Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ปัญหาทุกอย่างแก้ได้ด้วยหลักอริยสัจสี่

Posted By มหัทธโน | 25 เม.ย. 54
31,640 Views

  Favorite

 

ปัญหาทุกอย่าง แก้ได้ด้วยหลักอริยสัจสี่

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ หรือเล็กมากอย่างเรื่องขี้ผง ก็สามารถแก้ไขได้ง่ายๆ ด้วยหลัก "อริยสัจ 4" ตามศาสนาพุทธ

โดย...วรธาร ทัดแก้ว

 

พูดถึง "ทุกข์" ในทางพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นของจริงที่มนุษย์ในสากลโลกต้องประสบพบ ตามคติธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาแสดงไว้ว่า แม้การเกิดก็เป็นทุกข์ ดังคำว่า ชาติปิ ทุกขา กล่าวคือ มนุษย์ทุกคนหอบทุกข์มาตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนกระทั่งออกจากครรภ์ของมารดา ฝ่ายมารดาผู้ให้กำเนิดก็ทุกข์ไม่แพ้ ไหนทุกข์ที่ต้องคอยระวังไม่ให้ลูกที่อยู่ในครรภ์ได้รับอันตรายจากแรงกระแทก ภายนอก หรือจากการกระทำของคุณแม่เอง เช่น การรับประทานอาหารที่มีรสเผ็ดที่อาจไปกระทบลูกในครรภ์ หรือทุกข์ที่เกิดจากการเลี้ยงดู เช่น ลูก ไม่สบาย รับประทานอาหารไม่ได้ หรือลูกเกเร คบเพื่อนไม่ดี เป็นต้น ซึ่งลักษณะเหล่านี้ก็สร้างความทุกข์ให้มารดาไม่น้อย

เมื่อทุกข์เกิดขึ้นจะปฏิบัติต่อทุกข์อย่างไร ในพระพุทธศาสนาสอนว่าจะต้องรู้เท่าทันทุกข์ กล่าวคือ ต้องกำหนดรู้ทุกข์ด้วยปัญญาของตน ตามความเป็นจริง นั่นคือ ทุกข์ก็ให้รู้ว่าทุกข์ จากนั้นให้พิจารณาหาเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดทุกข์ที่เรียกว่า สมุทัย ว่าเกิดมาจากอะไร เมื่อทราบสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์อันแท้จริงว่ามาจากอะไร ก็ต้องทำการดับทุกข์ที่เรียกว่า นิโรธ ด้วยการหาทางหรือวิธีที่ถูกต้องเหมาะสมในการที่จะทำให้พ้นไปจากทุกข์ ซึ่งเรียกว่า มรรค ต่อไป

นี่คือหลักอริยสัจ 4 ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เครื่องมือสำคัญที่จะทำให้มนุษย์สามารถพ้นทุกข์ได้และพ้นได้อย่างยั่งยืน มิเพียงเท่านี้


หลักอริยสัจ 4 ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารงานในองค์กรทั้งของรัฐและเอกชน ตลอดจนการประกอบธุรกิจต่าง ๆ ได้ผลเป็นอย่างดีนิพนธ์ จัยสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท คิว.ที.ซี.ทรานสฟอร์เมอร์ มีประสบการณ์ด้านการบริหารและการจัดการผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ไฟฟ้ากำลังมากว่า 20 ปี ผู้พร้อมจะนำ คิว.ที.ซี.ฯ สู่ก้าวย่างใหม่จากผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าเป็นบริษัทพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม และสังคม และเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ในอนาคตอันใกล้ ก็เป็นผู้หนึ่งที่บริหารงานโดยใช้หลัก "อริยสัจ 4" ขับเคลื่อนองค์กร

 

เปลี่ยนจากทุกข์เป็นปัญหา


พูดถึงปัญหาทั้งปวง "อริยสัจ 4" จัดเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการกับปัญหาได้ดีและง่ายที่สุด เพียงแค่เปลี่ยนจากทุกข์ไปเป็นปัญหา เปลี่ยนเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ไปเป็นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา เปลี่ยนวิธีการดับทุกข์ เป็นวิธีการแก้ปัญหา แล้วเดินตามแนวทางแก้ปัญหาที่ถูกต้องก็จะได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ

"การนำหลัก อริยสัจ 4 มาประยุกต์ในการทำธุรกิจและการบริหารงานไม่ยาก

เพียงแค่เปลี่ยนทุกข์เป็นปัญหา เปลี่ยนสมุทัย-เหตุแห่งทุกข์ เป็นเหตุแห่งปัญหา เปลี่ยนนิโรธ-การดับทุกข์ เป็นการแก้ปัญหา เปลี่ยนมรรค-หนทางดับทุกข์ เป็นวิธีแก้ปัญหา จากนั้นดำเนินการตามกระบวนการของอริยสัจ ก็สามารถจัดการกับปัญหาทั้งหลายได้"

นิพนธ์ บอกอย่างนั้น

 

จะแก้ปัญหา...ต้องยอมรับปัญหาก่อน

อันดับแรก ในการแก้ปัญหาทั้งหลายให้ได้ผล นิพนธ์ บอกตรง ๆ ว่า ทุกคนจะต้องมีใจเป็นกลางและยอมรับในปัญหาที่เกิดขึ้นให้ได้เสียก่อน
กล่าวคือ ยอมรับกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นให้ได้ ซึ่งการยอมรับตรงนี้ต้องยอมรับด้วยปัญญา ไม่ใช่ด้วยการยอมจำนน ซึ่งเมื่อยอมรับความจริงได้แล้วให้พิจารณาให้เห็นถึงสภาพของปัญหาว่าเกิดมา จากอะไร หรือมีอะไรเป็นสาเหตุ


"ถ้าใจยังไม่อาจยอมรับความเป็นจริงได้ ก็ไม่มีทางที่จะเอาชนะปัญหานั้น ๆ ไปได้ ซึ่งก็มีคนจำนวนไม่น้อยเมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้ว ไม่อาจทำใจยอมรับได้ เช่น บริษัทขาดทุนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ก็ทุกข์ตรมจนต้องเข้าโรงพยาบาล รายได้ลดลงน่าใจหาย ทำใจไม่ได้ก็หายตัวไปจากโลก โดนลดตำแหน่ง โดนตัดเงินเดือน ก็คิดมากพานสติวิปลาส ซึ่งอาการต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเพราะไม่ทำใจยอมรับความจริงที่เกิดนั่นเอง"
 


หาเหตุจริงๆ ให้พบ...แก้ให้ถูกวิธี

การยอมรับความ จริงที่เกิดขึ้นด้วยปัญญาอย่างเป็นกลาง เมื่อพูดตามหลักอริยสัจก็คือ การรู้เท่าทันทุกข์ หรือการกำหนดรู้ทุกข์นั่นเอง ซึ่งเมื่อรู้สภาพความเป็นจริงของปัญหา หรือความเป็นจริงของทุกข์แล้ว ก็มาพิจารณาหาสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา หรือทำให้เกิดทุกข์ต่อไป


"สมมติบริษัทยอด ขายตกก็ต้องยอมรับตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นด้วยใจเป็นกลาง ไม่อคติ จากนั้นจึงค่อยไปดูว่าที่ยอดขายตกนั้นเกิดจากอะไร หรือมีปัจจัยอะไรที่ทำให้ยอดขายไม่ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ ซึ่งอาจมีหลายสาเหตุ เช่น อาจเพราะเศรษฐกิจแย่ การเมืองไม่นิ่ง การแข่งขันสูง ลูกค้าไม่ชอบใจองค์กร

เมื่อหาสาเหตุมาได้ก็มาแยกเป็นกลุ่ม คือ ยอดขายจากหน่วยงานราชการ เอกชนลูกค้า ผู้รับเหมา ลูกค้าต่างประเทศ แล้วดูว่า ยอดขายตกจากตรงไหนกันแน่ ถ้าตกจากผู้รับเหมา สาเหตุเพราะอะไร ถ้าผู้ใช้งาน เช่น คุณภาพการบริหารไม่ดี อย่างลูกค้าญี่ปุ่น เหตุที่เขาไม่ซื้อสินค้าเราต่อไป อ้อ...เป็นเพราะเขาไม่มีความพึงพอใจในการบริการของเรา ก็ต้องเข้าไปแก้ เข้าไปหาเขาใหม่ เริ่มต้นใหม่ คุยกับเขาใหม่ อะไรที่ต้องเติมเต็มให้เขาก็ควรต้องกระทำให้เขาพึงพอใจให้ได้ เพื่อเขาจะได้กลับมาใช้บริการเราต่อไป"

นิพนธ์บอกว่า ยอดขายตกต้องยอมรับความจริงก่อนว่าตกเพราะอะไร ตรงนี้ต้องมองอย่างเป็นกลาง ปราศจากอคติ จากนั้นจึงค่อยมาดูสมุทัย หาสาเหตุแห่งปัญหาว่ายอดขายตกมาจากปัจจัยอะไรบ้าง

 "เวลาประชุมงานผม จะให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนมาพูดคุยในทุกปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกัน และจะไม่โทษว่าใครผิดใครถูก แน่นอนว่าปัญหาที่เกิดขึ้น ถ้าเกิดจากการกระทำ ซึ่งอาจเกิดจากคนนั้นคนนี้ นาย ก. นาย ข. จริง เราจะไม่โทษเขา แต่จะวิเคราะห์การกระทำของเขาว่าทำไมจึงทำอย่างนั้น ดูปัญหาร่วมกัน เมื่อเห็นว่าปัญหาเกิดมาจากจุดนั้นจริง ก็มาช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรจะป้องกันปัญหานั้นไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต"  อีกทั้งจะไม่จี้ว่าคนนั้นคนนี้ผิด แต่จะลงไปให้ลึกถึงปัญหาจริงๆ ถ้าปัญหาเกิดขึ้นตรงจุดของใคร ก็จะให้ผู้นั้นเอาปัญหามาดูและอธิบายให้ฟังว่าเกิดมาได้อย่างไร

 

"ไม่ได้ประจาน แต่ให้เขายอมรับความจริงว่าปัญหาที่เกิดตรงจุดของเขานั้น เกิดขึ้นเพราะเหตุนั้นเหตุนี้ ซึ่งคำอธิบายจากปากเขาตรงนี้เป็นสิ่งที่เราอยากฟัง เพราะถ้าเขาไม่พูด เราก็ไม่ทราบปัญหาที่แท้จริง ถ้าเขาพูดเราก็ทราบว่าปัญหาเกิดมาจากจุดไหนและเพราะอะไร แล้วไปแก้ที่จุดนั้นด้วยวิธีที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป"

กรรมการผู้จัดการ คิว.ที.ซี.ฯ เปรียบปัญหาเหมือนกับสายน้ำว่า สายน้ำที่ไหลลงจากภูเขา ถ้าไม่มีวัตถุอะไรมากีดขวางทางน้ำ น้ำก็จะไหลต่อเนื่องไม่ขาดสาย แต่ถ้ามีอะไรไปขวางกั้นตรงจุดใดจุดหนึ่งก็จะทำให้น้ำตรงจุดนั้นๆ ไหลไม่สะดวก ซึ่งหากแก้ไขตรงจุดนั้น เอาสิ่งกีดขวางออกไป น้ำก็ไหลสะดวกเหมือนเดิม งานก็เหมือนกัน ถ้าเห็นว่าตรงไหนมีปัญหาต้องรีบไปแก้ตรงจุดนั้นทันที และแก้ให้ดี โดยที่ไม่ต้องโทษว่าใครผิดใครถูก

 

มองอย่างเป็นกลาง...มีสติทุกขณะ


นิพนธ์ บอกว่า ความผิดพลาดหรือความประมาทเกิดขึ้นได้เสมอกับทุกคน แม้กระทั่งกับผู้บริหารเอง แม้จะรู้ว่าความผิดพลาดนั้น เป็นสิ่งที่พนักงานตั้งใจกระทำก็ตาม ผู้บริหารจงมองปัญหาอย่างเป็นกลางและมีสติรู้เท่าทันอารมณ์ อย่ามาตัดสินพนักงานในขณะที่อารมณ์ยังคุกรุ่นแฝงด้วยอคติ

"ผมแนะนำให้ใช้ หลัก 'ก ข ค ง' มาช่วยในสถานการณ์อย่างนี้

ก คือ เก็บความรู้สึกเมื่อไม่พอใจ ไม่แสดงอาการไม่พอใจให้เห็น

ข คือ ต้องเข้าใจคนทำงานว่าที่เขาทำเช่นนั้นเขามีเหตุผลอะไรพิเศษไหม หรือมีสิ่งแวดล้อมอะไรบังคับหรือไม่

ค คือ ต้องคอยให้กำลังใจเขา เพราะคนทำงานอุปสรรคมากมาย ผู้บริหารต้องให้กำลังใจบ้าง และ

ง คือ ต้องง้อ เป็นผู้บริหารก็เป็นปุถุชน โอกาสทำผิด พูดผิดมี ผิดต้องขอโทษเขา อย่าถือว่าเป็นผู้บริหารแล้วง้อใครไม่เป็น"

กรรมการผู้จัดการ คิว.ที.ซี.ฯ แนะหลักง่าย ๆ สำหรับนักบริหาร

นิพนธ์ เชื่อว่า ทุกปัญหามีทางออกเสมอ และการบริหารตามหลักอริยสัจ 4 ย่อมเกิดผลดีส่วนเดียว โดยเฉพาะในแง่ของปัญหาที่เกิดขึ้นก็จะทำให้ผู้บริหารเข้าถึงได้มากและ ทุกระดับ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาองค์กรให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จต่อไป

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • มหัทธโน
  • 4 Followers
  • Follow