Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เรียนร่วมกันตามความสามารถ ปฏิรูปหลักสูตรมัธยมศึกษาใหม่ในสิงคโปร์

Posted By Plook Teacher | 13 มิ.ย. 62
4,673 Views

  Favorite

นรรัชต์ ฝันเชียร

 

            สิงคโปร์นับเป็นประเทศหนึ่ง ที่มีจุดเด่นในด้านการพัฒนาการศึกษาซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลก ซึ่งนอกจากจะเป็นผู้นำด้านระบบการศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ในระดับเอเชียและระดับโลก ชื่อของประเทศสิงคโปร์ในเรื่องของการศึกษาก็นับว่าอยู่ในอันดับต้น ๆ และล่าสุดในการสอบวัดผลพิซา (PISA) ครั้งที่ผ่านมา ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งประเมินนักเรียนจาก 75 ประเทศในด้านวิทยาศาสตร์, คณิตศาสตร์ และความสามารถในการอ่านก็พบว่านักเรียนจากสิงคโปร์สามารถทำคะแนนได้เป็นอันดับที่ 1 ซึ่งเป็นเครื่องการันตีได้อย่างดีถึงคุณภาพของระบบการศึกษาในประเทศที่เป็นเพียงเกาะเล็ก ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกที่มีนามว่าสิงคโปร์

 

กว่าจะเป็นประเทศสิงคโปร์

            เชื่อหรือไม่ว่า ประเทศสิงคโปร์ เพิ่งเกิดขึ้นมาเมื่อปี 1965 ที่ผ่านมา โดยได้รับเอกราชมาจากมาเลเซีย และก่อนหน้านี้ก็อยู่ในความดูแลของเครือจักรภพอังกฤษ ซึ่งครั้งนั้นประเทศสิงคโปร์ยังไม่ได้เจริญแบบในปัจจุบัน การศึกษายังจำกัดเฉพาะขนชั้นนำเท่านั้น และทรัพยากรในประเทศก็ไม่เอื้อให้สิงคโปร์เติบโต ด้วยความที่เป็นเกาะ ทรัพยากรภายในประเทศมีอยู่อย่างจำกัด ขนาดน้ำจืดยังต้องนำเข้ามา และตลาดภายในก็เล็กเกินไปที่จะพัฒนาเชิงอุตสาหกรรม แถมสิงคโปร์ยังประสบปัญหาหลายอย่างภายในประเทศ เช่น ภัยจากคอมมิวนิสต์ ปัญหาเชื้อชาติ ปัญหาการว่างงานและการประท้วงของสหภาพแรงงาน จนถึงการขาดแคลนที่อยู่อาศัยและที่หนักที่สุดคือการที่ประชาชนทั่วไปขาดการศึกษา นาย เอส. ราจารัตนาม (S. Rajaratnam) รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ในช่วงสมัยนั้น ถึงกับกล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ในแง่การเมือง เศรษฐกิจ และทางทหาร โอกาสรอดของสิงคโปร์เกือบศูนย์” ซึ่งเป็นคำกล่าวที่อธิบายถึงความยากลำบากของสิงคโปร์ในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี แล้วอะไรล่ะ ที่ทำให้สิงคโปร์กลับกลายมาเป็นประเทศที่ถือมั่งคั่งที่สุดในภูมิภาค

            ถึงแม้ว่าสิงคโปร์ในครั้งนั้นจะมีปัญหามากมายรุมเร้า แต่จุดแข็งอย่างหนึ่งที่นับเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์ก็คือการเป็นท่าเรือน้ำลึกแห่งสำคัญในภูมิภาคที่เชื่อมมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้สิงคโปร์ได้เปรียบทางด้านการค้าและจากการเป็นศูนย์กลางการบริหารและทางทหารของอังกฤษในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงยุคล่าอาณานิคม ทำให้สิงคโปร์ได้นำการบริหารของอังกฤษมาใช้ ในเรื่องระบบราชการและระบบกฎหมาย รวมถึงการใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการ ก็กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างเอกภาพให้กับสิงคโปร์ และยังปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนจากต่างประเทศในเวลาต่อมา และส่งผลต่อความเจริญในประเทศสิงคโปร์มาจนถึงยุคปัจจุบัน

 

เหตุใดทำให้ระบบการศึกษาของสิงคโปร์ประสบความสำเร็จ

            แต่เดิมนั้นการศึกษาของสิงค์โปรล้วนออกแบบมาเพื่อการแก้ไขปัญหาภายในประเทศ เพราะอย่างที่ทราบกันดี ประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศเกิดใหม่ที่ได้รับเอกราชมาจากมาเลเซียและก่อนหน้านี้ก็อยู่ในความดูแลของประเทศอังกฤษ จึงทำให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีประชากรและวัฒนธรรมที่หลากหลาย ซึ่งส่งผลต่อการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ แต่อย่างไรก็ดีด้วยความที่เป็นประเทศที่มีพื้นที่ไม่ใหญ่นักและมีระบบการพัฒนาในภาครัฐมาจากอังกฤษ ทำให้สิงค์โปรสามารถออกแบบระบบการศึกษาเพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจุดเด่นที่สำคัญของการศึกษาสิงคโปร์นั้นประกอบด้วย

            1.) บุคลากรครูคุณภาพสูง

            สิงคโปร์มีสถาบันการศึกษาแห่งชาติเป็นสถาบันผลิตและพัฒนาครูเข้าสู่ระบบการศึกษาเพียงแห่งเดียว ซึ่งทำให้สามารถควบคุมคุณภาพของครูที่ผลิตเข้าสู่ระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ อาชีพครูยังเป็นอาชีพที่มีค่าตอบแทนที่ดี มีเส้นทางอาชีพชัดเจน มีการร่วมมือกับครูคนอื่น ๆในการวางแผนและปรับปรุงการสอน อีกทั้งผู้บริหารโรงเรียนจะมีวาระในการย้ายไปบริหารโรงเรียนอื่นทุก 6 – 8 ปี ส่งผลให้มีการปรับและพัฒนาระบบการบริหารและการสอนในโรงเรียนต่าง ๆ ให้มีความใกล้เคียงกันอยู่เสมอ

            2.) การเรียนการสอนสองภาษา

            รัฐบาลสิงคโปร์ได้กำหนดให้การเรียนการสอนทุกวิชาเป็นภาษาอังกฤษ นอกจากนี้นักเรียนทุกคนต้องเลือกเรียนวิชาภาษาทางการของเชื้อชาติของตนด้วย ในที่นี้รัฐบาลสิงคโปร์ได้กำหนดไว้ 3 ภาษา คือ จีนแมนดาริน มาเลย์ และทมิฬ นอกจากนี้ยังเน้นการศึกษาในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่ในระดับชั้นประถมศึกษาเลยทีเดียว

            3.) โอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียม

            จากความเห็นของ ดร.ลิม ไล เฉิน กรรมการบริหารสถาบันให้คำปรึกษาและฝึกอบรมแห่งมหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์ ซึ่งได้ให้ความเห็นเรื่องนี้ ในงานมหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู ครั้งที่ 10 (EDUCA 2017) ได้ระบุถึงโอกาสในการศึกษาที่เท่าเทียมกันของสิงคโปร์ไว้ว่า การนโยบายการศึกษาสิงคโปร์มีหลักการสำคัญคือ Meritocracy โดยเป็นระบบที่ส่งเสริมให้เด็กประสบความสำเร็จด้วยความสามารถของตนเอง ไม่ต้องพึ่งพาใคร ไม่ต้องใช้เส้นสาย และไม่ให้สิทธิพิเศษใดๆเพื่อให้มีข้อได้เปรียบ ซึ่งหลักการนี้เกิดจากลักษณะของประเทศสิงคโปร์ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม จึงจำเป็นต้องสร้างพื้นฐานให้คนมีความเสมอภาคซึ่งหากไม่มีมาตรการนี้ จะเกิดชุมชนเฉพาะพื้นที่นั้นๆ ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาในภายหลัง”

            4.) เทคโนโลยีการเรียนการสอนที่ทันสมัย

            สิงคโปร์มีวิสัยทัศน์ในการสร้าง smart nation เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดของโลกมาเป็นประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ หนึ่งในนั้นคือโครงการ SkillsFuture ที่เปิดโอกาสให้ชาวสิงคโปร์ที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไปจะได้รับ SkillFuture Credit จากรัฐบาลโดยตลอด สำหรับการสมัครเรียนหลักสูตรอบรมทักษะอาชีพเพิ่มเติมและตั้งแต่ปี 2560 ชาวสิงคโปร์ทุกคน ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาจะมี Learning Portfolio ออนไลน์เป็นของตนเอง ที่จะประเมินลักษณะเฉพาะของบุคคล และช่วยแนะนำด้านการวางแผนการศึกษา การทำงาน

            5.) ระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น

            สามารถถ่ายโอนนักเรียนระหว่างสายวิชาชีพกับสายสามัญเพื่อเพิ่มความกระตือรือร้นในการเรียน โดยหลังจากสำเร็จการศึกษาในชั้นประถมศึกษา 6 ปี นักเรียนจะต้องสอบวัดระดับ Primary School Leaving Examination (PSLE) ซึ่งผลการสอบจะแบ่งนักเรียนออกเป็น 3 กลุ่มตามผลคะแนนที่ได้

            กลุ่มนักเรียนที่มีผลคะแนนดีเยี่ยม จะสามารถศึกษาต่อในโรงเรียนมัธยมศึกษาพิเศษที่เมื่อจบหลักสูตรสามารถเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยได้เลย โดยไม่ต้องสอบวัดระดับ (GCE O-Level และ GCE A-Level)

            กลุ่มนักเรียนที่ได้ผลคะแนนดี จะศึกษาต่อในโรงเรียนมัธยมศึกษาหลักสูตรเร่งด่วน ที่เมื่อจบหลักสูตรจะต้องสอบ GCE O-Level เพื่อเข้าวิทยาลัย และ GCE A-Level เพื่อเข้ามหาวิทยาลัยตามลำดับ

            กลุ่มนักเรียนที่ได้ผลคะแนนปานกลาง จะศึกษาต่อในโรงเรียนมัธยมหลักสูตรปกติ โดยแบ่งเป็นสายกับสายเทคนิคโดยนักเรียนในกลุ่มนี้จะต้องสอบ GCE N(A) – Level และ GCE N(T) – Level ตามลำดับก่อนในขั้นแรก ซึ่งถ้าหากผลคะแนนดีจะสามารถเลื่อนไปสอบ GCE O – Level เพื่อเข้าเส้นทางมหาวิทยาลัย ส่วน นักเรียนที่ทำคะแนนได้ในระดับปกติจะศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาด้านเทคนิคต่างๆ

จากแม่น้ำสี่สายกลายเป็นแม่น้ำใหญ่สายเดียว

 

            ถึงแม้ว่า 5 ข้อนี้จะเป็นจุดแข็งในระบบการศึกษาของสิงคโปร์ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย เพราะล่าสุดกระทรวงศึกษาของประเทศสิงคโปร์ กำลังจะยกเลิกการเรียนแบบแบ่งสาย โดยจะเริ่มยกเลิกระบบนี้กับ 25 โรงเรียนในปีหน้า และจะค่อย ๆ บังคับใช้กับโรงเรียนมัธยมจนครบทุกแห่งภายในสิ้นปี 2024ซึ่งจะยุติอย่างสิ้นเชิงในปี 2024

 

            อย่างกล่าวมาแล้ว การศึกษาจากระดับประถมศึกษาไประดับมัธยมศึกษาของสิงค์โปรนั้น จะต้องสอบ Primary School Leaving Examination (PSLE) เพื่อวัดคะแนนว่านักเรียนคนนั้นต้องไปเรียนสายมัธยมแบบพิเศษ สายสามัญแบบเร่งด่วน สายสามัญแบบปกติ หรือสายเทคนิค ซึ่งทำให้ประเทศสิงคโปร์สามารถออกแบบการศึกษาให้เหมาะสมกับคนแต่ละกลุ่มได้ แต่ปัจจุบันรัฐบาลได้ออกแบบระบบการศึกษาใหม่ โดยให้นักเรียนมัธยมศึกษาทั้งหมดเรียนรวมกัน ตามความสามารถและความถนัดของตัวเอง โดยแต่ละวิชาจะมีการแบ่งการสอนเป็น 3 ระดับ คือ G1, G2 และ G3 ซึ่งตัว G มาจากคำว่า General โดย G1 จะเทียบเท่ากับสายปกติ G2 จะเทียบเท่ากับการเรียนรู้ในสายเร่งรัด และ G3 จะเทียบเท่ากับการเรียนรู้ในสายพิเศษนั่นเอง โดยระบบการศึกษานี้จะให้นักเรียนเป็นผู้เลือกเรียนเองตามความสนใจ โดยจะเริ่มต้นเหมือนกันคือเรียนในระดับ G1 และสำหรับนักเรียนที่สนใจก็สามารถเลือกเรียน G2 หรือ G3 ได้ตามลำดับ อีกทั้งยังเปิดให้มีสาขาวิชาให้นักเรียนได้เลือกมากมายยิ่งขึ้น

 

            นายออง ยี คุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวถึงในเรื่องนี้ว่า จาก 3 สายการศึกษา ตอนนี้เราจะมี 'การศึกษาระดับมัธยมต้นแบบเดียว แต่มีหลายระดับวิชา' เราจะไม่ปล่อยให้ปลาว่ายน้ำในลำธาร 3 สายแยกกัน แต่จะเป็นแม่น้ำกว้างเพียงสายเดียว และปลาแต่ละตัวจะว่ายไปตามเส้นทางของตัวเอง

 

            นอกจากนี้ นายออง ยี คุง ยังกล่าวอีกว่า การที่นักเรียนต้องเลือกเรียนวิชาต่าง ๆ ผสมผสานกันหลายระดับ ทางกระทรวงหวังว่า โรงเรียนต่าง ๆ จะใช้โอกาสนี้ในการจัดกลุ่มนักเรียนในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ใช่ตามความสามารถของพวกเขา (ในแบบเดิม) การทำเช่นนี้จะทำให้เกิดการผสมผสานทางสังคมมากขึ้น และส่งเสริมให้นักเรียนช่วยเหลือกัน

 

            โดยเหตุผลที่สำคัญที่ทำให้ทางการสิงคโปร์ต้องปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่นี้ ส่วนหนึ่งมาจากการค้นพบข้อบกพร่องบางประการในระบบการแบ่งสาย โดยในระบบการเรียนแบบแบ่งสายนี้ บังคับให้นักเรียนต้องเรียนทุกวิชาในระดับเดียวกัน ขณะที่นักเรียนจำนวนมากมีความถนัดในแต่ละวิชาแตกต่างกัน การแบ่งแยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียนเร็วเกินไปจะทำให้เกิดการตีตรา หรือการจำกัดตัวเอง นักเรียนที่อยู่ในสายที่ต่ำกว่าจะไม่มีแรงจูงใจในการเรียนรู้และไม่อยากพัฒนาตัวเอง นอกจากนี้ระบบการแบ่งสายแบบเดิมยังไม่ตอบโจทย์ต่อการพัฒนาในโลกยุคสมัยใหม่ เพราะเป็นการแบ่งแยก แบ่งชนชั้น ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากกว่าที่จะเกิดการพัฒนาอย่างหลากหลาย

            

            สิ่งเหล่านี้คือการปฏิรูปที่กำลังจะเกิดขึ้นในการศึกษาระดับมัธยมศึกษาของสิงคโปร์ ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นแนวคิดที่ใหม่และถือว่าเป็นผู้นำทางการการศึกษาของภูมิภาคจริงๆ เพราะระบบใหม่นี้นอกจากจะไม่ทิ้งนักเรียนให้หายไปในระบบการศึกษาการผลการสอบแล้ว ยังเปิดโอกาสให้เขาสามารถเลือกแผนการเรียนรู้ของตัวเองได้ ซึ่งนับเป็นมิติใหม่ที่ตอบสนองต่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 อย่างแท้จริง

 

 

เอกสารอ้างอิง

https://thaipublica.org/2017/06/pridi51/

https://www.bbc.com/thai/international-47471753

https://www.bbc.com/thai/international-45722540

http://www.mfa.go.th/thailand4/th/news/6909/77112-%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%82%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B9%8C.html

https://today.line.me/th/pc/article/%E0%B8%96%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%87%E0%B8%88+%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%82%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B9%8C+%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4-r0EljQ

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow