Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

รางวัลโนเบลสาขาสรีศาสตร์หรือการแพทย์ ประจำปี ค.ศ. 2018

Posted By thaiscience | 22 เม.ย. 62
4,548 Views

  Favorite

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 2018 คณะกรรมการรางวัลโนเบล ที่สถาบันแคโรลินสกาในกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ได้ประกาศมอบรางวัลโนเบลสาขาสรีศาสตร์หรือการแพทย์ ประจําปี  ค.ศ. 2018 ให้แก่ศาสตราจารย์ เจมส์ พี. อัลลิสัน (James P. Allison) จากศูนย์มะเร็งเอ็ม.ดี. แอนเดอร์สัน มหาวิทยาลัยเท็กซัส สหรัฐอเมริกา (University of Texas MD Anderson Cancer Center) และศาสตราจารย์ ทาซูกุ ฮอนโจ (Tasuku Honjo) ผู้เชี่ยวชาญระบบภูมิคุ้มกันวิทยาจากมหาวิทยาลัยเกียวโต (University of Kyoto) ประเทศญี่ปุ่น จากผลงานการค้นพบวิธีการรักษาโรคมะเร็งด้วยการควบคุมตัวยับยั้งของระบบภูมิคุ้มกัน

 

โรคมะเร็งกับการรักษาในอดีต

โรคมะเร็ง คือ โรคของเซลล์ที่มีการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติ ที่สามารถบุกรุก ทําลายอวัยวะและเนื้อเยื่อที่ดีซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงได้ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์มีหน้าที่กําจัดเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย โดยปกติเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันจะไม่ทําลายเซลล์ของร่างกายเนื่องจากมีความสามารถในการจดจําเซลล์ของร่างกายได้ จึงสามารถกําจัดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และสิ่งแปลกปลอมที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ โดยมีทีเซลล์ (T-cell) ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีบทบาทสําคัญในระบบป้องกันของร่างกาย โดยทีเซลล์นั้นจะมีตัวรับ  (receptor) เพื่อใช้ในการจับกับโครงสร้างของสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย และการจับดังกล่าวนี้จะเป็นการกระตุ้นการทํางานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้อยู่ในภาวะของป้องกันตัว (defence) ทั้งนี้โปรตีนที่อยู่บนผิวของทีเซลล์จะเป็นตัวบอกหรือกระตุ้นการทํางานระบบภูมิคุ้มกันในการจับหรือต่อสู้กับโครงสร้างของสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย แต่มีโปรตีนบางชนิดที่ยับยั้งระบบภูมิคุ้มกันนี้เปรียบเสมือนทําหน้าที่เป็นเบรกต่อระบบภูมิคุ้มกัน ส่งสัญญาณให้ทีเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันหยุดการโจมตี ป้องกันไม่ให้เซลล์เม็ดเลือดขาวดังกล่าวไปโจมตีเซลล์ปกติของร่างกาย

 

หากมองถึงการรักษาโรคมะเร็งในอดีต ได้มีวิธีการรักษาโดยวิธีต่าง ๆ ได้แก่ การผ่าตัด การฉายรังสี เคมีบําบัด (chemotherapy) และการใช้ฮอร์โมน ซึ่งพบว่าวิธีการดังกล่าวข้างต้นไม่สามารถใช้ในการบําบัดรักษามะเร็งบางชนิดอย่างได้ผล นอกจากนี้การวิจัยและพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งจะมุ่งเน้นการสังเคราะห์และการค้นหาสารต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งตัวยาที่มีฤทธิ์ในการทําลายเซลล์มะเร็งอย่างไรก็ตามยาที่วิจัยและค้นพบในอดีตส่วนใหญ่แล้วจะไม่มีความจําเพาะเจาะจง คือจะเข้าทําลายทั้งเซลล์มะเร็งรวมไปถึงเซลล์ปกติด้วยจึงก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์จากยานั้น ๆ อย่างมาก จากนั้นการรักษาโรคมะเร็งก็ถูกพัฒนาให้มีความจําเพาะเจาะจงแก่ตัวเซลล์มะเร็งมากขึ้นเพื่อลดผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติที่อาจเกิดขึ้นจากยานั้น ๆ โดยหนึ่งในวิธีการที่มีการวิจัยอย่างแพร่หลาย คือภูมิคุ้มกันบําบัด (Immunotherapy) โดยอาศัยระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคในร่างกายเองในการทําลายเซลล์มะเร็งแต่ทว่าการรักษาโดยการทําลายเซลล์มะเร็งโดยตรงก็ส่งผลข้างเคียงที่ร้ายแรงเช่นกัน

 

งานวิจัยของศาสตราจารย์อัลลิสันและศาสตราจารย์ฮอนโจได้นําไปสู่การพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งรูปแบบใหม่ซึ่งต่างจากการรักษามะเร็งแบบดั้งเดิม โดยศาสตราจารย์อัลลิสันและศาสตราจารย์ฮอนโจพยายามหาวิธีที่จะช่วยกําจัดตัวที่ยับยั้งระบบภูมิคุ้มกัน แทนที่จะมุ่งกําจัดเซลล์มะเร็งโดยตรง เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันโจมตีเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทําให้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยเองได้จัดการกับเซลล์มะเร็งอย่างทันท่วงที

 

การค้นพบตัวยับยั้งระบบภูมิคุ้มกัน

ในปี ค.ศ. 1990 ศาสตราจารย์อัลลิสัน ได้ค้นพบโปรตีน CTLA-4ซึ่งเป็นตัวยับยั้งการทํางานของทีเซลล์ (T-cells)ปกติแล้วทีเซลล์จะถูกควบคุมโดยโปรตีน 2 ชนิดคือตัวยับยั้งและตัวเร่ง ต่อมาในปี ค.ศ. 1997 ศาสตราจารย์อัลลิสัน ได้ค้นพบกลไกที่สามารถปลดปล่อยตัวยับยั้งนี้ได้ โดยพัฒนาแอนติบอดีเข้าไปจับกับโปรตีน CTLA-4 จากการทดลองกลไกนี้ในหนู ชี้ให้เห็นว่าการยับยั้งไม่ให้โปรตีน CTLA-4 เข้าไปจับกับทีเซลล์ทําให้ทีเซลล์สามารถเข้าโจมตีเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ในช่วงเวลาที่ศาสตราจารย์อัลลิสันค้นพบตัวยับยั้งดังกล่าวนั้น ทางด้านศาสตราจารย์ฮอนโจก็ได้ค้นพบโปรตีน PD-1ในปี ค.ศ. 1992 ซึ่งเป็นตัวยับยั้งการทํางานของทีเซลล์เหมือนกันแต่ทํางานในอีกวิธีที่แตกต่างกัน

 

การพัฒนาวิธีการรักษาในผู้ป่วยโรคมะเร็ง

หลังจากเกือบสองทศวรรษ ที่นักวิจัยทั้งสองค้นพบตัวยับยั้งทีเซลล์ ก็มีการคิดค้นแอนติบอดีที่ต่อต้านการทํางานของตัวยับยั้งเหล่านั้น และนํามาทดลองและศึกษาทางคลินิกเพื่อรักษาผู้ป่วยมะเร็งบางชนิด ซึ่งปรากฏว่าการยับยั้งการทํางานของโปรตีน CTLA-4 ให้ผลดีอย่างยิ่งในการรักษาโรคมะเร็งผิวหนังชนิดร้ายแรง ในขณะที่การยับยั้งการทํางานของโปรตีน PD-1 มีประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งหลายชนิด ทั้งมะเร็งผิวหนังชนิดร้ายแรง มะเร็งต่อมน้ําเหลือง มะเร็งไต และมะเร็งปอดแม้อยู่ในระยะลุกลาม

 

นายกอร์ดอน ฟรีแมน (Gordon Freeman)นักภูมิคุ้มกันวิทยา จากสถาบันมะเร็งดานา-ฟาร์เบอร์ (Dana-Farber Cancer Institute) บอสตัน สหรัฐอเมริกา ได้ชี้ว่าจากการทดลองและงานวิจัยที่ผ่านมาได้พิสูจน์ว่า การยับยั้งการทํางานของโปรตีน CTLA-4 มีผลต่อการรักษาโรคมะเร็งผิวหนัง ในขณะที่การยับยั้งการทํางานของโปรตีน PD-1 สามารถรักษาโรคมะเร็งได้หลากหลายมากกว่า แต่อย่างไรก็ตามก็มีการทดลองทางคลินิกที่ชี้ให้เห็นว่าการผสมผสานการรักษาที่ยับยั้งการทํางานทั้งโปรตีน CTLA-4 และ PD-1 สามารถรักษาโรคมะเร็งผิวหนังชนิดร้ายแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันได้มีการทดลองทางคลินิกเพื่อประเมินประสิทธิภาพของวิธีการรักษาแบบใหม่นี้ในโรคมะเร็งเกือบทุกชนิด อีกทั้งยังศึกษาเพิ่มเติมถึงโปรตีนชนิดอื่น ๆ ที่อาจจะเป็นตัวยับยั้งระบบคุ้มกันของมนุษย์ด้วยเช่นกัน

 

โดยสรุปการรักษาด้วยวิธีนี้เรียกว่า “Immune Check-point Therapy” ซึ่งแตกต่างจากวิธีรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันแบบดั้งเดิมที่มุ่งโจมตีเซลล์มะเร็งโดยตรง โดยวิธีใหม่นี้จะเข้าจัดการกับ Immune Checkpoint In-hibitors (เช่น โปรตีน CTLA-4 และ PD-1) ซึ่งเป็นตัวยับยั้งการทํางานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยวิธีการรักษาแบบใหม่นี้สามารถยืดอายุขอผู้ป่วยโรคมะเร็งได้หลายปี

 

การพัฒนาสู่ยารักษาโรค

สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (US Food and Drug Administration,FDA) ได้อนุมัติให้ใช้แอนติบอดีต้านโปรตีน CTLA-4 เป็นยารักษามะเร็งผิวหนังเมื่อปี ค.ศ. 2011 ซึ่งมีชื่อทางการค้าที่รู้จักกันทั่วไปว่า “เยอร์วอย” (Yervoy) และอนุมัติให้แอนติบอดีต้านโปรตีน PD-1 เป็นยาเพื่อการทดลองรักษาโรคมะเร็งได้เมื่อปี ค.ศ. 2014

 

โรคมะเร็งเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่ท้าทายมากที่สุดของมนุษยชาติ เป็นเวลามากกว่า 100 ปีที่นักวิทยาศาสตร์ได้มีความพยายามที่จะใช้ประโยชน์จากระบบภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง การค้นพบกลไกในการบําบัดรักษาโรคมะเร็งโดยศาสตราจารย์เจมส์ พี. อัลลิสัน และ ศาสตราจารย์ทาซูกุ ฮอนโจ ถือได้ว่าเป็นการปฏิวัติในวิธีการบําบัดรักษามะเร็งและเป็นการพลิกมุมมองใหม่สําหรับการจัดการกับมะเร็งเลยทีเดียว

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • thaiscience
  • 2 Followers
  • Follow