Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ลาดกระบัง ค้นพบ "ดอกต้นธูปฤาษี" วัสดุนาโนธรรมชาติ แก้วิฤตการณ์น้ำมันรั่วกลาง

Posted By Plook Panya | 05 ส.ค. 56
5,934 Views

  Favorite

สจล. ชู 3 วัสดุนาโนทางธรรมชาติ แก้ปัญหาวิฤตการณ์ท่อส่งน้ำมันรั่วกลางทะเลด้วยองค์ความรู้นาโนเทคโนโลยีธรรมชาติ "ฟางข้าว-กากมะพร้าวกักน้ำมันเคลือบสารนาโน - ดอกของต้นธูปฤาษี"


 
       นำ 3 วัสดุนาโนทางธรรมชาติ มาผสมผสานวิธีทางวิทยาศาสตร์ที่ดำเนินการอยู่ในตอนนี้ จะสามารถช่วยให้การฟื้นฟูชายฝั่งทะเล ตลอดจน คราบน้ำมันในท้องทะเลได้อย่างรวดเร็ว ฟื้นคืนความงดงามให้กับทะเลของจังหวัดระยอง
       
       ศาสตราจารย์จิติ หนูแก้ว คณบดีวิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบังสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.)กล่าวว่า เหตุการณ์ท่อส่งน้ำมันรั่วในทะเล บริเวณท่าเรือมาบตาพุด จังหวัดระยองขณะนี้ได้ส่งผลกระทบเป็นบริเวณกว้างต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคประชาชน ทั้งในด้านความเป็นอยู่ของประชาชนบริเวณชายฝั่ง รวมถึงระบบนิเวศทางทะเลด้วย แม้ว่าภาครัฐและองค์กรเอกชนได้เริ่มเข้าดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้วบางส่วน ผลกระทบที่ขยายเป็นวงกว้างยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการช่วยเหลือหรือการแก้ไขปัญหาให้ทั่วถึง ทั้งนี้ วิธีการแก้ไขปัญหาน้ำมันรั่วในทะเลตามหลักสากล มีหลายวิธี เช่นการปล่อยให้น้ำมันสลายตัวไปเอง การกักหรือเก็บโดยใช้ทุ่น การใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันการเผา


 
       "การทำความสะอาดชายฝั่งโดยจะต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมในการขจัดน้ำมัน อาทิ ชนิดของน้ำมัน ปริมาณน้ำมันที่รั่วไหล ทิศทางและความเร็วของกระแสน้ำ กระแสลม สภาพอากาศ ลักษณะทางภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งวิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการช่วยเหลือในวงกว้างเท่านั้นแต่สำหรับการช่วยเหลือภาคของประชาชนนั้น ทางสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้นำเสนองานวิจัยของวิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบังที่ช่วยในการกักเก็บน้ำมันบริเวณชายฝั่ง โดยการใช้ฟางข้าวกักน้ำมัน และกากมะพร้าวกักน้ำมัน เป็นต้น วัสดุบางอย่างเช่นฟางข้าวกักน้ำมันยังสามารถแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงได้อีกด้วย อนึ่ง งานวิจัยอยู่บนพื้นฐานขององค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีนาโน สารนาโนรวมถึงการผลิตผ่านกระบวนการนาโน ซึ่งสารนาโนหรือกระบวนการผลิตนาโนนี้จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเหมือนกับสารเคมีตัวอื่นๆ"
       
       ศาสตราจารย์จิติกล่าวเพิ่มเติมว่า ชาวบ้านหรือชาวประมงที่ได้รับผลกระทบ สามารถแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง โดยใช้วัสดุและอุปกรณ์นาโนเทคโนโลยี อาทิเช่น กากมะพร้าวกักน้ำมัน ฟางข้าวกักน้ำมันเคลือบสารนาโน เป็นการนำฟางข้าวหรือวัสดุประเภทกากมะพร้าว นำมาผ่านกระบวนการนาโน และเคลือบสารคาร์บอน เพื่อให้ฟางข้าวสามารถกักเก็บหรือดูดซับน้ำมันได้ดียิ่งขึ้นกว่าคุณสมบัติดั้งเดิมของตัวมันเอง ทั้งนี้ฟางข้าวกักน้ำมัน เมื่อดูดซับน้ำมันมาแล้ว จะสามารถนำกลับมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้อีกครั้ง โดยการนำฟางข้าวหรือกากมะพร้าวที่ดูดซับน้ำมันมาแล้ว ไปตากแห้งและไปเข้าเตาเผา เพื่อแปรสภาพให้คล้ายกับถ่านหุงต้ม
      
       นอกจากนี้เรายังค้นพบ "ดอกของต้นธูปฤาษี" ในการกำจัดคราบน้ำมันดิบ ซึ่งดอกธูปฤาษีปริมาณ 1 กรัม สามารถกำจัดคราบน้ำมันปริมาตร 10 ml ได้อย่างหมดจดและมีประสิทธิภาพสูงมาก โดยหลังจากการใช้ดอกต้นธูปฤาษีในการกำจัด พบว่าคราบน้ำมันจะจับกันเป็นก้อนสีดำและลอยอยู่เหนือน้ำ สามารถนำขึ้นมาได้โดยง่ายดาย ดอกของต้นธูปฤาษีสามารถกำจัดคราบน้ำมันได้เป็นอย่างดี โดยน้ำหนักของดอกต้นธูปฤาษีประมาณ 100 กรัม สามารถกำจัดคราบน้ำมันได้มากกว่า 1 ลิตร


 
       อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์จิติ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ยังมีวัสดุนาโนทางธรรมชาติอีกหลายชนิด ที่มีความสามารถในการดูดซับน้ำมันได้ โดยมี หลักการเลือกวัสดุในธรรมชาติเพื่อกำจัดคราบน้ำมัน ดังนี้ 1.มีขนหรือหนามเล็กๆ หรือเป็นเส้นใยฝอย ทำให้มีพื้นที่ผิวมาก 2.ไม่เปียกน้ำหรือนํ้าไม่เกาะ ทำให้ดูดซับน้ำมันได้ดี 3.มีนํ้าหนักเบาทำให้ลอยนํ้าอยู่ได้เพื่อตักไปกำจัดทิ้ง
       
       "โดยในปัจจุบันนาโนเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสำอาง เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตโดยปัจจุบันความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยีในประเทศไทยนั้นยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก โดย สจล. ตั้งเป้าในการนำนาโนเทคโนโลยีมาเผยแพร่สู่ชุมชนท้องถิ่นและเยาวชนไทย เพื่อนำนาโนเทคโนโลยีไปช่วยแก้ปัญหาในชุมชนได้อย่างสร้างสรรค์ อีกทั้งยังเป็นการผลักดันให้เยาวชนไทยสามารถนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาประเทศชาติได้ต่อไปในอนาคต" ศาสตราจารย์จิติกล่าวสรุป 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Panya
  • 7 Followers
  • Follow