Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

Posted By Plook Teacher | 17 เม.ย. 62
5,632 Views

  Favorite

นรรัชต์  ฝันเชียร

            ประเทศไทยจะมีพระราชพิธีที่ยิ่งใหญ่และเป็นหนึ่งในหน้าประวิติศาสตร์ชาติไทยเรานั่น คือพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระมหากษัตริย์ไทยองค์ที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี  ซึ่งเป็น พระราชพิธีตามโบราณราชประเพณี ในการสถาปนาในหลวงองค์ปัจจุบัน ขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างสมบูรณ์

 

            ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า นานแล้วที่ประเทศไทยไม่ได้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่ยิ่งใหญ่นี้ นับตั้งแต่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งล่าสุดใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2493 จึงนับว่าเป็นพระราชพิธีที่หลาย ๆ ท่านรวมถึงตัวผู้เขียนเอง อาจได้ชมครั้งนี้เป็นครั้งแรกของชีวิตเลยก็ว่าได้ และเพื่อให้ทุกท่านทราบถึงข้อมูลเกี่ยวกับพระราชพิธีที่สำคัญนี้อย่างคร่าว ๆ ผู้เขียนจึงได้รวบรวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกไว้ดังต่อไปนี้

 

ประวัติความเป็นมาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

            การจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น มีหลักฐานปรากฏในหลักศิลาจารึก วัดศรีชุมของพญาลิไทว่า เริ่มต้นมาตั้งแต่ครั้งพ่อขุนผาเมืองได้อภิเษกพ่อขุนบางกลางหาว หรือ พ่อขุนบางกลางท่าว ให้เป็นผู้ปกครองเมืองสุโขทัย จากนั้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้ถูกต้องสมบูรณ์ โดยพระมหากษัตริย์ที่ยังมิได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะไม่ใช้คำว่า "พระบาท" นำหน้า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" และคำสั่งของพระองค์ก็ไม่เรียกว่า "พระบรมราชโองการ" และอีกประการหนึ่งคือ จะยังไม่มีการใช้ นพปฎลเศวตฉัตร หรือฉัตร 9 ชั้น อีกด้วย

 

วันเวลาในการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

            ตามประกาศจากสำนักพระราชวัง ระบุว่า การประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จะมีขึ้น 3 วัน ในระหว่าง วันที่ 4-6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ณ พระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ซึ่งแต่ละวันนั้น มีพิธีการดังนี้

- วันที่ 4 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเสด็จออกมหาสมาคม พระบรมวงศานุวงค์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล จากนั้น พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร

- วันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 พระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศานุวงค์ จากนั้น เสด็จเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค

- วันที่ 6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล จากนั้น เสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท คณะทูตานุทูต และกงสุลต่างประเทศ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล

 

พิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์คืออะไร

            พิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ คือ พิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เพื่อขออนุญาตเทวดาที่ปกปักรักษาแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ เพื่อนำมาทำน้ำอภิเษก และน้ำสรงมุรธาภิเษก (น้ำสำหรับการรดน้ำที่พระเศียรเพื่อยกให้หรือแต่งตั้งตามคติความเชื่อทางพราหมณ์-ฮินดู) โดยจะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 6 เมษายน 2562 ตามฤกษ์เวลาที่กำหนด

            การตักน้ำอภิเษก มาจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 107 แหล่งน้ำทั้ง 76 จังหวัด และน้ำศักดิ์สิทธิ์จากหอศาสตราคม ในพระบรมมหาราชวัง จำนวน 1 แหล่งน้ำ ส่วนน้ำสรงมุรธาภิเษก จะมาจาก 9 แหล่งน้ำ คือ น้ำในสระศักดิ์สิทธิ์ในจังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 4 สระ คือ สระแก้ว, สระคา, สระยมนา และ สระเกษ และน้ำจากเบญจสุทธคงคา คือแม่น้ำสายสำคัญ 5 สายคือ

1. แม่น้ำบางปะกง ตักที่บึงพระอาจารย์ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก

2. แม่น้ำป่าสัก ตักที่บริเวณบ้านท่าราบ อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี

3. แม่น้ำเจ้าพระยา ตักบริเวณปากคลองบางแก้ว อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง

4. แม่น้ำราชบุรี ตักบริเวณสามแยกคลองหน้าวัดดาวดึงษ์ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

5. แม่น้ำเพชรบุรี ตักบริเวณท่าน้ำวัดท่าไชยศิริ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี

 

            โดยหลังจากทำพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์แล้วในวันที่ 8 เมษายน 2562 จะมีการตั้งพิธีทำน้ำราชาภิเษก ณ พระอารามสำคัญต่างๆ ทั่วประเทศ ก่อนที่ จะทำพิธีเสกน้ำอภิเษกรวมที่วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ในวันที่ 18 เมษายน 2562 และแห่เชิญน้ำอภิเษกไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันถัดมา

 

ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

 

            ประกอบด้วยอักษรพระปรมาภิไธย วปร อยู่ตรงกลาง พื้นอักษรสีขาวขอบเดินทอง อันเป็นสีของวันจันทร์ซึ่งเป็นวันพระบรมราชสมภพ ภายในอักษรประดับเพชร ตามความหมายแห่งพระนามมหาวชิราลงกรณ อักษร วปร อยู่บนพื้นสีขาบ(สีน้ำเงินเข้ม)​ อันเป็นสีของขัตติยกษัตริย์ภายในกรอบพุ่มข้าวบิณฑ์สีทองสอดสีเขียว อันเป็นสีซึ่งเป็นเดชแห่งวันพระบรมราชสมภพ กรอบทรงพุ่มข้าวบิณฑ์อัญเชิญมาจากกรอบที่ประดิษฐานพระมหาอุณาโลม อันเป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ แวดล้อมด้วยเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ อันเป็นเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์และเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราช ได้แก่ พระมหาพิชัยมงกุฎพร้อมอุณาโลมประกอบเลขมหามงคลประจำรัชกาล อยู่เบื้องบน พระแสงขรรค์ชัยศรีกับพระแส้จามรี ทอดไขว้อยู่เบื้องขวา ธารพระกรกับพัดวาลวิชนี ทอดไขว้อยู่เบื้องซ้าย และฉลองพระบาทเชิงงอน อยู่เบื้องล่าง

 

            เบื้องหลังพระมหาพิชัยมงกุฎประดิษฐานพระมหาเศวตฉัตรอันมีระบายขลิบทอง จงกลยอดฉัตรประกอบรูปพรหมพักตร์อันวิเศษสุด ระบายชั้นล่างสุด ห้อยอุบะจําปาทอง แสดงถึงพระบารมีและพระบรมเดชานุภาพที่ปกแผ่ไปทั่วทิศานุทิศ เบื้องล่างกรอบอักษรพระปรมาภิไธยมีแถบแพรพื้นสีเขียวถนิมทอง ขอบขลิบทอง มีอักษรสีทองความว่า “พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพุทธศักราช 2562” ปลายแถบแพรเบื้องขวามีรูปคชสีห์กายม่วงอ่อนประคองฉัตร 7 ชั้น หมายถึง ข้าราชการฝ่ายทหาร เบื้องซ้ายมีรูปราชสีห์กายขาว ประคองฉัตร 7 ชั้น หมายถึงข้าราชการฝ่ายพลเรือน ผู้ปฏิบัติราชการสนองงานแผ่นดินอยู่ด้วยกัน ข้างคันฉัตรด้านในทั้งสองข้างมีดอกลอยกนกนาค แสดงถึงปีมะโรงนักษัตริย์อันเป็นปีพระบรมราชสมภพ สีทองหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองยิ่งของประเทศชาติและประชาชน

 

การทรงเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์

            เป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระราชา ซึ่งพราหมณ์ผู้ทำพิธีจะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ในวันที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งเป็นเครื่องแสดงว่าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินถูกต้องสมบูรณ์แล้ว ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเครื่องเบญจราชฯนี้เพียงแค่ครั้งเดียว นั่นก็คือวันที่พระองค์เข้าพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นพ่ออยู่หัว โดยเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์นี้ ประกอบด้วย

            พระมหาพิชัยมงกุฎ สร้างขึ้นในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ทำด้วยทองคำลงยาประดับเพชร ครั้นถึงสมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงมีรับสั่งให้นำเพชรเม็ดใหญ่จากประเทศอินเดียมาประดับไว้บนยอดพระมหาพิชัยมงกุฎ เป็นสิ่งที่สื่อความหมายว่า ทรงรับพระราชภาระอันหนักยิ่งของแผ่นดิน เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

            พระแสงขรรค์ชัยศรี เป็นของเก่าที่แต่เดิมจมอยู่ในทะเลสาบเขมรที่เมืองเสียมราฐ ชาวประมงทอดแหได้ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์(แบน) เจ้าเมืองเสียมราฐจึงนำมาทูลเกล้าถวายพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 พระองค์จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ทำด้ามและฝักขึ้นใหม่ด้วยทองลงยาประดับมณี ซึ่งมีความหมายว่าหมายถึง ทรงใช้พระปัญญาในการปกบ้านครองเมืองให้พ้นจากภยันตราย

            ธารพระกร สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ทำด้วยไม้ชัยพฤษ์ปิดทอง หัวและสันเป็นเหล็กคร่ำลายทอง ซึ่งมีความหมายถึงทรงดำรงราชธรรม เพื่อค้ำจุนบ้านเมืองให้ผาสุกมั่นคง

            พระแส้จามรีกับพัดวาลวิชนี โดยพัดวาลวีชนีทำด้วยใบตาลปิดทองทั้ง 2 ด้าน เครื่องประกอบทำด้วยทองคำลงยา ส่วนพระแส้ทำด้วยขนจามรี มีด้ามเป็นแก้ว มีความหมายว่า ทรงขจัดปัดเป่าความทุกข์ยากเดือดร้อนของอาณาประชาราษฎร์

            ฉลองพระบาทเชิงงอน พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ตามแบบอินเดียโบราณ มีความหมายว่า แผ่นดินอันเป็นที่รองรับเขาพระสุเมรุ เป็นที่อาศัยแก่อาณาประชาราษฎร์ทั้งหลายทั่วแว่นแคว้นขอบขัณฑสีมา

 

การทรงเศวตฉัตร

            เป็นเครื่องสูงแสดงพระอิสริยยศของผู้ทรงฉัตร สำหรับแขวน ปัก ตั้ง หรือเชิญเข้ากระบวนแห่เพื่อเป็นเกียรติยศ มีรูปร่างคล้ายร่มที่ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ มีความหมายเปรียบเสมือนสวรรค์ ซึ่งสำหรับกษัตริย์ที่ยังไม่ได้ทรงผ่านพระราชพิธีราชาภิเษกจะทรงฉัตร 7 ชั้น หรือที่เรียกว่า สัปตปฎลเศวตฉัตร และเมื่อทรงผ่านพระราชพิธีราชราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณีแล้ว พระองค์จะทรงฉัตร 9 ชั้น หรือที่เรียกว่า พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร หรือที่เรียกโดยย่อว่า พระมหาเศวตฉัตร ซึ่งเป็นฉัตรผ้าขาวสูง 9 ชั้น มีระบาย 3 ชั้น ขลิบทอง แผ่ลวด และมียอด เป็นราชกกุธภัณฑ์ของพระมหากษัตริย์ที่สำคัญสำคัญมากอย่างหนึ่ง

 

พระปฐมบรมราชโองการ

            คือ ราชโองการที่พระมหากษัตริย์จะพระราชทานในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก หลังจากพราหมณ์ทูลเกล้าฯ ถวาย เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ และเครื่องราชูปโภคแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งแสดงพระราชปณิธาน ในฐานะทรงเป็นผู้รับพระราชภาระแห่งบ้านเมือง ยกตัวอย่างเช่น ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ทรงให้พระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” เป็นต้น

 

            สิ่งเหล่านี้คือความรู้บางส่วนเท่านั้น ที่ปรากฎในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ซึ่งนับเป็นพระราชพิธีที่ยิ่งใหญ่และสำคัญมากที่สุดครั้งหนึ่งในประเทศไทย เพราะจะเป็นพระราชพิธีที่ประเทศไทยจะมีพระมหากษัตริย์ตามแบบโบราณราชประเพณีโดยสมบูรณ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ารู้สำหรับคนไทยและเป็นเรื่องที่คนไทยและหลากหลายคนทั่วโลกมีความปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.phralan.in.th/

https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_2298713

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%89%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A3

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow