Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สมองหมึกยักษ์และหนวดของมัน

Posted By Plook Panya | 10 พ.ค. 59
6,158 Views

  Favorite

สัตว์บางชนิดแม้สมองจะเล็กกว่าตัวเมื่อเทียบอัตราส่วนแล้ว หรือจะเล็กกว่ามนุษย์ยังไงก็ไม่ได้แปลว่ามันโง่ หรือมีสติปัญญาน้อยกว่าเรา มนุษย์ยังคงทำการศึกษาร่างกายของตัวเรา และสัตว์ที่มีอยู่ในโลกอย่างต่อเนื่อง อีกหนึ่งสิ่งมีชีวิตที่นับได้ว่ามีบทบาทสำคัญต่อการศึกษานี้ และได้รับความสนใจอย่างมาก ก็คือ หมึกยักษ์ Octopus หมึกยักษ์หลายร้อยสปีชี่ส์อยู่ในออเดอร์ Cephalopoda หรือที่แปลว่า หัวรูปเท้า

 

ภาพ : Pixabay


เหตุที่ว่าทำไมหมึกยักษ์ถึงถูกศึกษาอย่างกว้างขวางทั้งในวงการประสาทวิทยา ปัญญาประดิษฐ์ และกลไกการเคลื่อนไหวนั้น ก็เพราะลักษณะพิเศษอันเป็นเอกลักษณ์ของมัน โครงสร้างร่างกายที่อ่อนนุ่ม และแปรเปลี่ยนรูปร่างได้ สามารถซอกซอนเข้า และออกจากโครงสร้างที่คับแคบได้ การที่มีหนวดที่ทำงานอย่างอิสระจากสมอง รวมถึงความสามารถในการควบคุม และเปลี่ยนสีผิวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมรวมถึงสะท้อนอารมณ์ และความต้องการในขณะนั้น

หัวของหมึกยักษ์ประกอบไปด้วยสมองขนาดใหญ่ ซึ่งหากเทียบอัตราส่วนของสมองต่อร่างกายแล้วก็ถือว่าเยอะพอ ๆ กับสัตว์ที่ฉลาดชนิดอื่น ๆ เช่น โลมา หรือชิมแพนซีด้วยซ้ำ แต่ที่แตกต่างก็คือ ร่างกายของมันไม่ได้ถูกควบคุมด้วยสมองส่วนกลางเพียงอย่างเดียว สมองส่วนกลางมีเซลล์ประสาทอยู่เพียง 10 % ของ 500 ล้านเซลล์ที่มีทั้งหมด อีก 30 % ไปอยู่บริเวณตา และที่เหลือถูกกระจายไปอยู่ตามหนวดต่าง ๆ เรียกได้ว่าหนวด และตาของมันต่างก็มีความคิดเป็นของตัวเองนั่นเอง

หากเปรียบเทียบง่าย ๆ ก็คือ เวลาคนเราเคลื่อนไหว ยกตัวอย่างเช่น เรามองเห็นแอปเปิ้ลและต้องการจะคว้ามากิน เราจะมองจากประสาทตา ส่งข้อมูลไปยังสมองเพื่อประมวลผลถึงรูปร่าง ลักษณะ ระยะห่าง หลังจากนั้นก็จะส่งข้อมูลไปยังสมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวเพื่อที่จะกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อและข้อต่อต่าง ๆ ที่เหมาะสมเพื่อให้เอื้อมไปหยิบจับมาจ่อที่ปาก และกัดกินได้ ในขณะที่หมึกยักษ์ซึ่งมีการทำงานของระบบประสาทที่แตกต่างออกไป มันสามารถบิดส่วนต่าง ๆ ของร่างกายให้ไปในตำแหน่งและทิศทางใดก็ได้ไม่ได้จำกัดอยู่กับรูปแบบของข้อต่อเหมือนสัตว์มีกระดูกสันหลัง (Vertebrate) สมองของหมึกยักษ์ประกอบไปด้วยชุดคำสั่งของพฤติกรรมแต่ละประเภท หากมองเห็นอาหาร สมองของมันไม่ได้กระตุ้นกล้ามเนื้อหนวดให้ยื่นออกไปจับ แต่กระตุ้นพฤติกรรมตอบสนองต่อสิ่งที่เห็นเพื่อให้จับ หลังจากนั้นโครงข่ายเซลล์ประสาทบริเวณหนวดจะตอบรับ และทำงานของมันอย่างอิสระแทน


หนวดหรือแขนทั้ง 8 ของหมึกยักษ์จึงเป็นอิสระต่อกัน และสามารถแก้ไขปัญหาในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปได้ อาทิ มันสามารถเปิดขวดเพื่อหยิบอาหารภายในได้โดยที่ไม่ต้องเรียนรู้ถึงการเปิดขวดมาก่อนหรือการที่สามารถหาทางออกจากเขาวงกตได้เอง การปรับเปลี่ยนสภาพผิวหนัง และสีสันให้เข้ากับสภาพแวดล้อมโดยที่ไม่ได้สั่งการจากสมองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ประโยชน์จากการมีเซลล์ประสาทกระจายตัว และทำงานอย่างแยกส่วนเช่นกัน

จะเห็นได้ว่า ความแตกต่างทางด้านโครงสร้างและพฤติกรรมของสัตว์แต่ละชนิด ต่างก็เกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการทางธรรมชาติที่แตกต่างกันออกไป การที่สัตว์แต่ละชนิดไม่ได้มีพฤติกรรม และความสามารถเหมือนกันกับมนุษย์จึงไม่ได้แปลว่า มันโง่กว่า หรือสติปัญญาด้อยกว่า หากแต่มันเก่งในแบบที่มันเป็น เราคงไม่ตัดสินให้ปลาโง่กว่าลิงเพียงเพราะมันปีนต้นไม้ไม่ได้ และเราก็คงไม่บอกว่า หมึกยักษ์เป็นเพียงสัตว์ เพียงเพราะมันคุยกับเราไม่ได้ อีกทั้งเรายังต้องศึกษา และพึ่งพาความสามารถของมันอีกมากในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้ก้าวหน้าต่อไปอยู่


เรียบเรียงโดย ทีมงานทรูปลูกปัญญา
ขอบคุณภาพปก : Pixabay

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Panya
  • 7 Followers
  • Follow