Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ชีวิตมหัศจรรย์ของไส้เดือน

Posted By Plook Creator | 20 ม.ค. 60
3,664 Views

  Favorite

เส้นสีชมพูอมแดงเส้นเล็ก ๆ ที่ดูนุ่มนิ่ม แต่ก็ขยะแขยง มันชอนไชอยู่ในดิน มีตั้งแต่เส้นเล็กๆบางๆเหมือนเส้นหมี่ จนอ้วนเหมือนหลอดกาแฟ บ้างก็สั้นบ้างก็ยาว พวกมันคือไส้เดือน สิ่งมีชีวิตน่าฉงนที่คนส่วนใหญ่มักตั้งแง่ในรูปลักษณ์ที่แปลกประหลาดกว่าสิ่งที่คุ้นตา ไม่มีขา ไม่มีแขน ด้านไหนหัว ด้านไหนหาง แยกได้ยาก ไม่มีเสียง แถมยังลื่น ๆ หนืด ๆ แต่มันมีประโยชน์และความสามารถที่ทุกคนยอมรับ โดยเฉพาะประโยชน์ของมันที่มีต่อผืนดิน ภาคการเกษตรกลับมามองและเพาะเลี้ยงอีกครั้ง

ภาพ : Shutter Stock
 

Earth worm ไส้เดือนดิน ไส้เดือน หรือรากดิน เป็นสัตว์ ไม่มีกระดูกสันหลัง และก็ไม่มีเปลือกแข็งหุ้มภายนอก ดังนั้นแม้มันจะชื่อว่า worm แต่มันก็ไม่ได้กลายร่างเป็นดักแด้หรือแปลงร่างเป็นผีเสื้อหรือแมลงมีปีกอื่น ๆ มันอุทิศทั้งชีวิตของมันอยู่แต่ในดิน และที่เรียกว่าไส้เดือนดินก็เพราะว่ามันยังมีญาติอยู่ในน้ำ ในทะเลอีก อย่างเช่น Tubifex ซึ่งคุ้นตาในหมู่นักเพาะเลี้ยงปลา เพราะว่าไส้เดือนน้ำเป็นอาหารสำหรับปลาและสัตว์น้ำจืดที่มีโปรตีนสูง นิยมใช้กันมานาน และ Sand worm ไส้เดือนทะเล หรือเพรียงทรายก็ถูกเพาะเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารสำหรับฟาร์มเลี้ยงกุ้งเช่นกัน รูปร่างของไส้เดือนชนิดต่าง ๆ โดยรวมแล้วล้วนแต่มีลักษณะเป็นทรงกระบอกยาว หัวและท้ายเรียวแหลมซึ่งเหมาะกับการเลื้อย หรือชอนไชไปในพื้นผิวต่าง ๆ และมีสสารจำพวกเมือกหุ้มอยู่เพื่อหล่อลื่น คงความชุ่มชื้นให้เหมาะสม อุปนิสัยหลักๆของสัตว์ในตระกูลนี้คือย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ ไส้เดือนดินจัดการอาหารในดิน ไส้เดือนน้ำก็หาอาหารในน้ำ ไส้เดือนทะเลก็กินอาหารอยู่ในทะเล และสิ่งที่เราได้จากการย่อยเหล่านี้ก็คือสารอาหารที่กลับคืนสู่ธรรมชาติในรูปแบบของมูลซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับสิ่งมีชีวิตตั้งต้นจำพวกพืชที่จะใช้ประโยชน์ต่อไป เป็นการหมุนเวียนของสารอาหารในห่วงโซ่นั่นเอง

 

ไส้เดือนดินมีความสามารถมากกว่าแปลเปลี่ยนซากพืชซากสัตว์เป็นสารอาหาร ความสามารถในการขุดและมุดของมันในดินทำให้มันเป็นผู้พรวนดินตามธรรมชาติ ทำให้ดินร่วนซุยและเพิ่มคุณสมบัติทางกายภาพของดิน ดังนั้นดินที่มีไส้เดือนดินอาศัยอยู่จึงมีลักษณะทางกายภาพและทางเคมีเหมาะสมต่อการเพาะปลูกอย่างมาก ดินไม่แข็งจนเกินไป อากาศสามารถ่ายเทได้ มีสารอาหารเพิ่มจากมูลไส้เดือน ปัจจุบันจึงมีการเพาะเลี้ยงไส้เดือนดินเพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้งานในพื้นที่ของตนกันอย่างกว้างขวาง แต่ที่ต้องระวังคือความเป็นจริงที่ว่าเรานำสัตว์เข้าไปใช้งานในแปลงเกษตร ดังนั้นการใช้สารเคมีต่างๆไม่ว่าจะปุ๋ยเคมี หรือเคมีกำจัดศัตรูพืชต่าง ๆ ล้วนส่งผลกระทบต่อชีวิตของไส้เดือนดิน มันจึงเหมาะกับการเกษตรแบบอินทรีย์มากกว่า และในปัจจุบันเราก็อยู่ในยุคที่ไส้เดือนดินไม่ได้จำเป็นต่อภาคเกษตรเพียงอย่างเดียว ยังมีการใช้ไส้เดือนดินในเขตเมืองด้วย เพราะไส้เดือนดินกินซากพืช สารสัตว์ ที่เป็นสารอินทรีย์ต่างๆ เศษอาหาร หรือส่วนที่เหลือจากกระบวนการประกอบอาหารซึ่งเป็นสารอินทรีย์ก็สามารถเป็นอาหารให้กับไส้เดือนได้ และการย่อยของไส้เดือนทำให้การกำจัดขยะมูลฝอยจำพวกเศษอาหารจากในเขตเมืองเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์

 

เพียงแค่เราเตรียมกะบะเพาะเลี้ยง มีเศษกระดาษเก่าขุยมะพร้าวหรือเศษใบไม้เพื่อเป็นที่อยู่ มีที่ฉีดน้ำเพื่อรักษาระดับความชื้น ไส้เดือนดินจำนวนหนึ่ง และแน่นอนว่าเศษอาหารที่คุณอาจจะเหลือค้างในแต่ละวัน เราก็จะสามารถเพาะเลี้ยงไส้เดือนดินในบ้านของคุณได้ มันใช้ที่เพียงเล็กน้อย ใช้เวลาในการดูแลต่อวันไม่มาก แม้ว่าอาจจะมีกลิ่นของขยะอยู่บ้าง แต่ก็คงไม่แย่จนเกินไป และเราก็จะสามารถเปลี่ยนขยะอินทรีย์ให้กลายเป็นปุ๋ยได้ เราจะได้ดินที่ร่วมและอุดมสมบูรณ์ขึ้น และแน่นอนว่ามันน่าสนุกไม่น้อยที่เราจะมีเพื่อนตัวเล็กๆไว้ค่อยให้สังเกตพฤติกรรม มันไม่ส่งเสียง และไม่หนีออกมาจากกระบะ ไม่วิ่งเล่นกัดสิ่งของหรือทำให้เลอะเทอะ ไส้เดือนดินอาจจะกลายเป็นสัตว์เลี้ยงเศรษฐกิจในฝันของใครหลายๆคนก็เป็นได้

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 0 Followers
  • Follow