Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วิเคราะห์นโยบายการศึกษาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่

Posted By pimchanok pangsoy | 04 ก.ย. 62
6,221 Views

  Favorite

นรรัชต์  ฝันเชียร

 

              หลังจากวันเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ในที่สุดเราก็ได้เห็นโฉมหน้าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งมาจากการเลือกตั้งครั้งแรกตามแนวทางรัฐธรรมนูญ หลังจากที่ประเทศไทยตกอยู่ท่ามกลางการรัฐประหารมาเป็นระยะเวลานาน และแม้ว่าหน้าตาของคณะรัฐมนตรีชุดนี้ จะเป็นหน้าเดิมหรือหน้าใหม่ ซึ่งอาจจะถูกใจหรือไม่ถูกใจใคร แต่หนึ่งในเรื่องที่หลายๆคนจับตามอง ไม่แพ้เรื่องปากท้องและเศรษฐกิจ นั่นคือเรื่องของการศึกษา

 

              นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ คือผู้รับไม้ต่อจากนายแพทย์ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ให้นั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ในคณะรัฐบาลชุดนี้  โดยมี ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิชและนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ เป็นรัฐมนตรีช่วย ซึ่ง​ภายหลังที่เข้ารับตำแหน่งก็ได้มีการมอบนโยบาย ซึ่งนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบนโยบายในการปฏิรูปการศึกษา ซึ่เป็นสิ่งที่เราควรรู้ไว้ดังต่อไปนี้

 

              ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาคนไทยในทุกมิติและในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี เก่งและมีคุณภาพ โดยเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต สุขภาวะ และความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทย เพิ่มพูนผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมถึงการพัฒนาสังคมและสถาบันครอบครัว โดยมีแนวทางในการดำเนินงานดังนี้

              1. การปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม โดยมุ่งเน้นให้สถาบันทางสังคมร่วมปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรมที่พึ่งประสงค์ ประกอบด้วย
                 -  การปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรมผ่านการเลี้ยงดูในครอบครัว

                 -  บูรณาการเรื่องความซื่อสัตย์ วินัยคุณธรรม จริยธรรม ในการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษา

                 -  การสร้างความเข้มแข็งในสถาบันทางศาสนา

                 -  การปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรมโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน

                 -  การสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมที่พึ่งประสงค์จากภาคธุรกิจ

                 -  การใช้สื่อและสื่อสารมวลชนในการปลูกฝังค่านิยมและวัฒนาธรรมของคน

                 -  การส่งเสริมให้คนไทยมีจิตสาธารณะและมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม

 

              2. การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเชิงคุณภาพ ในทุกช่วงวัย ประกอบด้วย 

                 -  ช่วงการตั้งครรภ์/ปฐมวัย เน้นการเตรียมความพร้อมให้แก่พ่อแม่ก่อนการตั้งครรภ์

                 -  ช่วงวัยเรียน/วัยรุ่น ปลูกฝังความเป็นคนดี มีวินัยพัฒนาทักษะการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21

                 -  ช่วงวัยแรงงาน ยกระดับศักยภาพ ทักษะและสมรรถนะแรงงานสอดคล้องกับความต้องการของตลาด และพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับประเทศไทย 

 

              3. ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีทักษะการเรียนรู้และมีใจใฝ่เรียนรู้ตลอดเวลา โดยประกอบด้วย

                 -  การปรับเปลี่ยนระบบการเรียนรู้ให้เอื้อต่อการพัฒนาทักษะสำหรับศตวรรษที่ 21

                 -  การเปลี่ยนโฉมบทบาท “ครู” ให้เป็นครูยุคใหม่ โดยเน้นให้ครูเป็นโค้ช หรือผู้อำนวยการเรียนรู้ให้กับเด็ก

                 -  การเพิ่มประสิทธิภาพระบบ บริหารจัดการศึกษาในทุกระดับ ทุกประเภท

                 -  การพัฒนาระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต

                 -  การสร้างความตื่นตัวให้คนไทยตระหนักถึงบทบาท ความรับผิดชอบ และการวางตำแหน่งของประเทศไทยในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์และประชาคมโลก

                 -  การวางพื้นฐานระบบรองรับการเรียนรู้โดยใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์ม

                 -  การสร้างระบบการศึกษาเพื่อเป็นเลิศทางวิชาการระดับนานาชาติ

 

              4. การตระหนักถึงพหุปัญญาของมนุษย์ที่หลากหลาย ซึ่งประกอบด้วย

                 -  การพัฒนาและส่งเสริมพหุปัญญาผ่านครอบครัว ระบบสถานศึกษา สภาพแวดล้อม รวมทั้งสื่อตั้งแต่ระดับปฐมวัย

                 -  การสร้างเส้นทางอาชีพ สภาพแวดล้อมการท างาน และระบบสนับสนุน ที่เหมาะสมส าหรับผู้มีความสามรถพิเศษผ่านกลไกลต่างๆ

                 -  การดึงดูดกลุ่มผู้เชี่ยวชาญต่างชาติและคนไทยที่มีความสามารถในต่างประเทศให้มาสร้างและเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับต่างประเทศ

 

นอกจากนี้ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยังได้กล่าวถึงการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกในระดับสากลที่ทุกประเทศต่างให้ความสำคัญ ซึ่งได้ให้แนวทางไว้ดังนี้

              1. สร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ใหม่ในระบบดิจิตอล

              2. ปรับปรุงรูปแบบการเรียนรู้ มุ่งสู่ระบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีด้านวิศวกรรม คณิตศาสตร์โปรแกรมเมอร์ และภาษาต่างประเทศ

              3. ส่งเสริมการเรียนคอมพิวเตอร์ (Coding) ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา

              4. การพัฒนาโรงเรียนคุณภาพในทุกตำบล

              5. ส่งเสริมการพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ของสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ของ สถาบันการศึกษาสู่สาธารณะ

              6. เชื่อมโยงระบบการศึกษากับภาคปฏิบัติจริงในภาคธุรกิจ

              7. สร้างนักวิจัยใหม่และนวัตกรเพื่อเพิ่มศักยภาพและนวัตกรรมของประเทศ

              8. สร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสื่อออนไลน์และโครงข่ายสังคมออนไลน์ของไทย เพื่อป้องกันและลดผลกระทบในเชิงสังคม ความปลอดภัย อาชญากรรมไซเบอร์ และสามารถใช้ เทคโนโลยี

              9. เป็นเครื่องมือในการกระจายข่าวสารที่ถูกต้อง สร้างความสมานฉันท์ ความสามัคคีในสังคม

              10. ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต

 

ภาพ : shutterstock.com

 

              จากนโยบายด้านการศึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เราสามารถวิเคราะห์ในประเด็นสาระสำคัญ ซึ่งน่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ มิติได้ดังนี้

              1. เน้นความสำคัญที่การพัฒนาการศึกษา เพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาในศตวรรษที่ 21 ค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากในการพัฒนาในโลกยุคปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเน้นการพัฒนาคนในทุกช่วงวัย โดยมีการส่งเสริมให้มีการเพิ่มพูนทักษะ(Reskill) และพัฒนาทักษะ (Upskill) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน

              2. มีการส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้และเน้นการส่งเสริมนวัตกรรม และให้ทุกคนมีทักษะในการใช้เทคโนโลยี เพื่อตอบสนองต่อโลกเทคโนโลยี อันจะมีเรื่องของ AI เข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น

              3. เปลี่ยนแปลงบทบาทของครูจาก ครูผู้สอนปกติ เป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งเสริมให้นักเรียนเรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งตรงตามแนวการศึกษาสมัยใหม่

              4. ให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัวและชุมชนในการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมให้กับผู้เรียน พร้อมทั้งเน้นการส่งเสริมสุขภาพและการเรียนรู้ตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งนับเป็นแนวทางที่ดี เพราะส่งเสริมในเรื่องสุขภาพพลานามัยของผู้เรียน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการพัฒนา และไม่ได้เน้นแค่การสร้างผู้เรียนที่เก่งและมีประสิทธิภาพเพียงอย่างเดียว แต่เน้นให้ผู้เรียนเป็นคนดีและมีความรับผิดชอบด้วย  

              5. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาในระดับชาติเพื่อวางตำแหน่งของประเทศไทยในระดับภูมิภาคและในระดับโลก รวมถึงส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการในระดับนานาชาติ นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้เกิดนักวิจัยและนักพัฒนานวัตกรรมใหม่ ซึ่งแนวทางนี้นับว่าเป็นจุดเด่นที่จะช่วยยกระดับความสามารถของประเทศไทยในการแข่งขันกับนานาชาติมากยิ่งขึ้น

 

              ถึงตรงนี้ก็คงต้องดูกันต่อไปว่านโยบายด้านการศึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่นี้ จะเป็นจริงหรือสามารถดำเนินการให้ลุล่วงได้มากน้อยแค่ไหน เรื่องนี้ไม่เกี่ยวว่าจะพรรคไหน ฝ่ายไหน ถ้าเราไม่มองการศึกษาในมุมมองเดียวกันให้ได้ก่อน การพัฒนาด้านการศึกษาก็ไม่เกิด เช่นนี้แล้วก็คงต้องแล้วแต่ท่านรัฐมนตรีว่าจะมีมาตรการในการพัฒนาและส่งเสริมอย่างไรให้สามารถขับเคลื่อนนโยบายไปได้อย่างเหมาะสมมากที่สุด ซึ่งหวังว่าท่านจะดำเนินการได้อย่างดีและยินดีกับการรับตำแหน่งใหม่ในครั้งนี้

 

เอกสารอ้างอิง

https://www.kruwandee.com/news-id41124.html

https://workpointnews.com/2019/07/19/policy-natthapon/

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • pimchanok pangsoy
  • 1 Followers
  • Follow