Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สิ่งที่เราค้นพบใหม่เกี่ยวกับทักษะการเรียนรู้และสมองของมนุษย์

Posted By Plook Teacher | 07 พ.ย. 62
6,716 Views

  Favorite

นรรัชต์  ฝันเชียร

 

        ปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้เราสามารถศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการทำงานของสมองของคนเราได้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม สิ่งนี้ทำให้เรามีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกการทำงานของสมองมากขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องประโยชน์อย่างมาก ถ้าเราสามารถนำความรู้และเข้าใจในส่วนนี้ ไปส่งเสริมและพัฒนาทักษะการเรียนรู้ให้กับนักเรียน ก็จะช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ต่อไปนี้คืองานวิจัยใหม่ที่กล่าวถึงการค้นพบใหม่เกี่ยวกับทักษะการเรียนรู้และการทำงานสมองของมนุษย์ ซึ่งมีประโยชน์อย่างมาก ถ้าสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการศึกษาให้กับผู้เรียน

ความเครียดบั่นทอนความจำ

จากผลวิจัยมหาวิทยาลัยโอไฮโอ สหรัฐอเมริกาพบว่าความเครียดที่สะสมเป็นเวลานาน มีผลกระทบต่อความจำ ซึ่งจะทำให้ความจำเสื่อมเร็วขึ้น โดยนักวิจัยได้ทดลองกับหนู โดยให้หนูที่มีนิสัยปกติไปอยู่ร่วมกับหนูที่มีนิสัยก้าวร้าว เป็นเวลาต่อเนื่องนาน 6 วัน จากนั้นให้หนูทดลองกลุ่มที่อยู่กับหนูที่มีอาการก้าวร้าว เดินกลับไปที่เขาวงกดซึ่งเป็นบ้านของตัวเอง ผลปรากฎกว่าหนูกลุ่มดังกล่าวจดจำเส้นทางกลับบ้านของตัวเองไม่ได้ และต้องใช้เวลาสักพักจึงจะรู้เส้นทาง ต่างกับหนูอีกกลุ่มซึ่งไม่ได้อาศัยกับหนูที่มีอาการก้าวร้าว ที่สามารถเดินทางกลับบ้านของตัวเองได้อย่างรวดเร็ว จากผลการทดลองนี้แสดงให้เห็นว่า ความเครียดที่เกิดการถูกข่มขู่ ข่มเหงรังแก หรืออยู่ในสภาวะที่กดดัน จะส่งผลให้ประสิทธิภาพความจำลดลง ดังนั้นการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ผ่อนคลายและมีความสุขจะส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะความจำที่ดีกว่าบรรยากาศการเรียนรู้ที่ตึงเครียดแบบเดิม ๆ

 

สมองของคนเราสร้างเซลล์ประสาทได้ตลอดชีวิต

ดร. มอรา โบลดรินี และคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสาร Cell Stem Cell โดยระบุว่าได้ ได้ตรวจสอบตัวอย่างสมองส่วนฮิปโปแคมปัส ซึ่งเป็นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำ การเรียนรู้ และอารมณ์ ซึ่งได้มาจากผู้บริจาคอวัยวะทั้งชายและหญิงสุขภาพสมบูรณ์ดี อายุระหว่าง 14-79 ปี รวมทั้งสิ้น 28 ราย โดยคนเหล่านี้มีสุขภาพสมบูรณ์ดี และมีการเก็บตัวอย่างสมองภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังเสียชีวิตลง ซึ่งผลการตรวจสอบนับจำนวนเซลล์ประสาทในระยะต่าง ๆ ในบริเวณที่เรียกว่า dentate gyrus ซึ่งเป็นส่วนที่สร้างเซลล์ประสาทใหม่ภายในฮิปโปแคมปัส พบว่าแม้ปริมาณเซลล์ต้นกำเนิดในสมองส่วนนี้จะลดลงไปตามวัยที่เพิ่มขึ้น แต่การก่อตัวของเส้นเลือดและจำนวนของเซลล์ประสาทเกิดใหม่ซึ่งยังเติบโตไม่เต็มที่นั้น กลับคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามอายุด้วย โดยเซลล์ประสาทเกิดใหม่ในสมองส่วนนี้จะมีตลอดชีวิต ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่ามนุษย์ต้องการเซลล์ประสาทใหม่เพื่อการเรียนรู้เรื่องซับซ้อน และพัฒนาพฤติกรรมตอบสนองต่ออารมณ์ต่าง ๆ ในระยะยาว

 

งานวิจัยนี้นับว่าเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นอย่างมาก เพราะจากการศึกษาในอดีต เราเข้าใจว่าสองของมนุษย์นั้นจะหยุดผลิตเซลล์ประสาทเมื่อพ้นวัยเด็กไปแล้ว ทำให้การส่งเสริมทักษะความรู้ในวัยเด็กจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด แต่จากการวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่ามนุษย์สามารถส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต นอกจากนี้งานวิจัยนี้ยังเป็นนิมิตหมายอันดีในการพัฒนาการรักษาโรคความจำเสื่อมอีกด้วย

 

แต่อย่างไรก็ดี งานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงวารสาร Nature ของประเทศอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในเมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา กลับแสดงผลที่ตรงข้างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะจากการศึกษาโดยใช้เนื้อเยื่อจากสมองส่วนฮิปโปแคมปัสของกลุ่มตัวอย่าง 59 คน ที่เสียชีวิตหลังการผ่าตัด ซึ่งมีอายุตั้งแต่ยังเป็นตัวอ่อนในครรภ์ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ พบว่า ตัวอ่อนในครรภ์อายุ 14 สัปดาห์มีเซลล์ประสาทใหม่ที่กำลังพัฒนาในสมองส่วนฮิปโปแคมปัสอยู่มาก จนกระทั่งอายุ 1 ปี เซลล์ประสาทใหม่มีจำนวนน้อยลงมากเมื่อเทียบกับตอนเป็นตัวอ่อนในครรภ์ และในช่วงอายุ 13 ปี เป็นช่วงสุดท้ายที่ยังคงพบเซลล์ประสาทอ่อนอยู่ และแม้ว่างานวิจัยนี้กระตุ้นให้เกิดการโต้เถียงเป็นวงกว้าง แต่ก็นับว่าเป็นงานวิจัยที่แสดงถึงความก้าวหน้าในการเรียนรู้เกี่ยวกับกลไกการทำงานของสมองได้ดี ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการศึกษาการเรียนรู้ของมนุษย์

 

หลอกสมองให้ทำงานหลายอย่างพร้อมกันช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Psychological Science แสดงให้เห็นว่าการบอกตัวเองว่าต้องทำงานหลายอย่าง จะช่วยให้เราทำงานได้ดีขึ้น โดยผลการวิจัย ซึ่งกำหนดกลุ่มตัวอย่างไว้สองกลุ่มคือ กลุ่มที่ได้รับการบอกว่าต้องทำงานสองอย่างพร้อมกันคือการเรียนและการเขียน กับอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับการบอกว่าให้ทำงานทีละอย่าง กลุ่มตัวอย่างที่คิดว่าพวกเขาทำงานหลายอย่างนั้น ทำงานได้ดีกว่าผู้ที่อยู่ในกลุ่มที่ทำงานทีละอย่างทุกครั้ง สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าการรับรู้ของเราเกี่ยวกับการทำงานหลายอย่าง สามารถส่งผลกระทบเชิงบวกต่อประสิทธิภาพของเราได้ ดังนั้นการแบ่งงานหรือการบ้านที่มีขนาดใหญ่กว่าออกเป็นส่วน ๆ แล้วบอกให้นักเรียนทำแต่ละส่วนไปพร้อม ๆ กัน จะทำให้นักเรียนมีแนวโน้มที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้

 

การฝึกสติและสมาธิมีประโยชน์ต่อสมอง

การศึกษาใหม่จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) สหรัฐอเมริกา ชี้ให้เห็นว่าการฝึกสติในการจดจ่อกับการตระหนักรู้ในปัจจุบันสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการเรียนและสุขภาพจิตของนักเรียนได้ ซึ่งผู้วิจัยได้ศึกษานักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ประมาณ 100 คน โดยนักเรียนครึ่งหนึ่งได้รับการฝึกสติทุกวันเป็นเวลา 8 สัปดาห์ ในขณะที่อีกครึ่งหนึ่งไม่ได้รับการฝึก ผลปรากฎว่า นักเรียนที่ได้รับการฝึกสติมีความเครียดน้อยลงและทำงานได้ดีขึ้น นักวิจัยระบุว่าจากผลการวิจัยนี้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการฝึกสติที่สามารถเปลี่ยนแปลงการทำงานของสมองในนักเรียน ซึ่งนอกจากจะทำให้ความเครียดลดลงแล้ว ในการสแกนสมองของพวกเขา ก็เผยให้เห็นการเปิดใช้งานของ Amygdala ซึ่งเป็นส่วนของสมองที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับอารมณ์และสัญชาตญาณการอยู่รอดเช่น ความกลัว ความรัก และความโกรธ รวมถึงพฤติกรรมความก้าวร้าวต่าง ๆ มีขนาดที่ลดลงอีกด้วย ซึ่งมีผลทำให้นักเรียนมีอารมณ์ดีและส่งผลต่อผลการเรียนที่ดีขึ้น จากงานวิจัยนี้ทำให้เราเห็นถึงความสำคัญของการฝึกสติและสมาธิ การส่งเสริมให้นักเรียนได้ฝึกสติและสมาธิทุกวัน น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

ออกกำลังกายสั้น ๆ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมอง

นักประสาทวิทยาที่มหาวิทยาลัยโอเรกอนสุขภาพและวิทยาศาสตร์ (OHSU) ได้ค้นพบว่า ยีน Mtss1L นั้นจะถูกเปิดขึ้นโดยการออกกำลังกายสั้น ๆ ซึ่งยีน Mtss1 นี้จะช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตและการเชื่อมโยงในเซลล์ประสาท อันจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการเรียนรู้และการจดจำ

จากงานวิจัยนี้ การให้นักเรียนออกกำลังกายสั้น ๆ เล็กน้อยก่อนที่จะเริ่มเรียนรู้ น่าจะเป็นแนวทางที่ช่วยส่งเสริมให้นักเรียนเรียนรู้อย่างมีประสิทธิมากขึ้นได้

 

ทั้งหมดนี้คือ งานวิจัยที่แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เราค้นพบใหม่เกี่ยวกับทักษะการเรียนรู้และการทำงานของสมอง ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนสอนได้ และน่าจะส่งผลดีต่อการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นอย่างยิ่ง

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow