสดงความรู้สึก ซึ่งหากระบบประสาทรับรู้ทำงานได้ปกติและมีประสิทธิภาพดี สมองก็จะรับรู้และตอบสนองได้ดีเช่นกัน ส่งผลให้เด็กมีทักษะในการใช้ร่างกาย เคลื่อนไหว และแสดงอารมณ์ได้อย่างเหมาะสมและมั่นคง ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการเรียนรู้ และพัฒนาความสามารถในด้านต่าง ๆ เช่น มีสมาธิในการทำงาน มีความมั่นใจในตนเอง มีความมั่นคงทางอารมณ์ สามารถควบคุมตนเองได้ สามารถคิดเชิงนามธรรมและคิดแบบมีเหตุมีผลได้

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow