Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

คุณค่ามหาศาลจากการเล่นสมมุติ

Posted By ฉันทิดา สนิทนราทร | 17 ม.ค. 60
3,919 Views

  Favorite

ช่วงนี้ครูแป๋มกำลังทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง การเสริมสร้างทักษะสมอง (Executive Functions หรือ EFs) ให้แก่เด็กเล็ก ซึ่งจากการศึกษางานวิจัยต่าง ๆ พบว่า EFs เป็นเรื่องที่จำเป็นและมีความสำคัญต่อการพัฒนาความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมของเด็ก ๆ มากทีเดียวค่ะ

 

ครูแป๋มจึงอยากนำเสนอการเล่นที่ช่วยพัฒนาทักษะสมอง EFs ของเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดี และยังเป็นการเล่นที่เด็กชื่นชอบ และสนุกมาก ๆ อีกด้วย นั่นก็คือ การเล่นสมมุติค่ะ

 

ภาพ : Shutterstock

 

อุปกรณ์ที่ใช้ในการเล่น

ควรหลีกเลี่ยงการใช้ของเล่นสำเร็จรูป แต่ใช้สิ่งของที่มีอยู่แล้ว หาได้ง่าย ราคาไม่แพง เช่น สำลีสำหรับเล่นสมมุติเป็นอุปกรณ์คุณหมอ ฝาขวดน้ำไว้เล่นสมมุติเป็นเงิน ทรายสมมุติเป็นผงกาแฟ เป็นต้น เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้ฝึกคิดนอกกรอบโดยการใช้ความคิดที่ยืดหยุ่น หลากหลาย ไม่ยึดติดกับการคิดในรูปแบบเดิม ๆ หรือหากเราจะชักชวนให้เด็กลองฝึกทำของเล่นเองจากวัสดุเหลือใช้ก็ยิ่งดีเลยค่ะ

วิธีเล่นแสนสนุก

1. ก่อนเริ่มเล่น ชวนให้เด็กคิดก่อนว่าอยากเล่นเป็นใคร อยู่ที่ไหน กำลังทำอะไร เช่น เด็กอาจจะบอกว่า “หนูจะเล่นเป็นคุณหมอที่โรงพยาบาล กำลังจะฉีดยาให้คุณพ่อนะคะ” เราก็ควรปล่อยให้เด็กเป็นผู้นำในการเล่น เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้ฝึกการคิดเอง ตัดสินใจด้วยตนเอง รวมทั้งได้ฝึกการคิดก่อนทำ และการวางแผนอีกด้วยค่ะ (กรณีเด็กมีพี่น้อง หรือมีเพื่อนแถวบ้าน ชวนให้มาเล่นสมมุติด้วยกันก็ยิ่งสนุกค่ะ)

2. หลังจากสรุปได้แล้ว ก็เริ่มเล่นตามที่เด็กวางแผนได้เลยค่ะ ขณะที่เราเล่นกับเด็กนั้น เรื่องราวการเล่นจะดำเนินไปอย่างไร ก็ปล่อยให้เด็กเป็นผู้นำในการเล่นเหมือนเดิมนะคะ เราจะพบว่าเด็กๆ นั้นมีจินตนาการกว้างไกลอย่างไม่สิ้นสุดจริงๆ ค่ะ

3. เมื่อเล่นจบแล้ว อาจชวนเด็กคุยถึงสิ่งที่เล่นไป ว่าเป็นอย่างไรบ้าง สนุกไหม รู้สึกอย่างไร ชอบไม่ชอบอะไรบ้าง เด็ก ๆ จะได้ฝึกคิดทบทวนและประเมินสิ่งที่ทำ เพื่อนำไปใช้ในการเล่นครั้งต่อ ๆ ไปด้วยค่ะ

 

ภาพ : Shutterstock

 

ประโยชน์ที่ได้รับ

1. เด็กได้ฝึกการยับยั้ง (Inhibitory Control) ในการควบคุมความคิดและการกระทำของตนให้เหมาะสมสอดคล้องกับกฎและบทบาทที่ได้รับ เช่น เล่นเป็นคุณหมอก็ต้องถามอาการ ดูแลรักษาคนป่วย เป็นต้น ซึ่งการเล่นเช่นนี้จะช่วยส่งเสริมการคิดขั้นสูงในเด็กเล็กได้เป็นอย่างดี รวมทั้งได้ฝึกการคิดก่อนทำ การจดจ่อ ไม่วอกแวก และมีสมาธิกับสิ่งที่กำลังทำอีกด้วยค่ะ

2. ได้บริหารความจำขณะทำงาน (Working Memory) คือ คิด วางแผนก่อนว่าจะเล่นอย่างไร แล้วจดจำแผนการไว้ในใจ แล้วจึงค่อยดึงข้อมูลที่จำไว้แสดงออกมาผ่านการเล่นสมมุติ ซึ่งจะช่วยบริหารความคิด ความจำของเด็กได้อย่างดีเยี่ยม

3. เด็กได้พัฒนาความยืดหยุ่นทางการคิด (Cognitive Flexibility) ได้ฝึกการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การคิดนอกกรอบ มีความคิดที่หลากหลาย สามารถปรับเปลี่ยนความคิดและการกระทำได้อย่างยืดหยุ่น เข้าใจเห็นใจผู้อื่นได้มากขึ้น ตลอดจนได้พัฒนาทักษะทางภาษา การสื่อสาร และการแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ดีจากการเล่นสมมุติอีกด้วยค่ะ

 

จะเห็นได้ว่า การเล่นสมมุตินั้นมีคุณค่ามหาศาลต่อพัฒนาการในด้านต่างๆ ของเด็ก และยังช่วยฝึกพัฒนาทักษะสมอง EFs ของเด็กได้อย่างยอดเยี่ยม ซึ่งทักษะสมอง EFs นี้เป็นสิ่งที่เด็กจำเป็นต้องมี และมีความสำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จในชีวิตทุกด้านของเด็กเลยทีเดียวค่ะ ดังนั้นเมื่ออ่านจบแล้ว อย่ารอช้า เรามาชวนเด็ก ๆ เล่นสมมติกันนะคะ 

 

 

ครูแป๋ม ฉันทิดา สนิทนราทร เวชมงคลกร

นักจิตวิทยาพัฒนาการ & นักเล่นบำบัด

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ฉันทิดา สนิทนราทร
  • 0 Followers
  • Follow