Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ฝรั่งเศสยอมเสียดินแดนแก่ไทยในพิธีลงนามสัญญาสันติภาพ

Posted By Plook Panya | 11 มี.ค. 60
11,425 Views

  Favorite

วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2484 (ค.ศ. 1941)
ฝรั่งเศสยอมเสียดินแดนแก่ไทยในพิธีลงนามเพื่อสันติภาพ


มีพิธีเจรจาลงนามเพื่อสันติภาพในข้อตกลงกรณีพิพาทอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ณ กรุงโตเกียว หลังจากประเทศไทยและฝรั่งเศสได้ทำข้อตกลงยุติการยิงปะทะกันไปเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2484 ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจในเอเชียขณะนั้น ได้เข้ามามีบทบาทเป็นตัวกลางช่วยเจรจาไกล่เกลี่ย  โดยมีนายโซสุเกะ มัดซูโอกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่น เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายญี่ปุ่น ฝ่ายไทยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงการต่างประเทศไทยเป็นหัวหน้าคณะ และฝ่ายฝรั่งเศสมี อาร์เซน อังรี เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงโตเกียวเป็นหัวหน้า

 

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%AD_%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%84%E0%B8%A7%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3_%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%9B%E0%B8%9E%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B9%8C
"พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์" หัวหน้าคณะในการเจรจาลงนามเพื่อสันติภาพ
จาก, https://th.wikipedia.org/wiki/พระเจ้าวรวงศ์เธอ_พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร_กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์

 

ข้อความในสนธิสัญญาได้ระบุว่าฝรั่งเศสจะยอมเสียดินแดนแขวงหลวงพระบางฝั่งขวาแม่น้ำโขง แคว้นจำปาศักดิ์ และแคว้นเขมรให้แก่ไทย ข้อตกลงดังกล่าวจึงทำให้กรณีพิพาทจบลงด้วยดี และในวันถัดมา 12 มีนาคม พ.ศ.2484 รัฐบาลไทยได้ประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ และประดับธงชาติญี่ปุ่นคู่กับธงชาติไทยเป็นเวลา 3 วัน พร้อมกับให้มีการสวนสนามฉลองชัยที่พระนคร ในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2484
ก่อนจะมีการลงนามในอนุสัญญาโตเกียว ซึ่งเป็นอนุสัญญาสันติภาพระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 โดยมีกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์เป็นหัวหน้าคณะลงนาม

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2006/02/K4126698/K4126698.html
การสวนสนามฉลองชัยที่พระนคร เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2484 
จาก, http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2006/02/K4126698/K4126698.html


 

https://paperspast.natlib.govt.nz/newspapers/EP19410814.2.25.1
 พิธีลงนามอนุสัญญาโตเกียว (สัญญาสันติภาพไทย-ฝรั่งเศส) ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 
จาก, https://paperspast.natlib.govt.nz/newspapers/EP19410814.2.25.1

 
 

http://www.thaiheritage.net/nation/military/indochina/index1.htm
พิธีรับมอบดินแดนที่จังหวัดพระตะบองคืน เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2484
จาก, http://www.thaiheritage.net/nation/military/indochina/index1.htm



สงครามอินโดจีน 

กรณีพิพาทอินโดจีน หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ สงครามอินโดจีน เป็นเหตุความขัดแย้งระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศสที่เกิดขึ้นระหว่างที่สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังดำเนินการรบติดพันอยู่ ในทวีปยุโรป แต่ยังไม่ขยายมาสู่ทวีปเอเชีย โดยมีมูลเหตุสืบเนื่องมาจากเรื่องการอ้างสิทธิเหนือดินแดนอินโดจีนบางส่วนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส คือ ดินแดนลาวและกัมพูชาซึ่งเคยเป็นของไทยมาก่อนที่จะสูญเสียให้ฝรั่งเศสไป ตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ในยุคล่าอาณานิคมของมหาอำนาจโลกตะวันตก ซึ่งในครั้งนั้นประเทศไทยจำต้องยอมทำสัญญา และเสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศสหลายครั้งเพื่อรักษาดินแดนส่วนใหญ่ไว้ 

 


เหตุแห่งกรณีพิพาท

ในระหว่างเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝรั่งเศสเกิดความห่วงใยต่ออาณานิคมของตนในอินโดจีน เพราะเกรงว่าประเทศไทยจะส่งกำลังเข้ายึดครองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ที่ถูกฝรั่งเศสยึดครองไป จึงเสนอขอทำสัญญาไม่รุกรานกับประเทศไทย ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยภายใต้การนำของ "พลตรีหลวง พิบูลสงคราม" ในปีพ.ศ. 2483 ได้ยื่นข้อเสนอให้ฝรั่งเศสปรับปรุงเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับอินโดจีนเสียใหม่ โดยให้ถือแนวร่องน้ำลึกของแม่น้ำโขงเป็นเขตแดนตามแบบสากล และให้ฝรั่งเศสคืนดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงตรงข้ามหลวงพระบางกับปากเซมา และหากฝรั่งเศสไม่ได้ปกครองอินโดจีนแล้วก็ขอให้คืนลาวกับกัมพูชาให้แก่ไทยด้วย

รัฐบาลฝรั่งเศสได้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว ประชาชนชาวไทยเกือบทั้งประเทศจึงพร้อมใจกันเดินขบวนเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส และสถานการณ์ยิ่งตึงเครียดมากขึ้น เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างจัดหน่วยกำลังเผชิญหน้ากันตามชายแดนจนเกิดการปะทะกันในที่สุด เมื่อฝรั่งเศสได้ส่งเครื่องบินเข้ามาทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนมในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 เหตุการณ์ความขัดแย้งครั้งนี้จึงได้กลายเป็นสงครามที่รุนแรง ส่งผลกระทบต่อเอกราชและอธิปไตยของชาติไทยอีกครั้งหนึ่ง  ซึ่งความขัดแย้งครั้งนี้ยังเป็นชนวนให้มหาอำนาจทางทะเลอย่างอังกฤษต้องเข้ามามีบทบาทเพื่อถ่วงดุลอำนาจกับฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกาต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวด้วย ทั้งเพื่อปกป้องมหามิตรและพิทักษ์ผลประโยชน์ของตนบนแผ่นดินไทย

 

Bartholomew's route chart of the world. - 1940
แผนที่แสดงอาณาเขตอินโดจีนอันเป็นข้อพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส จาก, http://www.payer.de/thailandchronik/chronik1941.htm

 

 

 

แหล่งข้อมูล
สุเทพ เอี่ยมคง.กรณีพิพาทอินโดจีน. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2560 จาก, http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=กรณีพิพาทอินโดจีน
กรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2560 จาก, http://www.thaiheritage.net/nation/military/indochina/index0.htm
ข้อพิพาทไทยฝรั่งเศส 2436-2484. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2560 จาก, https://sites.google.com/site/indochinappk/manu2
กรณีพิพาทอินโดจีน - มณฑลบูรพา . . . เคยได้เป็นของเรา. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2560 จาก, http://www.iseehistory.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538711048
กรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2560 จาก, http://www.thainationalmemorial.org/3_1_2.html
เมืองไทยในอดีต. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2560 จาก, http://www.sg2527.com/history/history_12_lor08_2.htm
พลเรือโท ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์. ธงชัยเฉลิมพลกับกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2560 จาก,http://www.rtni.org/library/download/2554/august/ธงชัยเฉลิมพลกับกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส.pdf
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Panya
  • 7 Followers
  • Follow