Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ลูกเลือกกิน กินยาก พ่อแม่ควรรับมืออย่างไร

Posted By สุภาพรรณ ศรีสุข | 13 ส.ค. 63
3,067 Views

  Favorite

ปัญหาเรื่อง “การกิน” เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของพ่อแม่ที่มีลูกเป็นเด็กกินยาก (Picky eaters) เด็กบางคนกินแต่นม เด็กบางคนเลือกกินแต่ของที่ตัวเองชอบ พ่อแม่จึงเกิดความกังวลว่าสุขภาพจะไม่แข็งแรง

 

หลายคนเลือกใช้วิธีบังคับ ทำให้เกิดศึกบนโต๊ะอาหารอยู่บ่อยครั้ง บางคนใช้วิธีหลอกล่อสารพัดวิธี ก็ยังไม่สามารถป้อนข้าวลูกได้ วันนี้เรามีวิธีรับมือกับปัญหาที่น่าปวดหัวนี้มาฝากกันค่ะ

 

ภาพ : Shutterstock

 

งดทำกิจกรรมระหว่างการกิน

มีหลายบ้านที่เลือกใช้มือถือ หรือแท็บเลตมาเป็นตัวล่อให้ลูกกินข้าว แต่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งเหล่านี้กำลังรบกวนช่วงเวลาการกินของลูกอยู่  บางคนใช้เวลากินข้าวเป็นชั่วโมง ไม่ใช่เพราะกินข้าวเยอะ แต่เพราะมัวแต่จดจ่ออยู่กับการดูการ์ตูน จนไม่ใส่ใจการเคี้ยวหรือกลืนอาหาร ดังนั้นหากเป็นไปได้พ่อแม่ไม่ควรอนุญาตให้ลูกเล่นของเล่นหรือดูโทรทัศน์ระหว่างกินข้าว

สร้างความรู้สึกที่ดีต่ออาหารมื้อนั้น

โดยระหว่างที่แม่หรือพ่อกำลังทำอาหาร ควรให้ลูกได้มีส่วนร่วมเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการทำ เช่น ให้ลูกลองจับ ช่วยหยิบอาหาร ทำให้เด็กได้สัมผัสกลิ่น รสชาติ และเห็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงของอาหารก่อนและหลังปรุง สร้างเรื่องราวพูดคุยกับลูกถึงความเป็นมาของวัตถุดิบต่าง ๆ เมื่อลูกเกิดความคุ้นเคยกับวัตถุดิบต่าง ๆ แล้ว ลูกก็จะมีความรู้สึกอยากรับประทานอาหารมื้อนั้น ๆ มากขึ้น

เวลากินข้าว คือ ช่วงเวลาแห่งความสุข

พ่อแม่ควรสร้างบรรยากาศแห่งความสุขบนโต๊ะอาหาร ควรกินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากัน พูดคุย สร้างบรรยากาศให้สนุกสนาน ไม่ตึงเครียด หลีกเลี่ยงการขู่ บังคับให้ลูกต้องกินสิ่งนั้น สิ่งนี้ หรือขู่ให้ลูกกินข้าวให้หมด ควรเปลี่ยนเป็นการพูดคุย หรือชักชวนแทน อาจเล่นเป็นเกมท้าทายเล็ก ๆ กับลูกก็ได้ เช่น เล่นเกมกินผัก หรือ เกมมนุษย์จอมพลัง กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ลูก และทำให้ลูกมีทัศนคติที่ดีต่อการรับประทานอาหาร

เลือกชนิดและปริมาณอาหารที่เหมาะสม

ในการเลือกอาหารต่าง ๆ ให้ลูกนั้น พ่อแม่จะต้องมีความเข้าใจก่อนว่าธรรมชาติของลูกเป็นอย่างไร ลูกชอบกินอะไร ลูกไม่ชอบกินอะไร สิ่งที่จะนำมาทำให้ลูกกินนั้น มีรสขม หรือเปรี้ยวเกินไปไหม เนื้อสัมผัสแข็ง หรือนิ่มเกินไปหรือเปล่า ในการรับประทานแต่ละครั้งไม่ควรตักให้ลูกในปริมาณที่มากเกินไป สิ่งเหล่านี้มีผลต่อการรับประทานของลูกทั้งสิ้น หากพ่อแม่มีความเข้าใจเลือกชนิดและปริมาณอาหารที่เหมาะสมให้กับลูก ลูกก็จะค่อย ๆ เรียนรู้และปรับพฤติกรรมการกินของตัวเองได้

 

เพราะในวัยเด็ก คือ วัยที่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง และยังขาดความเข้าใจในเรื่องความสำคัญของการรับประทานอาหาร พ่อแม่จึงมีหน้าที่ที่จะต้องฝึกฝนและสอนให้ลูกเรียนรู้และเกิดพฤติกรรมการกินที่เหมาะสม เพื่อสร้างการเจริญเติบโตที่สมวัยต่อไป

 

 

สุภาพรรณ ศรีสุข (ครูแหม่ม)
ที่ปรึกษาวิชาการ โรงเรียนศิลปพัฒนาการสมองเด็ก K.D.S.

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • สุภาพรรณ ศรีสุข
  • 4 Followers
  • Follow