Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เลี้ยงลูกเชิงบวก

Posted By ฉันทิดา สนิทนราทร | 17 ม.ค. 60
8,660 Views

  Favorite

จากเรื่อง รักลูกอย่าตีลูก เราจะเห็นได้ว่า การตีลูกนั้นส่งผลเสียต่อลูกเป็นอย่างมากทั้งต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจ ดังนั้นแทนที่เราจะอบรมลูกด้วยการตี เราเปลี่ยนมาใช้วิธีการเลี้ยงลูกเชิงบวกกันดีกว่าค่ะ เพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่า คุ้มค่ากว่า และมีประโยชน์ต่อลูกอย่างมหาศาล

 
มีวิธีดี ๆ ให้เลือกใช้หลายวิธี สามารถนำไปปรับใช้ได้ตามความเหมาะสมนะคะ
 
ภาพ : Shutterstock

 

1. สงบสติอารมณ์ของเราก่อน

เวลาที่เราโกรธ เรามักขาดสติ ทำให้หลุดตีลูกได้ง่าย ดังนั้นเมื่อเรารู้สึกโกรธจนถึงขั้นอยากจะตีลูก ถ้าเป็นไปได้ให้เราเดินออกมาจากสถานการณ์นั้นๆ ก่อน แล้วอยู่เงียบๆ จัดการกับความโกรธของเรา สงบสติอารมณ์ของเราก่อน เมื่อเราสงบลงแล้ว เราจะมองเห็นหนทางในการจัดการกับปัญหาได้ดีขึ้น แต่ถ้าเราเดินออกมาจากสถานการณ์มาไม่ได้จริงๆ ให้เราหายใจเข้า-ออกอย่างช้าๆ ลึกๆ นับ 1-10 ในใจ และบอกตัวเองว่าให้ใจเย็นๆ นะคะ

2. ให้เวลากับตนเอง

การเลี้ยงลูกต้องใช้พลังงานมาก การเติมพลังให้ตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อดูแลลูกแล้วอย่าลืมดูแลตนเอง หาเวลาให้กับตนเองด้วยนะคะ การใช้เวลาทำสิ่งที่เราชอบ จะช่วยให้ผ่อนคลายได้มาก เช่น ออกไปเดินเล่นให้สดชื่น ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ ฯลฯ การให้เวลากับตนเองจะช่วยเติมพลังให้เรามีแรงดูแลเลี้ยงลูกเชิงบวกได้ดีขึ้น เมื่อพ่อแม่มีความสุข ก็จะเลี้ยงลูกได้อย่างมีความสุขด้วยค่ะ

3. นุ่มนวลแต่จริงจัง  

ปฏิบัติต่อลูกอย่างนุ่มนวลอ่อนโยนแต่ก็ยืนหยัดจริงจังในสิ่งที่ลูกต้องทำ เช่น เมื่อลูกโกรธและไปตีน้อง ให้เรานั่งอยู่ในระดับสายตาเดียวกับลูก มองหน้าสบตา สัมผัสลูกอย่างนุ่มนวลแล้วบอกกับลูกว่า “แม่เข้าใจว่าหนูกำลังโกรธ (พูดสะท้อนความรู้สึกเพื่อให้ลูกเข้าใจตนเองได้ดีขึ้น) เป็นแม่ก็คงโกรธเหมือนกัน แต่ถึงยังไงหนูก็ไปตีน้องไม่ได้นะคะ” การใช้วิธีนุ่มนวลแต่จริงจังนี้ ควรทำอย่างสม่ำเสมอจริงจังด้วยความรักและความอ่อนโยน ลูกจะซึมซับ รับฟัง และเข้าใจได้ดีกว่าการตำหนิหรือการตีอย่างแน่นอนค่ะ

 

ภาพ : Shutterstock

 

4. ให้ทางเลือก

เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูง และเป็นวิธีที่ลูกชอบด้วย เพราะการมีทางเลือกจะทำให้ลูกรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้ใหญ่ สามารถเลือกเอง ตัดสินใจเองได้ และรับรู้ได้ว่าความคิดเห็นของตนนั้นมีความสำคัญ เช่น การบอกกับลูกว่า “ตอนนี้เรามีเวลาพอที่จะเล่นได้อย่างเดียว หนูจะเลือกเล่นปั้นดินน้ำมัน หรือเล่นบ่อบอลดีคะ” จะช่วยทำให้ลูกได้ฝึกการตัดสินใจด้วยตนเองและให้ความร่วมมือในการทำสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น

5. บอกสิ่งที่ลูกต้องทำโดยไม่ใช้คำว่า “ไม่”

เพราะลูกมักไม่ค่อยสนใจคำว่า “ไม่” หรือ “อย่า” ลูกจึงมักทำตรงข้ามกับสิ่งที่เราบอกให้ทำ เช่น ถ้าเราบอกลูกว่า “ไม่วิ่ง อย่าวิ่ง” ลูกก็มักจะวิ่ง ดังนั้นแทนที่จะพูดว่า “ไม่วิ่ง” “ไม่ตะโกน” “ไม่แย่งของเพื่อน” ให้พูดว่า “เดินช้าๆ” “พูดค่อยๆ” “ขอของเล่นเพื่อนนะคะ” จะได้ผลมากกว่าค่ะ และเมื่อลูกทำตามที่เราบอก อย่าลืมชมลูกด้วยนะคะ ลูกจะได้ดีใจและมีกำลังใจอยากทำตามที่คุณพ่อคุณแม่บอกอีกค่ะ

6. บอกลูกล่วงหน้าถึงสิ่งที่ต้องทำ

เช่น แทนที่จะบอกให้ลูกเลิกเล่นในสนามเด็กเล่นและกลับบ้านทันที ให้เปลี่ยนเป็น ก่อนที่จะกลับบ้านสัก 5-10 นาที ให้บอกลูกล่วงหน้าว่าใกล้จะต้องกลับบ้านแล้ว ให้เล่นสไลเดอร์ได้อีก 5 ครั้ง (แล้วแต่ตกลงกัน) แล้วเราจะกลับบ้านกันนะ หรือวันนี้เราจะไปซื้อของกันนะ หนูจะซื้ออะไรก็ได้ ในราคาไม่เกิน 35 บาท การบอกลูกล่วงหน้าถึงสิ่งที่ต้องทำเช่นนี้ จะช่วยทำให้ลูกเกิดการเรียนรู้และให้ความร่วมมือในการทำตามข้อตกลงได้ดีมากยิ่งขึ้นค่ะ

 

ภาพ : Shutterstock

 

7. แสดงความรับผิดชอบเมื่อทำผิด

ความผิดพลาดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้น การให้ลูกได้แสดงความรับผิดชอบจะช่วยสอนให้ลูกรู้จักมีความรับผิดชอบในผลของการกระทำของตนเองได้ดีขึ้น เช่น เมื่อลูกทำของเสียหาย ควรให้ลูกได้ช่วยซ่อมแซมสิ่งของ หรือเมื่อลูกทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บโดยไม่ตั้งใจ ลูกควรกล่าวคำขอโทษและปลอบโยนให้คนๆ นั้นรู้สึกดีขึ้น ลูกจะได้เกิดความเข้าใจการกระทำกับผลของการกระทำของตนได้ถูกต้องสอดคล้องกันมากยิ่งขึ้น และเรียนรู้ที่จะไม่ทำผิดอีกด้วยค่ะ

8. ฟังลูกให้มากขึ้น

แทนที่จะตำหนิ หรือตัดสินถูกผิด เราน่าจะฟังลูกให้มากขึ้น เพราะในบางครั้งเราอาจไม่เข้าใจหรือรู้เรื่องของลูกทั้งหมด เช่น การที่ลูกตีเพื่อนที่โรงเรียน อาจเป็นเพราะลูกถูกเพื่อนมาตีก่อน การรับฟังลูกด้วยใจเปิดกว้างจะช่วยทำให้เราเข้าใจลูก เข้าใจเหตุผลในแง่มุมของลูกได้ดีขึ้น ลูกก็ดีใจที่มีคนรับฟัง มีคนเข้าใจด้วยค่ะ

9. ให้ลูกช่วยคิดหาทางแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์

เด็กๆ นั้นมีความคิดสร้างสรรค์มากทีเดียว การเปิดโอกาสให้ลูกได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการหาทางแก้ปัญหา จะช่วยทำให้ลูกให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาได้ดีขึ้น เช่น ถ้าลูกมีปัญหาเรื่องการตื่นสาย ลองฝึกให้ลูกช่วยคิดว่าจะทำอย่างไรดี ลูกจึงจะตื่นได้เช้าขึ้น การให้ลูกฝึกคิดแก้ปัญหาของตนเองนี้เป็นการแสดงความนับถือ เชื่อมั่นในความสามารถของลูก และยังช่วยฝึกให้ลูกมีความรับผิดชอบต่อตนเองได้เป็นอย่างดีอีกด้วยค่ะ

 

ภาพ : Shutterstock

 

10. สอนวิธีการผ่อนคลายให้แก่ลูก

บางทีเวลาที่ลูกโกรธ ลูกก็ไม่รู้วิธีว่าจะจัดการกับความโกรธอย่างไรดี และอาจแสดงพฤติกรรมรุนแรงได้ การสอนวิธีการผ่อนคลายให้ลูก จึงช่วยให้ลูกจัดการกับความโกรธของตนเองได้ดีขึ้น เช่น บอกลูกว่าเวลาโกรธให้เดินออกมาจากสถานการณ์นั้นๆ ถ้าเดินออกมาไม่ได้ ให้หายใจเข้าออกลึกๆ เพื่อสงบสติอารมณ์ เป็นต้น และเวลาสอนลูก ไม่ควรสอนตอนที่ลูกกำลังโกรธ แต่ควรให้เวลาลูก รอให้ลูกค่อยๆ สงบสติอารมณ์ลงก่อนแล้วจึงค่อยพูดคุยกันนะคะ

11. เล่นกับลูกเยอะๆ

เป็นความจริงที่ว่า ยิ่งลูกดื้อ การให้เวลากับลูก เล่นกับลูกเยอะๆ จะช่วยลดความดื้อของลูกได้อย่างยอดเยี่ยม เพราะการเล่นกับลูกในบรรยากาศที่อบอุ่นสนุกสนาน เต็มไปด้วยความรัก จะช่วยเสริมสร้างสายสัมพันธ์อันเข้มแข็งระหว่างเรากับลูก เมื่อมีความสัมพันธ์ทีดีต่อกันเป็นบวกบวก พฤติกรรมของลูกก็จะเป็นบวกบวก ส่งผลให้ลูกรับฟัง เชื่อฟังคุณพ่อคุณแม่ได้ดีขึ้นมากเลยค่ะ

 

การเลี้ยงลูกเชิงบวกเหล่านี้เป็นการให้ความรักบวกกับการฝึกระเบียบวินัยที่ช่วยแก้ปัญหาลูกดื้อได้อย่างยอดเยี่ยม โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรงเลยค่ะ เพราะความสงบสุขเริ่มต้นที่บ้าน เมื่อในบ้านมีบรรยากาศเชิงบวกที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักความอบอุ่น มีระเบียบวินัย ความนับถือและความรับผิดชอบ ลูกก็จะได้เห็นตัวอย่างที่ดี ได้เรียนรู้และเข้าใจ ส่งผลให้ลูกมีความสุขและมีความแข็งแรงทางจิตใจ เป็นผลลัพธ์ที่คุ้มค่า และได้กำไรหลายเท่าตัวจริงๆ ค่ะ

 

 

 

ครูแป๋ม ฉันทิดา สนิทนราทร เวชมงคลกร

นักเล่นบำบัด & นักจิตวิทยาพัฒนาการ

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ฉันทิดา สนิทนราทร
  • 0 Followers
  • Follow