Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทำอย่างไร เมื่อลูกไม่พูด...สักที

Posted By สุภาพรรณ ศรีสุข | 11 ก.ย. 62
6,395 Views

  Favorite

ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจก่อนว่า การที่เด็กจะมีการเรียนรู้ภาษาที่ดีทั้งการอ่านออกเสียง และการพูดนั้น เขาต้องการต้นแบบที่ดี ดังนั้นเป็นไปไม่ได้เลย หากพ่อแม่อยากให้ลูกพูดเก่ง แต่พ่อแม่ไม่พูดกับลูกเลย แล้วลูกจะเอาต้นแบบที่ดีมาจากที่ไหน

 
มีครอบครัวจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจว่า การพูดของเด็กนั้นเกิดจากการสะสม “คำศัพท์” จากการฟังพ่อแม่ และคนรอบข้างที่ให้การเลี้ยงดูเป็นหลัก ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ พ่อแม่และคนที่เลี้ยงดูจะต้องให้ความสำคัญ หมั่นใส่ใจคอยเติม “คลังคำศัพท์” ให้กับลูก เพื่อให้ลูกสามารถนำคำศัพท์เหล่านั้นมาใช้ได้ในเวลาที่ต้องการ วันนี้แม่แหม่มจึงมีวิธีการง่าย ๆ  ที่จะช่วยฝึกทักษะการพูดให้กับลูกมาฝากกันค่ะ
 
ภาพ : Shutterstock

 

วิธีการ

1. อย่าเข้าใจในสิ่งที่ลูกไม่ได้บอก 

มีพ่อแม่ พี่เลี้ยง หรือคนในครอบครัวจำนวนมาก ที่แสดงความเข้าใจต่อลูกในทุกเรื่องโดยที่ลูกไม่จำเป็นต้องสื่อสาร อาจเป็นเพราะความรักและความใกล้ชิด จึงทำให้พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูเหล่านี้มีความเข้าใจความต้องการของเด็กไปเสียหมด แต่หารู้ไม่ว่าสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่นี้เป็น “อุปสรรค” ตัวร้ายต่อพัฒนาการทางภาษาของเด็ก เพราะการที่เด็กรู้สึกว่าเขาสามารถสื่อสารกับคนอื่นได้โดยที่ไม่ต้องพูด เขาก็จะไม่เห็นความจำเป็นของการพูด
 
ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าเด็กพวกนี้จะไม่พูดแต่จะใช้การชี้ หรือแค่ส่งเสียง อื้อ อ้า เพื่อแสดงความต้องการ และถ้าไม่มีใครเข้าใจก็จะเลือกวิธีร้องไห้อาละวาดเพื่อแสดงออกว่าสิ่งนั้นไม่ใช่ ซึ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้นอกจากเด็กจะมีปัญหาเรื่องของการสื่อสารแล้ว ยังจะส่งผลให้เด็กมีปัญหาในเรื่องของอารมณ์อีกด้วย ดังนั้นจงจำไว้ว่า “เรารักลูกด้วยใจ แต่เราเข้าใจลูกด้วยการสื่อสาร” 
 

2. หมั่นพูดซ้ำ ย้ำ ทวน ในแต่ละวัน

นอกจากการทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ร่วมกันแล้ว พ่อแม่ควรมีกิจกรรมสอดแทรกให้ลูกได้เรียนรู้ภาษาในชีวิตประจำวันไปด้วยกัน โดยการสอนคำง่าย ๆ เช่น อาบน้ำ ทานข้าว กินนม และฝึกเรียกชื่อสิ่งของไม่ว่าจะเป็น โต๊ะ เก้าอี้ รองเท้า เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้คำศัพท์จากการกระทำและสิ่งของรอบตัว ซึ่งจะช่วยทำให้ลูกมีความเข้าใจในความหมายของคำนั้น ๆ และจดจำคำนั้นได้ง่ายขึ้น
 

3. ฝึกให้ลูกเป็น “นักเล่า”

จริง ๆ แล้วในช่วงวัยเด็กตั้งแต่ 3 ขวบขึ้นไปนั้นจะเริ่มเป็นวัยแห่งการเป็น “นักเล่าเรื่อง” เพราะเด็กวัยนี้จะเริ่มมีประสบการณ์ใหม่ ๆ เข้ามาในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเข้าโรงเรียน การได้เจอผู้คนมากขึ้น หรือการได้ทำกิจกรรมใหม่ ๆ ซึ่งในช่วงท้ายของแต่ละวันพ่อแม่อาจจะมีการพูดคุยเพื่อให้ลูกเล่าเรื่องราวที่ผ่านมาแต่ละวัน ซึ่งถือเป็นการฝึกทักษะทางภาษา ฝึกให้ลูกได้เรียบเรียงประโยค และการใช้คำได้เป็นอย่างดี 

 

เพราะการเลี้ยงดูลูกนั้น ใช่แต่เพียงการเลี้ยงดูให้เจริญเติบโตแต่เพียงร่างกายเท่านั้น แต่การฝึกฝนและเพิ่มเติมทักษะต่าง ๆ ให้ลูกด้วยนั้นก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะทักษะการสื่อสาร เพราะการเป็น “นักสื่อสาร” ที่ดี คือพื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้และอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

 
 
 

สุภาพรรณ ศรีสุข (ครูแหม่ม)
ที่ปรึกษาวิชาการ โรงเรียนศิลปพัฒนาการสมองเด็ก K.D.S.

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • สุภาพรรณ ศรีสุข
  • 4 Followers
  • Follow