Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ความเป็นมาของการศึกษาพิเศษและข้อดีของการเรียนร่วม

Posted By Plook Teacher | 24 ก.ย. 62
17,568 Views

  Favorite

นรรัชต์  ฝันเชียร

          การศึกษาพิเศษ เป็นการจัดการศึกษาและบริการเพื่อสนับสนุนให้กับบุคคลที่มีความต้องการทางการศึกษาเป็นพิเศษ ซึ่งครอบคลุมบุคคล 3 กลุ่ม คือ

                1. กลุ่มเด็กที่มีความสามารถพิเศษ

                2. กลุ่มเด็กพิการและบกพร่องในการเรียนรู้

                3. กลุ่มด้อยโอกาสและต้องได้รับการช่วยเหลือเป็นพิเศษ

          ซึ่งทั้งสามกลุ่มนี้อยู่ในขอบข่ายของการศึกษาพิเศษ แต่กลุ่มที่มักจะกล่าวถึงในเรื่องของการศึกษาพิเศษ คือ กลุ่มของเด็กพิการและบกพร่องในการเรียนและกลุ่มด้อยโอกาสและต้องได้รับการช่วยเหลือเป็นพิเศษซึ่งมักจะพบเจอมากในระบบโรงเรียนและเป็นกลุ่มที่ควรได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกต้องจึงจะช่วยให้เด็กพัฒนาได้อย่างเหมาะสม

 

          ในเรื่องของการศึกษาพิเศษ สำหรับต่างประเทศ เป็นสาขาที่ได้รับความใส่ใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะเป็นแนวทางที่สำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่นอกเหนือจากการพัฒนาตามปกติ ซึ่งทำให้สามารถดึงศักยภาพของบุคคลเหล่านี้ออกมาเพื่อเป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศได้ มากกว่าที่จะกีดกันและมองอย่างไม่เท่าเทียม สำหรับประเทศที่มีการดำเนินการเรื่องนี้ ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ได้มีประกาศกฎหมายการศึกษาพิเศษเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1975 (Education for All Handicapped Children Act of 1975)  ก่อนที่จะมีการปรับปรุงอีกครั้งในปี ค.ศ. 1997 โดยเปลี่ยนชื่อเป็นพระราชบัญญัติว่าด้วยการศึกษาของผู้ด้อยความสามารถ (Individuals with Disability Education Act-IDEA, Amendment of 1997) โดยใจความของกฎหมายนี้คือ กำหนดขอบเขตของผู้ด้อยความสามารถคือ ผู้ที่บกพร่องทางสติปัญญา ร่างกาย อารมณ์ ผู้ด้อยความสามารถในการเรียนรู้เฉพาะด้าน และรวมถึงผู้ที่ออกจากระบบการเรียนในช่วงวัย 3-21 ปี ซึ่งท้องถิ่นจะต้องเป็นผู้จัดการศึกษาให้ตอบสนองกับคนกลุ่ม นอกจากนี้คือต้องเน้นให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม โดยเน้นให้เกิดการเรียนร่วมกับผู้เรียนปกติให้ได้มากที่สุด และมีการจัดทำแผนเฉพาะของแต่ละบุคคคล

 

          ประเทศญี่ปุ่นมีการจัดทำหลักสูตรแห่งชาติสำหรับเด็กปกติและเด็กพิเศษ และมีการกำหนดเกณฑ์ความพิการไว้ โดยกระทรวงศึกษาธิการเพื่อคัดกรอก โดยเด็กที่มีระดับความพิการสูงจะเรียนในโรงเรียนการศึกษาพิเศษเฉพาะ ส่วนที่มีระดับต่ำ สามารถเรียนร่วมในชั้นเรียนปกติ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นดำเนินการสำรวจและให้คำแนะนำเรื่องการศึกษากับครอบครัวที่มีเด็กพิเศษในพื้นที่

 

          ประเทศนิวซีแลนด์ แม้จะไม่มีกฎหมายที่กล่าวถึงการศึกษาพิเศษอย่างชัดเจน แต่ได้กำหนดให้รัฐต้องให้การศึกษาแก่เด็กอายุ 5-19 ปี โดยไม่จำกัดว่าเด็กจะพิการหรือไม่ และมีหน่วยงานดูแลเรื่องการศึกษาพิเศษโดยเฉพาะให้กับเด็กและครอบครัวที่มีเด็กพิเศษ  และเน้นให้เกิดการเรียนร่วมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

