Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

6 กลวิธีสำหรับครูปฐมวัยแห่งศตวรรษที่ 21

Posted By Plook Teacher | 02 ก.ค. 62
28,814 Views

  Favorite

นรรัชต์ ฝันเชียร

 

          ในการจัดการศึกษาที่ตอบสนองต่อการพัฒนาในศตวรรษที่ 21 นอกเหนือจากการปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนสามารถปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้แล้ว ครูยังต้องส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ให้นักเรียนมีทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถแก้ไขปัญหาในการสื่อสาร รู้จักการทำงานร่วมกัน รับรู้กระแสโลก และมีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องเฉพาะของระดับชั้นใดชั้นหนึ่ง เพราะเราต้องสามารถบูรณาการการเรียนรู้ให้ตอบสนองต่อการพัฒนาในศตวรรษที่ 21 ได้ในทุกระดับชั้น ไม่เว้นแม้แต่ระดับปฐมวัย

 

          Bevin Kateri Reinen อาจารย์และนักเขียนจาก Virginia Beach ได้นำเสนอบทความที่ชื่อว่า หกกลวิธีสำหรับครูปฐมวัยแห่งศตวรรษที่ 21 (Six Strategies for 21st Century Early Childhood Teachers) โดยเผยแพร่ลงในเว็บไซต์ที่มาชื่อว่า Earlychildhoodteacher.org ซึ่งนับว่าเป็นบทความที่น่าสนใจในการบอกถึงวิธีการส่งเสริมการเรียนรู้ของครูสำหรับเด็กปฐมวัยให้สอดคล้องกับการพัฒนาในศตวรรษที่ 21 ซึ่ง หกกลวิธีที่กล่าวถึงนั้น มีดังนี้

 

          1. รู้จักใช้เทคโนโลยีแบบบูรณาการ

          เด็กในยุคสมัยนี้อยู่ท่ามกลางการใช้เทคโนโลยีและสังคมออนไลน์ เด็กหลายคนสามารถเข้าใจการทำงานของเทคโนโลยีได้มากกว่าผู้ใหญ่แบบเราๆเสียอีก ในการปฏิสัมพันธ์กับเด็กกลุ่มนี้ ครูจำเป็นที่ต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ในการเชื่อมโยงเด็กเหล่านี้ และบูรณาการเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับพวกเขา เพื่อดึงดูดความสนใจของนักเรียนและเสริมสร้างทักษะทางในการใช้เทคโนโลยีให้กับพวกเขา เพื่อให้พวกเขาสามารถเรียนรู้ได้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

          2. สร้างโครงสร้างการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม

          การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญนั้น ควรเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง ครูที่มีประสิทธิภาพจะเน้นการจัดการเรียนรู้โดยให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ และปรับบทบาทของตัวครูเองจากที่เป็นผู้สอน มาเป็นผู้แนะนำมากขึ้น การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในห้องเรียน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้นักเรียนมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในการเรียนรู้ และมุ่งให้นักเรียนเกิดองค์ความได้ด้วยตัวเองอีกด้วย

          3. สร้างสรรค์การสอนที่แตกต่าง

          ครูปฐมวัยในศตวรรษที่ 21 ต้องสามารถปรับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อตอบสนองความต้องการของนักเรียนที่แตกต่างกันในห้องเรียนได้ โดยผ่านการเรียนรู้ในสามรูปแบบหลัก คือ จากการมองเห็น การได้ยิน และการเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งรูปแบบการเรียนรู้ของเด็กนี้จะอธิบายลักษณะของเด็กและประเภทของกิจกรรมที่ตอบสนองต่อการพัฒนาที่ดีของเขา การให้เด็กได้มีโอกาสเลือกทำกิจกรรมที่หลากหลายตามความสนใจจะช่วยให้พวกเขาเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          4. ตั้งค่าเป้าหมาย

          การมีส่วนร่วมของเด็กในกระบวนการกำหนดเป้าหมายเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการสนับสนุนให้พวกเขารู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ ซึ่งในระยะแรกการตั้งเป้าหมายจะต้องทำอย่างชัดเจนและเรียบง่าย ยกตัวอย่างเช่นการตกลงกับเด็ก ๆ เกี่ยวกับเป้าหมายของพวกเขา ครูสามารถอำนวยความสะดวกในการกำหนดเป้าหมายเพิ่มเติมผ่านการใช้ตัวช่วย เช่นสมุดบันทึก แผนภูมิและเครื่องมือต่างๆ ที่ทำให้เด็กเห็นถึงการก้าวไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ สิ่งนี้จะช่วยให้เด็กรู้สึกอยากบรรลุเป้าหมายนั้นและได้ทบทวนตัวเองด้วย

          5. การสอนข้ามหลักสูตร

          ตรงกันข้ามกับการสอนแบบดั้งเดิมที่แต่ละวิชาแยกจากกัน การสอนสมัยใหม่ต้องสามารถบูรณาการการเรียนรู้หลายวิชาพร้อมกันได้ ซึ่งการทำเช่นนี้สามารถช่วยให้เด็กปฐมวัย เรียนลึกลงไปในแนวคิดและทักษะการเรียนรู้ตามธรรมชาติ ซึ่งเราสามารถผสมผสานเนื้อหาคณิตศาสตร์วิทยาศาสตร์หรือสังคมศึกษาเข้ากับการอ่านหรือการเขียนได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามการสอนแบบนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก ซึ่งเราอาจจะต้องกิจกรรมรูปแบบนี้ โดยการให้เด็กทำโครงงานเกี่ยวข้องกับพวกเขา เพราะการทำโครงงานมีผลลัพธ์เป็นรูปธรรม การเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นตัวตั้งคือแนวทางการพัฒนาวิธีแก้ไขปัญหาในโลกแห่งความจริง ในการเรียนรู้แบบสืบเสาะนั้นเด็ก ๆ จะตั้งคำถามของตนเองตามความสนใจหรือความสนใจของพวกเขา วิธีการเหล่านี้ทำงานได้ดีเพราะครูไม่เพียง แต่บอกนักเรียนว่าพวกเขาควรรู้อะไร แต่พวกเขาให้เด็กมีส่วนร่วมในการสำรวจและเปิดเผยข้อมูลด้วยวิธีที่มีความหมายมากขึ้น ซึ่งวิธีการเหล่านี้ไม่เพียง แต่สนุก แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก ๆ และกระตุ้นให้เกิดการร่วมมือกันอีกด้วย

          6. การประเมินเพื่อการเรียนรู้

          การประเมินหลังจัดการเรียนรู้ หรือการประเมินระหว่างการเรียนรู้ เป็นกระบวนการรวบรวมข้อมูลที่ครูสามารถใช้ในการปรับปรุงแผนการสอนและรูปแบบการจัดประสบการณ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของเด็กได้ การประเมินผลปลายทางเพียงอย่างเดียว นอกจากจะไม่ได้ให้ภาพที่ชัดเจนเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กรู้แล้ว ยังเป็นการรวบรวมข้อมูลที่สายเกินไป เพื่อป้องกันปัญหานี้ครูสามารถติดตามผลการเรียนรู้ของเด็ก โดยใช้การสังเกต การตั้งคำถาม กลวิธีการอภิปรายในชั้นเรียน การบันทึกการเรียนรู้ การประเมินจากเพื่อน การประเมินตนเองและการประเมินในแบบอื่นๆที่สอดคล้องกับเด็ก การประเมินผลอย่างต่อเนื่องเหล่านี้จะช่วยให้ครูสามารถจับจังหวะการเรียนรู้ในห้องเรียนเพื่อให้แน่ใจว่านักเรียนกำลังเรียนรู้อย่างเหมาะสม

 

ภาพ : shutterstock.com

 

          และนี่คือ หกกลวิธีที่ครูปฐมวัยสามารถนำไปประยุกต์ใช้ เพื่อให้เป็นครูที่ส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็กโดยสอดคล้องกับการพัฒนาในศตวรรษที่ 21 ได้ ซึ่งได้สรุปและเรียบเรียงให้เพื่อให้เพื่อนครูปฐมวัยนำไปปรับใช้ในการจัดประสบการณ์สำหรับเด็ก เพื่อให้ก้าวทันในยุคสมัยนี้

 

          จะเห็นได้ว่าประเด็นเรื่องของการส่งเสริมการพัฒนาในศตวรรษที่ 21 นั้น ไม่ได้เฉพาะเจาะจงอยู่ที่ระดับการศึกษาใดโดยเฉพาะ แต่เพราะประเด็นนี้เป็นกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ไม่อาจหยุดยั้งหรือรอรีได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างพลเมืองในศตวรรษที่ 21 อย่างเหมาะสมในทุกกลุ่ม โดยเฉพาะในสถาบันการศึกษาที่มีหน้าที่บ่มเพาะพลเมืองของแต่ละประเทศ จึงจักต้องจัดการศึกษาเพื่อตอบสนองตรงส่วนนี้ตั้งแต่รากฐานและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศไทยยังคงสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ และสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ในภายภาคหน้า

 

 

 

อ้างอิงจาก

https://www.earlychildhoodteacher.org/blog/six-strategies-for-21st-century-early-childhood-teachers/

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow