Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ว่าด้วยเรื่องของอาหารกลางวันโรงเรียน

Posted By pimchanok pangsoy | 04 ก.ย. 62
8,094 Views

  Favorite

นรรัชต์  ฝันเชียร

 

              โครงการอาหารกลางวันโรงเรียนในประเทศไทย เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 โดยกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้นได้ทดลองจัดอาหารกลางวันแก่นักเรียนของโรงเรียนในสังกัด ซึ่งต่อมาพบว่าโรงเรียนในสังกัดหลายแหล่งขาดแคลนงบประมาณทำให้ไม่สามารถจัดอาหารกลางวันให้นักเรียนได้อย่างทั่วถึง ต่อมาในปี พ.ศ 2530 สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ได้เล็งแห่งความสำคัญของโครงการนี้ จึงได้มีการกำหนดนโยบายให้โรงเรียนดำเนินการโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนในทุกโรงเรียน โดยให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530 เพื่อเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรภายใต้คำขวัญ “60 พรรษามหาราชา เด็กประถมศึกษาไม่หิวโหย” ก่อนที่จะมีการต่อยอดและพัฒนา จนนำมาสู่การออกพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวัน ในโรงเรียนประถมศึกษา ในปี พ.ศ.2535

 

              ปัจจุบันโครงการอาหารกลางวันนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 กระทรวงศึกษาธิการได้ถ่ายโอนงบประมาณค่าอาหารกลางวันนักเรียนไปให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย ในการแจกจ่ายให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้จัดตั้ง และจัดสรรงบประมาณเอง มาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 จนถึงปัจจุบัน

 

              เมื่อต้นปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ได้โอนงบประมาณรายจ่าย เงินอุดหนุนทั่วไป  ตาม แผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในไตรมาสที่ 3 (เม.ย.-มิ.ย. 2562) ในวงเงิน 8,143,101,573 บาท เพื่อนำไปดำเนินการในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน และโครงการอาหารกลางวัน ในภาคเรียนที่ 1/2562  ซึ่งงบประมาณเฉพาะในส่วนของโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนนั้นแบ่งเป็น รายการเงินอุดหนุนสำหรับอาหารกลางวัน (ประถมศึกษา) วงเงิน 4,562,535,000 บาท และ เงินอุดหนุนสำหรับอาหารกลางวัน (ปฐมวัย) วงเงิน 989,789,660 บาท ซึ่งได้แจกจ่ายให้กับ อปท. 239 แห่ง ในพื้นที่ 76 จังหวัด โดยในการแจกจ่ายงบประมาณนั้น จะพิจารณาตั้งงบประมาณอาหารต่อมื้อในอัตรา มื้อละ 20 บาทต่อคน ซึ่ง อปท. ต้องอุดหนุนอาหารกลางวันให้กับโรงเรียนและสถานศึกษาในพื้นที่อันได้แก่

 

              1. โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

              2. โรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

              3. โรงเรียนสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.)

              4. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) ที่ อปท. จัดตั้งขึ้นเองและรับถ่ายโอน

              5. สถานศึกษาสังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียน (ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบนพื้นที่ราบสูง)

              6. สถานศึกษาสังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

 

              ซึ่งการตั้งงบประมาณอาหารต่อมื้อในอัตรา มื้อละ 20 บาทต่อคนนั้น เป็นอัตรางบประมาณที่จัดสรรตามโครงการ แต่อย่างไรก็ดี ถ้า อปท. ใดพิจารณาเห็นว่างบประมาณค่าอาหารกลางวันนั้น ไม่เพียงพอ ก็สามารถกำหนดรายการอาหารกลางวันที่เหมาะสมในอัตราที่มากกว่า 20 บาท ได้ โดยให้ อปท. พิจารณานำเงินรายได้ของ อปท. เองสมทบเพิ่มเติม

 

 

ภาพ : shutterstock.com

 

              จากตัวเลขงบประมาณในโครงการนี้จะเห็นได้ว่ามีงบประมาณที่สูงพอสมควร แต่เนื่องจากการพิจารณางบประมาณที่อิงตามรายหัวนักเรียนเป็นหลักในการจัดสรร ทำให้โรงเรียนใหญ่ที่มีนักเรียนจำนวนมากจึงได้เปรียบกว่าโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะในขณะที่โรงเรียนใหญ่สามารถจัดเมนูอาหารได้หลากหลายมากกว่าเนื่องจากได้รับงบประมาณมาก โรงเรียนเล็กกลับมีข้อจำกัดในการจัดอาหารกลางวันตามเมนู เรื่องนี้นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบัน ต่างมีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า หลักการให้เงินอาหารกลางวันในอัตรารายหัวนักเรียน คนละ 20 บาท เท่ากันทั่วประเทศนั้นไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสม เพราะสัดส่วนและรูปแบบของสถานศึกกษาแต่ละแห่งนั้นมีแตกต่างกัน จึงได้มีการสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปวิเคราะห์แนวทางในการจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมมากขึ้น

 

              นอกจากนี้ โครงการนี้แม้จะเป็นโครงการที่มีประโยชน์อย่างมากต่อสุขภาวะของนักเรียน แต่กลับมีช่องโหว่มากมายในการทุจริต เช่น บางโรงเรียนไม่สั่งซื้อวัตถุดิบอาหารตามที่ชี้แจงในเอกสาร หรือ ไม่มีการตรวจสอบการจัดทำอาหารในแต่ละวันของผู้จ้างเหมา ซึ่งอาจจะมีการสุจริต ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้นักเรียนไม่ได้รับประทานอาหารที่มีคุณภาพ

 

              ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้โครงการนี้ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ). จึงได้กำหนดแนวทางในการดำเนินงานโครงการอาหารกลางวันโรงเรียน ไว้ 5 ประเด็น ดังนี้

              1. มอบนโยบายให้ทุกโรงเรียนจัดให้มีโครงการอาหารกลางวันอย่างมีคุณภาพ

              2. มีกระบวนการนิเทศ ติดตาม กำกับ ประเมินผลระดับเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง

              3. มีประกาศให้สถานศึกษาในสังกัดเป็นสถานศึกษาปลอดภัย ส่งเสริมให้โรงเรียนและชุมชนร่วมกันทำเกษตรอินทรีย์ และนำวัตถุดิบเข้าสู่โครงการอาหารกลางวัน เพื่อให้นักเรียนบริโภคอาหารที่ปลอดภัย เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง

              4. เน้นย้ำให้ทุกโรงเรียนได้ใช้โปรแกรม Thai School Lunch เพื่อวางแผนการจัดอาหารที่มีคุณภาพ นักเรียนได้รับประทานอาหารครบ 5 หมู่

              5. จัดอบรมเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบอาหารกลางวันระดับเขตพื้นที่การศึกษา ในเรื่องการจัดอาหารที่ปลอดภัย ขยายผลสู่โรงเรียนให้ครูผู้รับผิดชอบเป็นนักโภชนาการประจำโรงเรียน

 

ภาพ : shutterstock.com

 

              เด็กและเยาวชนควรได้รับอาหารที่ดีและมีประโยชน์ ถูกหลักโภชนาการ ตามเจตนารมณ์ของโครงการอาหารกลางวันโรงเรียน การทุจริตโครงการอาหารกลางวันนับว่าเป็นความผิดร้ายแรงถึงขั้นไล่ออกจากราชการ แต่กลับพบว่ามีการล่อสุจริตโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนอยู่บ่อยครั้ง สิ่งหนึ่งก็เพราะความเห็นแก่ได้ของผู้รับผิดชอบบางคนที่ต้องการหาประโยชน์จากงบประมาณตรงนี้ ถ้าเราสามารถขจัดเรื่องของคอรัปชั่นออกไปได้ โครงการอาหารกลางวันโรงเรียนจะเป็นโครงการคุณภาพที่เป็นประโยชน์กับนักเรียนเป็นอย่างมาก

 

เอกสารอ้างอิง

https://www.thairath.co.th/news/local/northeast/1608903

https://www.kruwandee.com/news-id41389.html

http://www.obecschoollunch.com/history/

https://www.tcijthai.com/news/2019/5/scoop/9064

https://www.kroobannok.com/87072

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • pimchanok pangsoy
  • 1 Followers
  • Follow