Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

อาหารทำบุญ "อ่อนหวาน"

Posted By Musca Borealis | 11 ส.ค. 59
5,676 Views

  Favorite

        รศ.ดร.ภญ.จงจิตร อังคทะวานิช คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการสงฆ์ไทยไกลโรค กล่าวว่า ปัจจุบันพฤติกรรมการทำบุญเปลี่ยนไปมาก คนส่วนใหญ่นิยมซื้ออาหารสำเร็จรูป เพราะความสะดวกและไม่ต้องลงมือทำเอง ซึ่งจากการสำรวจพบว่า อาหารดังกล่าวมีโปรตีนเพียง 2 ใน 3 ของโปรตีนที่ร่างกายควรจะได้รับ จึงทำให้พระสงฆ์ได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ นอกจากนี้อาหารยังเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ในพระสงฆ์อีกด้วย

Shutterstock


        จากศึกษาวิจัยปัญหาโภชนาการพระสงฆ์ในเมือง ตั้งแต่ปี 2554-2558 ในโครงการสงฆ์ไทยไกลโรค โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเริมสุขภาพ (สสส.) พบพระสงฆ์เป็นโรคอ้วน 48%, โรคเบาหวาน 10.4%, โรคคอเลสเตอรอลสูง 42% และโรคความดันโลหิตสูงอีก 23% ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากการได้รับอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ ดังนั้นการถวายอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ จึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการสร้างเสริมให้พระสงฆ์มีสุขภาพที่ดี

        รศ.ดร.ภญ.จงจิตร ได้แนะนำอาหารใส่บาตรสุขภาพดีสำหรับพระสงฆ์ ด้วย 6 วิธี ได้แก่ 

1. เสริมข้าวกล้อง หรือจะผสมข้าวกล้องกับข้าวขาวอย่างละครึ่งก็ได้ 
2. เน้นอาหารที่มีผัก หรือเสริมผลไม้ 
3. หลีกเลี่ยงกะทิในการประกอบอาหารและขนมหวาน โดยสามารถใช้กะทิผสมนมสดรสจืด นมพร่องมันเนย หรือนมไขมันต่ำก็ได้ 
4. ลดความเค็มในการปรุงอาหาร 
5. ลดอาหารที่มันจัด
6. ลดความหวาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องพึ่งระวังเป็นอย่างมาก เพราะน้ำตาลแฝงมาทั้งในอาหาร ขนมหวาน และเครื่องดื่ม (น้ำปานะ)

        “ส่วนมากพระสงฆ์จะได้รับน้ำตาลมาจากเครื่องดื่ม หรือเรียกว่าน้ำปานะ ซึ่งน้ำปานะที่ฆราวาสนำมาถวายมักจะเป็น น้ำอัดลม น้ำผลไม้ รวมถึงน้ำหวานชนิดต่าง ๆ นั่นล้วนแล้วแต่มีส่วนผสมของน้ำตาลทั้งนั้น เมื่อพระสงฆ์ฉันท์เข้าไปในช่วงท้องว่าง น้ำตาลในเครื่องดื่มเหล่านั้นจะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว และหากเกิดขึ้นซ้ำ ๆ สะสมไปเรื่อย ๆ จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ได้ เช่นโรคอ้วน โรคเบาหวาน โดยเฉพาะพระสงฆ์ที่มีพันธุกรรม หรือภาวะน้ำหนักตัวเกินก็จะยิ่งเกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งน้ำปานะที่จะถวายพระสงฆ์ควรเป็นปานะที่มีโปรตีน เช่น นมพร่องมันเนย นมไขมันต่ำ หรือนมถั่วเหลืองหวานน้อย เพราะจะช่วยให้อิ่มท้อง และยังทำให้ลดการฉันให้น้อยลงด้วย” หัวหน้าโครงการสงฆ์ไทยไกลโรค บอกเพิ่มเติม

 

Shutterstock


        รศ.ดร.ภญ.จงจิตร ยังได้กล่าวถึงโครงการ “ครัวต้นแบบ สงฆ์โภชนาดี” ภายใต้โครงการวิจัยการขับเคลื่อนสื่อโภชนาการสงฆ์ไทยไกลโรคเพื่อสงฆ์ไทยเข้มแข็งและยั่งยืน ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) โดยการนำสื่อชุดครัวไทยไกลโรค เสนอ 8 วิธี ให้กับแม่ครัวใน มจร.ในการประกอบอาหารให้แก่พระสงฆ์อย่างถูกสุขลักษณะ กับข้อแนะนำ “8 วิธี หนีโรคภัย” ด้วยกลอนที่จำง่าย ๆ และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ดังนี้

“อาหารต่าง ๆ ยกวางเหนือพื้น ดิบสุกอย่าฝืนแยกภาชนะใส่
เนื้อผัดหรือแกง แช่เย็นเร็วไว ผักผลไม้ล้างให้ ไร้เชื้อ เคมี
ปรุงเสร็จแล้วปิดภาชนะดีกว่า ข้าวกล้องผักปลา ปรุงมาเพื่อสงฆ์
กะทิลดได้ ใส่นมวัวลง พลาสติกหมดพิษสงลดร้อนก่อนเท”


        เพราะหัวใจสำคัญที่จะสามารถช่วยดูแลสุขภาพของพระสงฆ์ได้ คืออาหาร ดังนั้นการถวายอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ จึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการสร้างเสริมให้พระสงฆ์มีสุขภาพที่ดี
 

เรื่อง : แพรวพรรณ สุริวงศ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ภาพ : Shutterstock
 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Musca Borealis
  • 0 Followers
  • Follow