          สำหรับในประเทศไทย ก่อนที่เรื่องของการศึกษาพิเศษจะได้รับความสนใจ ในปี ค.ศ. 1935 ได้ออกกฎหมายยกเว้นให้ผู้พิการไม่ต้องเข้าเรียน ก่อนที่กระทรวงศึกษาธิการจะเริ่มจัดการเรียนการสอนให้แก่เด็กพิการประเภทต่าง ๆ ในปี ค.ศ. 1951 และในปี ค.ศ. 1957 ด้วยพระกรุณาขอสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ มูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการในพระบรมราชินูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งทำให้การจัดการศึกษาพิเศษได้รับความสนใจมากขึ้น และต่อยอดมาจนถึงปัจจุบัน

 

ภาพ : shutterstock.com

 

          สำหรับรูปแบบของการจัดการศึกษาพิเศษในประเทศไทย มีหลักการที่สำคัญคือการเตรียมความพร้อม การจัดการเรียนการสอน และจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษในแต่ละระดับและแต่ละประเภท เพื่อให้พวกเขาได้รับประโยชน์สูงสุดจากการศึกษาตามศักยภาพของแต่ละบุคคล โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบคือ

          1. การเรียนร่วม เป็นรูปแบบของการที่เด็กที่มีความต้องการพิเศษเรียนร่วมกับเด็กปกติ  โดยมีทั้งแบบเต็มเวลา คือ เรียนร่วมกันทั้งวัน หรือเรียนร่วมเฉพาะบางวิชา

          2. การจัดตั้งโรงเรียนและศูนย์การเรียนเฉพาะเพื่อการศึกษาพิเศษ เป็นรูปแบบของโรงเรียนที่จัดขึ้นมาโดยเฉพาะสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษในแต่ละลักษณะ โดยมีทั้งการจัดตั้งเป็นโรงเรียนเฉพาะ เช่น โรงเรียนสอนคนหูหนวก โรงเรียนสอนคนตาบอด หรือโรงเรียนสำหรับเด็กปัญญาเลิศ เป็นต้น หรือจัดตั้งเป็นชั้นเรียนเฉพาะในโรงเรียนปกติ เช่น ชั้นเรียนเด็กพิเศษ หรือชั้นเรียนของเด็กที่มีความสามารถพิเศษ เป็นต้น

          3. การหมุนเวียนครูการศึกษาพิเศษ เป็นรูปแบบการส่งเสริมการศึกษาพิเศษสำหรับพื้นที่ที่ขาดแคลนครูการศึกษาพิเศษ หรือมีจำนวนเด็กที่มีความต้องการพิเศษไม่มากนัก โดยครูการศึกษาพิเศษจะหมุนเวียนไปตามโรงเรียนหรือศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กพิเศษเพื่อส่งเสริมและพัฒนาเด็กที่มีความต้องการพิเศษและเก็บข้อมูลความก้าวหน้า เพื่อรายงานกับหน่วยงานและต้นสังกัด เพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง

 

          แม้ว่าการศึกษาพิเศษจะเป็นแนวทางสากลเพื่อส่งเสริมศักยภาพมนุษย์ แต่ก็มีอุปสรรคมากมายในการดำเนินการ โดยเฉพาะการส่งเสริมการศึกษาพิเศษแบบการเรียนร่วมระหว่างเด็กที่มีความต้องการพิเศษกับเด็กปกติ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ครูและผู้บริหารโรงเรียนหลายแห่งยังไม่เข้าใจเรื่องของการศึกษาพิเศษ และมองว่าเด็กที่มีความต้องการพิเศษนั้นเป็นเด็กมีปัญหาและส่งผลกระทบที่ไม่ดีต่อโรงเรียน อีกทั้งยังเป็นการลงทุนที่สูงและไม่คุ้มค่า ในขณะที่ผู้ปกครองของเด็กที่มีความต้องการพิเศษเองหลายคนมองว่าเด็กไม่สามารถเรียนรู้ได้ และไม่เหมาะที่จะมาโรงเรียน เพราะกลัวเด็กจะโดนล้อหรือโดนว่า ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง

 

ภาพ : shutterstock.com

 

          จากปัญหาและอุปสรรคดังกล่าว ทำให้การศึกษาพิเศษ โดยเฉพาะแบบเรียนร่วมในโรงเรียนไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร แม้ว่าทางภาครัฐจะสนับสนุนให้โรงเรียนมีการจัดการเรียนร่วม เช่น ให้ค่าตอบแทนสำหรับครูการศึกษาพิเศษที่มีการส่งเสริมเรียนร่วม แต่เมื่อเทียบกับจำนวนเด็กที่มีความต้องการพิเศษที่แทรกซึมอยู่ในระบบโรงเรียนโดยขาดการเหลียวแลแล้ว ต้องบอกว่างบประมาณที่ทางภาครัฐลงทุนไปนั้นยังไม่ได้เกิดผลที่เหมาะสมเท่าที่ควร และเพื่อให้ทุกคนเห็นข้อดีของการส่งเสริมการศึกษาพิเศษแบบเรียนร่วม ต่อไปนี้คือข้อดีของการเรียนร่วมกันระหว่างเด็กที่มีความต้องการพิเศษและเด็กปกติ

             - การเรียนร่วมทำให้เด็กเรียนรู้ความแตกต่างระหว่างบุคคล รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา และมีเมตตา กรุณา มีน้ำใจ และพร้อมจะให้การช่วยเหลือผู้ที่ด้อยกว่า
             - การเรียนร่วมช่วยให้ไม่เกิดการแบ่งแยกบุคคลจากความแตกต่าง ความบกพร่อง หรือความพิการ และทำให้เด็กเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างเหมาะสม
             - การเรียนร่วมช่วยจำลองการใช้ชีวิตระหว่างคนปกติและคนที่มีความต้องการพิเศษ ทำให้ทั้งสองกลุ่มสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข
             - การเรียนร่วม ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดูแลเด็กที่มีความต้องการพิเศษและช่วยให้เด็กกลุ่มนี้เข้าสู่สังคมได้ดีขึ้น
             - การเรียนร่วมทำให้ไม่เห็นถึงความแตกต่างของบุคคล ซึ่งส่งผลดีต่อผู้ปกครองและตัวเด็ก ทำให้ไม่เครียดในการใช้ชีวิต และกล้าที่จะแสดงตัวมากขึ้น
             - การเรียนร่วม ช่วยส่งเสริมศักยภาพของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ทำให้พวกเขาค้นหาศักยภาพที่มีในตัวเองได้ดีขึ้น ซึ่งศักยภาพนั้นอาจนำมาสู่ประโยชน์ของโรงเรียน ชุมชน ตลอดจนประเทศชาติได้ในภายหลัง
             - การเรียนร่วมช่วยสร้างความเข้าใจอันดีเกี่ยวกับเรื่องราวของเด็กที่มีความต้องการพิเศษให้กับบุคคลทั่วไป และแสดงให้เห็นว่าเด็กที่มีความต้องการพิเศษนั้นสามารถอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างเป็นปกติ
             - การเรียนร่วม เป็นแนวทางสากลในการส่งเสริมการศึกษาพิเศษ ซึ่งถ้าประเทศไทยสามารถดำเนินงานได้อย่างดี จะได้รับความชื่นชมจากชาวโลก ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ

 

          การส่งเสริมการศึกษาพิเศษด้วยการเรียนร่วมนั้น นอกจากจะเป็นการดำเนินการตามแนวทางของการศึกษายุคใหม่แล้ว ยังช่วยอุดช่องโหว่ และพัฒนากลุ่มของเด็กที่มีความต้องการพิเศษนี้ให้มีศักยภาพเพียงพอต่อการใช้ชีวิตหรือเทียบเคียงกับเด็กปกติได้ และอาจช่วยให้เด็กค้นพบศักยภาพพิเศษที่ช่วยในการพัฒนาในหลาย ๆ ด้าน ถ้าเราเปิดใจและมองเห็นศักยภาพของเด็กกลุ่มนี้ในสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้ เราจะกล้าลงทุนกับการศึกษาพิเศษนี้ และมองเห็นความคุ้มค่าของสิ่งนี้แน่นอน

 

เอกสารอ้างอิง

http://elearning.psru.ac.th/courses/44/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%201.pdf

http://202.151.176.107:8080/public/education.do?cmd=goView&id=18

http://e-book.ram.edu/e-book/e/ES203/ES203(50)-5.pdf

http://special.obec.go.th/index.php

http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=16&chap=10&page=t16-10-infodetail06.html

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow