Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

คาถาหัวใจเศรษฐี

Posted By มหัทธโน | 26 ธ.ค. 57
73,317 Views

  Favorite

 

คาถาหัวใจเศรษฐี

ทิฏฐธัมมิกัตถสังวิตตนิกธรรม ๔

(ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในปัจจุบัน หลักธรรมอันอำนวยประโยชน์สุขขั้นต้น)

 



เป็นหลักธรรมในพุทธศาสนา คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน 4 อย่าง บ้างเรียกว่า หัวใจเศรษฐี "อุ อา กะ สะ" อาจเรียกสั้น ๆ ว่า ทิฏฐธัมมิกัตถะ

หมายถึง ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในปัจจุบัน หลักธรรมอันอำนวยประโยชน์สุขขั้นต้น เพื่อประโยชน์สุขสามัญที่มองเห็นกันในชาตินี้ ที่คนทั่วไปปรารถนา มี ทรัพย์ ยศ เกียรติ ไมตรี เป็นต้น อันจะสำเร็จด้วยธรรม 4 ประการ พูดง่าย ๆ ว่า เป็นข้อปฏิบัติสำคัญที่ทำให้เกิดผล คือ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทำให้มีทรัพย์สินเงินทอง พึ่งตนเองได้ เรียกว่าธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ปัจจุบัน

เรียกว่า เคล็ดลับความไม่จนคือ  จะต้องปฏิบัติตามหลักธรรม 4 ประการ หรือ เรียกว่า  หัวใจเศรษฐี

 

ภาพ : เพจธรรมะพระป่ากรรมฐาน สายหลวงปู่มั่น

 

อุ  อา  กะ  สะ โดยจะต้องประพฤติดีปฏิบัติชอบ  ดังต่อไปนี้


อุ   มาจากคำว่า  อุฏฐานสัมปทา 

คือ พร้อมด้วยความขยัน หมั่นเพียร ในการประกอบสัมมาอาชีพ  หรือจำง่ายๆว่า  ขยันหา
 

อา  มาจากคำว่า  อารักขสัมปทา 

คือ  การเก็บรักษาทรัพย์สินที่ได้มา  โดยชอบธรรม หรือจำง่ายๆว่า    ขยันเก็บ


กะ  มาจากคำว่า  กัลยาณมิตตา 

คือ  การคบหาสมาคมกับคนดี มีคุณธรรม มีน้ำใจและเป็นเพื่อนที่ไมาพาไปผลาญทรัพย์ หรือจำง่ายๆว่า  เลือกคบ


สะ   มาจากคำว่า  สมชีวิตา    

คือ  การใช้จ่ายอย่างประหยัดพอเพียง ใช้ชีวิตสมถะ  ไม่ฟุ่มเฟือย หรือจำง่ายๆว่า เลือกใช้

 

 

การจะมีชีวิตสมบูรณ์นั่นคือ เราจะต้องทำถาคาที่ว่า “อุ อา กะ สะ”  นั้นให้เจริญเป็นนิตย์ ดังนี้

อุฏฐานสัมปทา

บาลีเป็น “อุฏฺฐานสมฺปทา” อ่านว่า “อุด-ถา-นะ-สำ-ปะ-ทา” แปลว่า “ความถึงพร้อมด้วยความหมั่น” 
เป็นธรรมะที่มุ่งสอนให้คนมีความขยันหมั่นเพียร ในการประกอบอาชีพการงานที่ สุจริต แสวงหาทรัพย์สมบัติในทางที่ชอบประกอบด้วยธรรม ไม่ผิดศีลธรรม ไม่ผิดกฎหมาย ไม่เกียจคร้าน หนักก็เอาเบาก็สู้ ตลอดถึงการหมั่นศึกษาหาความรู้ที่เกี่ยวข้องกับอาชีพการงานของตนเองอยู่สม่ำเสมอ เพื่อให้มีความชำนิชำนาญในกิจการงานที่ทำมากขึ้น อันจะเป็นผลให้ได้รับความเจริญก้าวหน้าในงานนั้น ๆ เช่น ได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้น ได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น เป็นต้น

 

อารักขสัมปทา 

บาลีเป็น “อารกฺขสมฺปทา” อ่านว่า “อา-รัก-ขะ-สำ-ปะ-ทา” แปลว่า “ความถึงพร้อมด้วยการรักษา” 
คือเมื่อมีความขยันหมั่นเพียรแสวงหาทรัพย์มาได้โดยทางที่สุจริตแล้ว ก็ต้องรู้จักรักษาทรัพย์สินที่หามาได้นั้นให้คงอยู่ ไม่ให้สูญหาย ไม่ให้เสียหาย เช่น การนำเงินไปฝากธนาคาร เป็นต้น แต่คำว่า “รักษา” ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงแค่การเก็บรักษาทรัพย์สินเท่านั้น ยังมุ่งหมายถึงการหลีกเว้นจาก อบายมุข ทั้ง หลายอันจะเป็นทางให้เสื่อมทรัพย์ เช่น เว้นจากสุรายาเมายาเสพติดทั้งหลาย เว้นจากการพนันทุกชนิด เป็นต้น อันจะเป็นทางให้เสียทรัพย์ ลองคิดดูดี ๆ ว่า เราทำงานหาเงินมาด้วยความเหนื่อยยากลำบาก สมควรหรือไม่ที่จะผลาญทรัพย์ให้หมดไปกับอบายมุขทั้งหลาย
 

กัลยาณมิตตตา 
บาลีเป็น “กลฺยาณมิตฺตตา” อ่านว่า “กัน-ละ-ยา-นะ-มิต-ตะ-ตา” แปลว่า “ความเป็นผู้มีมิตรที่ดี” 
หมายถึงการเลือกคบคน ให้รู้รักเลือกคบแต่คนที่ดีมีศีลธรรม เพราะคนที่ดีมีศีลธรรมนั้นย่อมจะสามารถแนะนำเราในทางที่ดีที่ถูกที่ควร ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ ช่วยเหลือเราได้เมื่อถึงคราคับขัน ส่วนปาปมิตรหรือมิตรที่ไม่ดีนั้นย่อมจะชักนำเราไปในทางที่ไม่ดี ชักชวนให้ทำในสิ่งที่ผิดศีลธรรมผิดกฎหมายบ้านเมือง เช่น ชักชวนให้เป็นคนลักเล็กขโมยน้อย ชักชวนให้กินเหล้าเมาสุรา ชักชวนให้ไปเที่ยวสถานบันเทิงต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอบายมุขทั้งนั้น เรื่องการเลือกคบคนนี่สำคัญมาก ทุกวันนี้คนเราไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย เสียคนเพราะเพื่อนหรือเสียคนเพราะคนรักนี่เยอะแยะมากมาย เช่น บางคนไม่เคยกินเหล้าเลย แต่คบเพื่อนไม่ดี เพื่อนชวนกินก็ต้องกิน เพราะถ้าไม่กินเดี๋ยวเพื่อนจะล้อว่าเชย หรือเพื่อนจะไม่คบ หรือยิ่งไปกว่านั้นก็อาจจะถูกเพื่อนชวนเสพยาเสพติดบ้าง ไปทำอะไรอย่างอื่นที่ผิดศีลผิดธรรมผิดกฎหมายบ้านเมืองบ้าง ซึ่งเป็นเหตุให้เสียทรัพย์ในเบื้องต้น หนักเข้าก็เสียคน หรืออาจจะเสียถึงชีวิตไปเลยก็ได้ เพราะเหตุดังว่ามานั้น ท่านจึงสอนให้เลือกคบแต่คนดี ให้เลือกคบแต่มิตรที่ดี

           

สมชีวิตา 
บาลีก็เขียนเหมือนกัน อ่านว่า “สะ-มะ-ชี-วิ-ตา” แปลว่า “ความเป็นผู้ดำรงชีพดี” หรือ “ความเป็นผู้ดำรงชีพสมควร”
ข้อนี้สอนให้รู้จักใช้ชีวิตตามความเหมาะสม คือสมควรแก่ฐานะ ไม่ว่าจะมีทรัพย์สินเงินทองมากหรือน้อย ไม่ว่าจะมีฐานะยากจนหรือร่ำรวย การจับจ่ายใช้สอยก็ให้เป็นไปตามสมควร การใช้จ่ายทรัพย์เพื่อดำรงชีวิตก็ให้เป็นไปตามความเหมาะสม ไม่ใช้จ่ายเกินตัว ไม่สุรุ่ยสุร่าย ไม่ก่อหนี้สิน โดยสรุปก็คือให้รู้จักประมาณในการใช้จ่ายทรัพย์เพื่อดำรงชีพตามสมควรแก่ฐานะ ของตนเอง

 

สรุปง่าย ๆ คือ

1 ขยัน
2 ประหยัด อดออม
3 คบเพื่อนดี คนดี
4 พอเพียง เรียบง่าย



ผู้ใดปฏิบัติตามธรรมะข้อนี้อย่างถูกต้อง เคร่งครัด และสม่ำเสมอ ถึงไม่รวยฟู่ฟ่าก็รับรองได้ว่า “ไม่จน”

 ----------------------------------------------------------------------------------------

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • มหัทธโน
  • 4 Followers
  • Follow