Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การจัดการกับปัญหาการผัดวันประกันพรุ่งของนักเรียน

Posted By Plook Teacher | 26 ก.ย. 62
5,824 Views

  Favorite

นรรัชต์  ฝันเชียร

ผัดวันประกันพรุ่ง เป็นสำนวนไทย ที่มีความหมายว่า ชอบเลื่อนเวลาออกไปครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ยอมลงทำให้สำเร็จเสียที ซึ่งตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า Procrastinate

 

           การผัดวันประกันพรุ่งเป็นปัญหาพฤติกรรมของมนุษย์ที่เกิดขึ้นแล้วส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของบุคคลนั้นค่อนข้างมาก เพราะการผัดวันประกันพรุ่งจะทำให้การจัดสรรเวลาในการทำสิ่งต่าง ๆ คลาดเคลื่อน และยิ่งผัดวันประกันพรุ่งมากเท่าไหร่ การจัดการชีวิตหรือทำงานโดยที่มีเวลาจำกัดก็จะเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะล้มเหลวในการจัดการชีวิต จนการทำงานหรือการดำเนินชีวิตไม่ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจ

 

           ปัญหาการผัดวันประกันพรุ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่เมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ที่มีแรงผลักดันในการใช้ชีวิตค่อนข้างมากแล้ว การผัดวันประกันพรุ่งในวัยเรียนน่าจะเป็นเรื่องที่ชวนปวดหัวให้กับพ่อแม่ ผู้ปกครอง รวมถึงคุณครูที่เป็นผู้ดูแลพวกเขาค่อนข้างมาก และนับว่าเป็นปัญหาพฤติกรรมของเด็กนักเรียนอันดับต้น ๆ ที่ควรจะแก้ไขให้ทันท่วงที ก่อนที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตของเขาในอนาคต

 

           สาเหตุของการผัดวันประกันพรุ่งในวัยเรียนนั้น ดร. Maggie Wray ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจากแอตแลนต้า เจ้าของเว็บไซต์ creatingpositivefutures.com  ได้นำเสนอสาเหตุของการผัดวันประกันพรุ่งเอาไว้ ซึ่งสามารถสรุปเป็นข้อมูลสั้น ๆ แต่ละข้อได้ดังนี้

                - การหลงลืมภาระงานต่าง ๆ ที่มีกำหนด
                - ไม่รู้สึกถึงความชัดเจนในผลลัพธ์ของงานที่จะทำ
                - การมองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับเวลา ชอบคิดเสียว่ามีเวลาทำเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องเร่ง
                - การผ่อนปรนของครูในงานต่าง ๆ อย่างบ่อยครั้ง ทำให้ผู้เรียนรู้สึกถึงความไม่สำคัญของเส้นตายในการทำงาน
                - เกิดจากความไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นทำสิ่งเหล่านั้นอย่างไร
                - มีกิจวัตรประจำวันเกี่ยวกับการศึกษาค่อนข้างแย่ เช่น กลับบ้านมาแทนที่จะทำการบ้านให้เสร็จ แต่เลือกที่จะเล่นเกมหรือดูทีวีก่อน 
                - มีสิ่งรบกวนความตั้งใจในการทำงานจากภายนอกมากเกินไป
                - การรับมือกับงานที่ช้าเกินไปทำให้เกิดความเครียดต่อเวลาการทำงานที่ไม่เพียงพอ
                - ทำแต่สิ่งที่ตัวเองเห็นว่าดีและหลีกเลี่ยงการทำงานที่มีแนวโน้มที่จะล้มเหลว
                - ควมคุมอารมณ์ให้คงที่กับการงานได้ยาก วอกแวกง่าย
                - ใช้เป็นข้ออ้างในการหาเวลาว่างให้ตัวเอง
                - เป็นการแสดงความกบฎต่อสิ่งที่ถูกบังคับ

 

           มนุษย์เราทุกคนล้วนต้องเผชิญกับความรู้สึกอยากผัดวันประกันพรุ่งอยู่แทบจะทุกนาที แต่สิ่งที่ทำให้แต่ละคนแตกต่างกัน คือประสิทธิภาพในการรับมือกับสิ่งเหล่านี้ บางคนมีความสามารถในการรับมือได้น้อย ส่งผลให้มักผัดวันประกันพรุ่งอยู่เป็นประจำ ในขณะที่บางคนมีทักษะในการรับมือได้ดีกว่า ทำให้ชีวิตไม่มีการผัดวันประกันพรุ่งเลยก็ได้

 

ภาพ : shutterstock.com

 

            Lily Nguyen ได้เขียนบล็อกเรื่อง 8 Ways to Stop Procrastinating and Start Studying ซึ่งบอกถึง 8 แนวทางในการหยุดผัดวันประกันพรุ่งและเริ่มต้นที่จะเรียนอย่างจริงจัง ซึ่งนับว่าเป็นแนวทางที่น่าสนใจจึงได้สรุปและสอดแทรกแนวทางที่เป็นไปได้ในการส่งเสริมนักเรียนในเรื่องนี้ของครู ซึ่ง 8 แนวทางที่น่าสนใจนั้น มีดังนี้

กำจัดสิ่งรบกวน

            ใช้เวลาอยู่กับตัวเองอย่างแท้จริง ในพื้นที่ ที่เงียบสงบ เช่น ห้องส่วนตัว หรือห้องสมุด และงดใช้เครื่องมือสื่อสารทุกรูปแบบ เพื่อให้ตัวเองมีสมาธิในการทำงานให้สำเร็จ และสำหรับภายในห้องเรียน การสร้างให้ห้องเรียนมีบรรยากาศที่สบาย มีอุณหภูมิที่พอเหมาะสม ปราศจากเสียงรบกวน รวมถึงการจัดโต๊ะเรียนที่ไม่ชิดกันจนเกินไป ก็จะช่วยให้นักเรียนมีสมาธิในการทำงานให้เสร็จทันเวลาที่กำหนดได้

จดจำสิ่งที่ต้องทำด้วยวิธีการต่าง ๆ

            เพื่อไม่ให้ตัวเองลืม นักเรียนจำเป็นต้องจดจำภาระงานที่ได้รับมอบหมาย รวมถึงเวลาในการกำหนดส่งให้ครบถ้วน ซึ่งการสอนให้นักเรียนจดบันทึกสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีการที่หลากหลายจะช่วยให้เขาจดจำทุกอย่างได้ครบถ้วน และสามารถเลือกเฟ้นวิธีการที่เหมาะสมกับตัวเองเพื่อจะได้ใช้ประโยชน์ในคราวต่อไป นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างอุปนิสัยที่ดีให้กับนักเรียนอีกด้วย

ตั้งเวลา

            การตั้งเวลาคือสิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ ในการวางแผนการทำงานที่มีระยะเวลาเป็นตัวกำหนด และเพื่อการนั้น การมอบหมายงานให้นักเรียนก็ควรที่จะมีการกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน โดยเฉพาะเวลาในการกำหนดส่ง และควรที่เคร่งครัดกับมันมากกว่าที่จะผ่อนปรนทุกอย่างที่นักเรียนร้องขอ นอกจากนี้ การสอนให้พวกเขาแบ่งการทำงานออกเป็นส่วน ๆ และจัดการสิ่งเหล่านั้นตามระยะเวลาทีละส่วน ก็จะช่วยให้พวกเขารู้สึกว่างานที่ได้รับมอบหมายนั้นไม่ยากเกินไป และมีโอกาสสำเร็จมากกว่าการทำมันทั้งชิ้นใหญ่ ๆ

หาช่วงเวลาทองของตัวเอง

            มนุษย์เรานั้นมีความแตกต่างกันตามธรรมชาติ จึงไม่แปลกอะไร ถ้ามีนักเรียนบางคนชอบลุกมาอ่านหนังสือในตอนเช้า หรือบางคนเลือกที่จะอ่านมันก่อนที่จะเข้านอน นั่นก็เพราะเวลาที่มีประสิทธิภาพที่สุดของคนเรานั้น ไม่มีคำว่าตายตัว ร้อยคนก็ร้อยช่วงเวลา จึงไม่จำเป็นต้องกำหนดให้เขาทำงานในเวลานั้นเวลานี้ แต่ควรกระตุ้นให้เขาหาเวลาที่เหมาะสมให้กับตัวเอง

อย่าเครียด

            บางครั้งความเครียดก็ทำให้นักเรียนบางคนไม่กล้าที่จะทำงานให้เสร็จ เพราะกลัวความผิดพลาด หรือไม่ก็คิดว่ามันยังไม่สมบูรณ์เพียงพอ ซึ่งอาจจะทำให้ตัวเองได้คะแนนน้อยได้ ในฐานะครู แม้ว่าเราจะมอบหมายงานให้นักเรียนไปแล้ว แต่การสร้างแรงจูงใจ โดยการสอบถามความคืบหน้าทีละช่วง พร้อมทั้งเสริมแรงอย่างเหมาะสม ก็จะช่วยให้พวกเขาเครียดกับงานน้อยลง และมีแนวโน้มในการทำงานที่ดีขึ้น

ออกกำลังกายและทานอาหารที่มีประโยชน์

            สุขภาพที่ดีจะส่งผลต่อการทำงานที่ดี ดังนั้นการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีเวลาในการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมจะเป็นผลดีอย่างมากต่อการทำงานของนักเรียน

ขอคำแนะนำและความช่วยเหลือ

            บางครั้ง งานที่นักเรียนได้รับมอบหมายบางงาน ก็มีความยากเกินกว่าที่นักเรียนจะสามารถทำมันได้โดยที่ไม่ได้รับคำแนะนำ ดังนั้นแทนที่จะปล่อยให้พวกเขางมกันเอง จนรู้สึกเบื่อหน่ายและคร้านที่จะทำ การเปิดโอกาสให้นักเรียนเข้ามาขอคำแนะนำดี ๆ หรือให้ความช่วยเหลือพวกเขาอย่างเหมาะสม ก็น่าจะเป็นแนวทางที่ช่วยให้เขามีแนวโน้มที่จะทำงานให้เสร็จมากกว่าจะผัดวันประกันพรุ่งได้

แรงจูงใจคือกุญแจสำคัญ

            สุดท้ายแล้ว ไม่มีสิ่งใดที่จะช่วยผลักดันตัวเองได้ดีไปกว่าตัวของเราเอง ดังนั้นเราควรส่งเสริมให้พวกเขามีแรงจูงใจในการทำงานให้สำเร็จ โดยเน้นสิ่งที่เกิดขึ้นจากภายในจิตใจของเขาเอง มากกว่าที่จะปล่อยให้เขาหาข้ออ้างในการหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านั้น เช่น ลองให้เขาเขียนถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในการทำงานชิ้นนั้นให้สำเร็จสัก 3-4 ข้อ เพื่อให้เป็นแรงบันดาลใจในการทำงานชิ้นนั้น เป็นต้น

 

            การแก้นิสัยผัดวันประกันพรุ่ง สิ่งสำคัญที่สุดนั้น คงหนีไม่พ้นเรื่องของความเข้มแข็งในจิตใจของตัวเอง ถ้าเราไม่คร้านและมีความมุ่งมั่นมากพอ เราก็จะไม่กลายเป็นคนผัดวันประกันพรุ่งอันจะส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพในการทำงาน การสอนให้เด็กมีทักษะในการรับมือความรู้สึกอยากผัดวันประกันพรุ่งนี้ จะช่วยให้เขามีภูมิคุ้มกันและจัดการกับปัญหานี้ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งมันจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาอุปนิสัยของเขาได้ในอนาคต

 

เอกสารอ้างอิง

https://creatingpositivefutures.com/12-reasons-why-students-procrastinate/

https://student-cribs.com/en/blog/66/8-Ways-to-Stop-Procrastinating-and-Start-Studying/

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow