Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

จัดการอย่างไรเมื่อลูกชอบทำร้ายตัวเอง

Posted By Plook Parenting | 17 ม.ค. 60
14,051 Views

  Favorite

ปัญหาเด็กชอบทำร้ายตัวเอง เช่น ชอบดึงผม โขกหัวตัวเองกับพื้น ฝาผนัง หรือกับเก้าอี้ หรือตีและกัดตัวเอง เป็นพฤติกรรมที่พบได้บ่อยในเด็กอายุระหว่าง 1-3 ขวบ เป็นการแสดงออกทางด้านอารมณ์ที่มีหลายสาเหตุด้วยกัน

 

หากลูกยังเล็กมากและทำพฤติกรรมเหล่านี้ ลูกอาจจะกำลังทดลองสำรวจว่าสิ่งรอบตัว ให้สัมผัสกับอวัยวะของร่างกาย เป็นวิธีการเรียนรู้อย่างหนึ่ง บางคนก็ทำเพราะเห็นเป็นการเล่นสนุก ซึ่งเด็ก ๆ อาจมีพฤติกรรมดังกล่าวสักพักหนึ่งแล้วก็จะเลิกทำไปเอง แต่ถ้าหากเกิดพฤติกรรมดังกล่าวในเด็กตั้งแต่ วัย 3 ขวบขึ้นไป อาจเป็นผลมาจากการรับความรู้สึกในระบบต่าง ๆ ของประสาทสัมผัสทั้ง 7 หรือ 7 Senses ไม่สมดุล คือ มีมากหรือน้อยเกินไปจนทำให้เด็กแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ซึ่งอาจมีสาเหตุดังนี้

  • การเรียกร้องความสนใจ
  • การระบายอารมณ์ที่ไม่พอใจ
  • ลงโทษตัวเอง เมื่อรู้สึกผิด
  • เด็กอาจมีความกังวลใจ กระวนกระวายที่บอกไม่ได้
  • ต้องการเอาชนะหรืออยากได้ อยากทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่ห้าม
  • มีความบกพร่องด้านการควบคุมอารมณ์ หรือเป็นเด็กพิเศษ

คุณพ่อคุณแม่ต้องทำความเข้าถึงสาเหตุของการเกิดพฤติกรรมก่อน แล้วพยายามปรับพฤติกรรมของลูก เพราะการทำร้ายร่างกายตัวเองนอกจากจะทำให้เด็กบาดเจ็บแล้ว พฤติกรรมการทำร้ายตนเองอาจจะมีเพิ่มขึ้นและรุนแรงขึ้น ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตเมื่อโตขึ้นได้

 

ภาพ : Shutterstock

 

วิธีการ

1. เข้าไปหยุดลูกทันทีเมื่อเห็นลูกกำลังจะทำร้ายตัวเอง

พร้อมกับตักเตือนด้วยน้ำเสียงจริงจัง เพื่อให้ลูกเข้าใจ “ทำอย่างนั้นไม่ได้นะลูก” ถ้าลูกไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ ให้ล็อคเขาไว้โดยการกอดเบา ๆ ไม่ให้เขาทำร้ายตัวเองได้จนกว่าจะสงบลง หรืออาจให้เขาไปนั่งสงบสติอารมณ์คนเดียวสักพัก

2. ไม่ควรใช้ความรุนแรงหยุดพฤติกรรมที่รุนแรง

คุณพ่อคุณแม่ควรใช้ความอ่อนโยนกับลูกให้มาก ๆ เมื่อลูกทำร้ายตัวเอง การดุด่าหรือลงโทษให้ลูกหวาดกลัว จะยิ่งไปส่งเสริมการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวให้เด็กมากขึ้น

3. ไม่ควรให้ลูกดูรายการโทรทัศน์ที่มีความรุนแรง

ตัวอย่างจากในโทรทัศน์ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของความก้าวร้าวและการใช้ความรุนแรง คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกรายการให้เหมาะสมกับลูกเพื่อเป็นการป้องกันอีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน

4. พูดคุยด้วยเหตุผล

หากลูกชอบตีตัวเองเวลาทำผิด คุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจเรื่องทำผิดกับการทำโทษใหม่ โดยอธิบายให้ลูกเข้าใจว่า ”ทุกคนสารถทำผิดพลาดได้” ซึ่งไม่จำเป็นต้องถูกลงโทษด้วยความรุนแรงเสมอไป เน้นย้ำไม่ให้ลูกทำร้ายตัวเอง โดยบอกลูกด้วยน้ำเสียงและท่าทีเอาจริงว่า “ไม่ว่าลูกจะทำอะไรผิด พ่อแม่ไม่อนุญาตให้ลูกทำร้ายตัวเองเด็ดขาด”

5. ใส่ใจพฤติกรรมของลูกเสมอ

หากลูกไม่เคยมีพฤติกรรมทำร้ายตัวเองมาก่อน แต่กลับมีพฤติกรรมทำร้ายตัวเองขึ้นมา ถือเป็นสิ่งผิดปกติ คุณพ่อคุณแม่ต้องรีบตรวจสอบถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น ด้วยการสอบถามพูดคุยกับลูก โดยไม่กดดันและไม่ทำให้ลูกเครียดจนเกินไป เพราะบางครั้งเหตุการณ์ที่ลูกพบเจอมาอาจเป็นสิ่งที่เขาไม่สามารถอธิบายเป็นคำพูดได้ ซึ่งหากคุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัด ควรพาลูกไปพบจิตแพทย์ รวมทั้งนักกิจกรรมบำบัด เพื่อทำการประเมิน หาสาเหตุ รวมทั้งให้คำแนะนำในการจัดการพฤติกรรมดังกล่าวที่เหมาะสมต่อไป

6. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

หากคุณพ่อคุณแม่ทำทุกวิธีแล้ว แต่พฤติกรรมทำร้ายตัวเองของลูกรุนแรงมากขึ้น ควรจะปรึกษาจิตแพทย์เด็ก เพราะลูกอาจมีภาวะออติสติก หรือเป็นโรคทางระบบประสาทได้ หากไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายได้มากขึ้น

 

ก่อนที่จะไปพบผู้เชี่ยวชาญ วิธีการเยียวยาลูกที่ดีที่สุด คือการที่คุณพ่อคุณแม่มีความเข้าใจและอดทนกับลูก พร้อมที่จะช่วยลดความขับข้องใจและความรู้สึกกระวนกระวายของลูก โดยการพยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่ลูกต้องการสื่อออกมาทั้งจากคำพูด ท่าทาง ภาษากาย ซึ่งความใกล้ชิดและความใส่ใจของคุณพ่อคุณแม่จะช่วยให้ลูกลดอาการเหล่านี้ลงได้   

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow