Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ประเด็นความละเอียดอ่อนในสังคมโลก สิ่งที่เยาวชนยุคใหม่ควรใส่ใจ

Posted By Plook Teacher | 27 มี.ค. 62
4,702 Views

  Favorite

นรรัชต์  ฝันเชียร

                โลกในทุกวันนี้ มีเรื่องราวที่เกิดขึ้นมากมาย มีทั้งเรื่องที่ดี เรื่องที่ชวนหดหู่ เรื่องที่เรามองว่ามีสาระ และเรื่องที่เราอาจจะมองว่าไร้สาระ แต่ใช่ว่าการที่เรามองเช่นนี้ คนอื่น ๆ อาจจะมองไม่เหมือนที่เรามอง ในบางเหตุการณ์เราอาจรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องสำคัญ แต่สำหรับบางคนที่เขาอยู่คนละซีกโลก อาจจะมองเรื่องเดียวกันนี้เป็นเรื่องเล็กน้อยที่ไม่น่าใส่ใจเลยก็เป็นได้

                อย่างไรก็ตาม แม้เราจะมีมุมมองต่อประเด็นเหล่านั้นแตกต่างกัน แต่เราก็ควรที่กลั่นกรองและใส่ใจความรู้สึกของกันและกัน ด้วยการงดแสดงความความคิดเห็นในเรื่องที่เราไม่เกี่ยวข้อง หรือเลือกที่จะไม่กล่าวถึงประเด็นเหล่านั้นในการพาดพิงถึงบุคคลอื่น การกระทำเช่นนี้ถือเป็นใส่ใจความรู้สึกของคนอื่นต่อประเด็นเหตุการณ์นั้น ๆ และทำให้ไม่เกิดปัญหากับตัวเองในภายหลังด้วย สิ่งนี้นับเป็นทักษะสำคัญที่เยาวชนในยุคสมัยใหม่นี้ควรจะมี เพราะปัจจุบันการสื่อสารในโลกอินเตอร์เน็ตนั้นเข้าถึงได้ง่ายและสามารถไปได้ไกล การที่เราพิมพ์แสดงความคิดเห็นใด ๆ ต่อเรื่องราวใดเรื่องราวหนึ่ง อาจจะถูกแชร์ไปให้คนทั่วโลกรับรู้ได้ และถ้านั่นคือความเห็นทางลบที่ปราศจากการกลั่นกรองล่ะ ความเสียหายมันจะเกิดขึ้นได้ขนาดไหน ต่อไปนี้คือประเด็นความอ่อนไหวในสังคมโลกใหญ่ ๆ ซึ่งเราควรสอนให้เยาวชนรับรู้และรู้จักแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ในเรื่องราวเหล่านี้อย่างมีวิจารณญาณ

 

ความรู้สึกสูญเสียจากผลพวงของสงคราม

                ความสูญเสียจากสงคราม คือผลพวงอันแสนโหดร้ายที่เกิดขึ้นและส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้คนที่อยู่ร่วมในเหตุขัดแย้งหรือบรรดาญาติมิตรของผู้ที่เสียชีวิตจากภัยสงคราม หลาย ๆ เหตุการณ์ แทบจะไม่เชื่อเลยว่าเป็นสิ่งที่มนุษย์จะพึงกระทำกับมนุษย์ด้วยกันเอง สิ่งนี้ทำให้พวกเขาเหล่านั้นรู้สึกโศกเศร้าและหวาดกลัวเกี่ยวกับเรื่องราวเหล่านี้มากกว่าพวกเราที่อาจสัมผัสเรื่องราวเหล่านี้แค่เพียงผ่านตาจากภาพยนตร์หรือหนังสือเท่านั้น การวิพากย์วิจารณ์เรื่องราวเหล่านั้นโดยปราศจากองค์ความรู้ที่ชัดเจน  เพราะแม้ว่าประเทศไทยเราจะมีสอนในเรื่องของประวัติศาสตร์สงคราม แต่ในหลักสูตรนั้นเราเน้นให้รู้ถึงที่ข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากกว่าที่จะลงลึกถึงความรู้สึกของผู้สูญเสียจากสงครามต่าง ๆ

 

                อาจจะกล่าวได้ว่า ประเทศไทยเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ในเชิงความรู้สึกน้อยมาก จึงไม่แปลกอะไรที่จะเห็นสินค้าที่ติดสัญลักษณ์ที่มีภูมิหลังคือความโหดร้ายจากสงครามขายกันอย่างมากมาย ราวกับมันเป็นแฟชั่นยอดฮิต เพราะสำหรับเราอาจมองแค่ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ดูเท่ห์ ๆ แบบหนึ่งเท่านั้น ซึ่งถ้าจะถามว่าเป็นเรื่องที่ผิดไหมที่จะใส่มันเดินไปไหนมาไหน มันคงไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไร เพราะประเทศไทยไม่ได้มีข้อห้ามเรื่องสัญลักษณ์ ยกเว้นสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ที่ห้ามนำมาใช้ถ้าไม่ได้รับอนุญาต แต่ถ้าเราใส่ใจและเข้าใจซึ่งกันและกันมากกว่านี้ การเลือกที่จะไม่ใส่มันน่าจะเป็นทางเรื่องที่ดีกว่า

 

การนับถือศาสนา

                ศาสนานับเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในเรื่องของความขัดแย้ง เพราะศาสนาแต่ละศาสนานั้น แม้ปลายทางของทุกศาสนาจะมุ่งให้มนุษย์มีจิตใจที่ดี แต่ก็แตกต่างกันที่วิธีการและหลักคำสอน สิ่งนี้ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างและเป็นชนวนเหตุให้เกิดความขัดแย้งกันจากความเห็นที่ไม่ลงรอยกันมาช้านาน เราจึงควรสอนให้เด็กพูดคุยถึงเรื่องนี้อย่าระมัดระวัง ให้เขารู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะนับถือศาสนาใดก็ได้ตามความเชื่อและศรัทธา การไปดูถูกคนอื่นเรื่องการนับถือศาสนา นอกจากจะไม่ใช่สิ่งที่ดีแล้วยังก่อให้เกิดปัญหาใหญ่หลวงได้อีกด้วย จึงควรใส่ใจเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง

 

การเหยียดผิวและเชื้อชาติ

                การเหยียดผิว หรือ Racism นั้นเป็นพฤติกรรมที่เป็นปัญหาระดับโลก เกิดจากการที่กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งมองกลุ่มคนกลุ่มอื่นที่มีผิว ชาติพันธุ์ สีแตกต่างจากตนว่าเป็นผู้ที่ต่ำต้อยกว่า ไม่สมควรจะมีสิทธิเท่าเทียมกัน ส่งผลให้เกิดความขัดแย้ง มีการทำร้ายซึ่งกันและกันอย่างมากมาย เรื่องนี้ดูไร้สาระมากเลยสำหรับโลกในยุคปัจจุบันนี้ แต่เชื่อไหมว่า พฤติกรรมเหล่านี้ยังคงมีอยู่ในหลายๆส่วนของโลก และถึงแม้ว่าปัจจุบันจะลดความรุนแรงไปมาก แต่สิ่งนี้ก็ยังคงเป็นเหมือนเชื้อร้ายที่ยังคงอยู่ในจิตใจของคนเรา เพราะบางทีแม้แต่ตัวเราเอง ก็อาจจะแสดงความเหยียดหยามกับผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว ยกตัวอย่างเช่น คนไทยที่มักจะล้อเลียนคนที่ทำตัวผิดแปลกจากคนทั่วไปว่าเป็นพวกคนจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือคนที่เดินทางในกรุงเทพฯไม่เป็นว่าเป็นพวกบ้านนอก เป็นต้น การล้อเลียนเล็กๆนี้ ถ้าไม่ได้รับแก้ไข ต่อไปก็อาจจะกลายเป็นความเคยชิน และทำร้ายผู้อื่นโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้ ดังนั้น ในเรื่องการเหยียดนี้ จึงควรขจัดให้หมดไปจากจิตใจของเยาวชายุคใหม่นี้เป็นอย่างยิ่ง

 

สังคมการเมือง

                แต่ละประเทศนั้นมีการปกครองที่แตกต่างกัน บางประเทศอาจจะเหมือนกันในรูปแบบพื้นฐานการปกครอง แต่ก็แตกต่างกันในวิธีการต่างๆ ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศหรือแม้แต่ในประเทศเอง ไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถเข้าใจกันได้โดยง่าย เพราะต่างคนต่างก็มีอุดมการณ์และความเชื่อแตกต่างกัน เราอาจมีข้อมูลและเหตุผลมากพอที่จะสนับสนุนสิ่งหนึ่ง แต่สำหรับบุคคลอื่นเขาก็อาจมีข้อมูลอีกชุดที่ช่วยให้เขาตัดสินใจเลือกอีกสิ่งหนึ่งก็เป็นได้ การมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เป็นสิ่งหนึ่งที่เยาวชนยุคนี้พึงมี ตราบใดที่ไม่พาดพิงหรือกระทบกับบุคคลอื่น แต่มันจะเป็นเรื่องที่ดีกว่าที่จะหยุด และรับฟังข้อมูลอย่างเป็นกลางเพื่อประกอบการตัดสินใจ ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางที่ดีกว่า

 

                เรื่องราวเหล่านี้คือประเด็นใหญ่ๆในสังคมโลก ที่ผมคิดว่า มีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนในยุคใหม่ ที่มีการสื่อสารที่กว้างไกลอยู่ในมือ ประโยคเพียงไม่กี่ประโยคที่พิมพ์บนอุปกรณ์สื่อสารของเขา หรือการกระทำต่างๆ อาจจะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้น่าอยู่หรือหดหู่ขึ้นก็เป็นได้ ซึ่งก่อนที่มันจะมีผลขนาดนั้น หน้าที่ของครูคือต้องสอนให้เขารู้จักกรั่นกรอง คิดวิเคราะห์แยกแยะ ถึงสิ่งที่ควรและไม่ควรทำ และให้เขาคำนึงถึงผลกระทบต่อตัวเองและผู้อื่นให้มาก ก่อนที่จะแสดงความคิดเห็นหรือแสดงออกใดๆ ลงไป และยิ่งวัยรุ่นเป็นวัยที่หุนหันพลันแล่นด้วยแล้ว ก็ยิ่งไม่ควรปล่อยให้เขาทำอะไรเลยตามเลย เพราะบางทีมันอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ยากเกินจะแก้ไขด้วยความว่า “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” ก็เป็นได้

 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow