Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

อะฟาเซีย (Aphasia) ภาวะสื่อสารไม่ได้โดยไม่ได้ตั้งใจ

Posted By Plook Creator | 19 มี.ค. 62
17,045 Views

  Favorite

เมื่ออาการหลง ๆ ลืม ๆ ไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุเท่านั้น เมื่อมันเป็นมากกว่าความแก่ เมื่อมันเป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษา เราจะทำอย่างไรดีเมื่อเรานึกไม่ออกว่าเมื่อสักครู่จะพูดอะไร เรื่องอะไร หรือเมื่อเพื่อนคุณถามมาอย่างหนึ่งแล้วคุณกลับตอบไปอีกอย่างหนึ่งโดยไม่ตั้งใจ แล้วถ้าเกิดมันเป็นบ่อย ๆ จะคุยกับใครรู้เรื่องไหมเนี่ย อะฟาเซีย (Aphasia) อาจจะเป็นอาการของคุณ อะฟาเซียหรือภาวะสูญเสียการสื่อความ คือ อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นจากสมอง มันทำให้คุณไม่สามารถประมวลผลและสื่อสารออกไปได้ มันคือ อาการไปไหนมาสามวาสองศอก เหมือนในสำนวนไทยจริง ๆ

 

ภาษาและการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญกับสัตว์สังคมของมนุษย์ การใช้ภาษาและการสื่อสารทำให้เราสามาถติดต่อกับคนอื่น ๆ รอบตัวได้ สามารถแสดงออกถึงความต้องการ รวมถึงเข้าใจสถานการณ์และคนรอบตัวเราได้ แต่ภาวะเสียการสื่อความไม่ได้จำกัดอยู่ที่การพูดและฟังเท่านั้น มันรวมถึงการอ่าน การเขียน และการพิมพ์ด้วย ภาวะนี้ทำให้คุณไม่สามารถอธิบายหรือสื่อสิ่งที่อยู่ในหัวของคุณออกไปให้กับคู่สนทนาได้อย่างถูกต้อง ยกตัวอย่างเช่น หากคุณนึกถึงแมวแต่พูดออกมาเรื่องหนู หรือนึกไม่ออกด้วยซ้ำว่าสัตว์ตัวนั้นเรียกว่าอะไร ต้องใช้คำว่าอะไรเรียกการกระทำของมัน ภาวะนี้เกิดจากความผิดปกติของสมองกลีบด้านข้าง ซึ่งแม้ว่ามันจะขัดขวางการสื่อสารของผู้ป่วยในทุก ๆ ทาง แต่ก็พวกเขาไม่ได้โง่หรือฉลาดน้อยลงแต่อย่างใด

 

เขาอาจจะใช้คำอื่นมาทดแทน คำที่นึกไม่ออก ซึ่งเรียกว่า Paraphasias โดยใช้คำที่คล้ายคลึงกันเพื่อเรียกแทน เช่น เรียกว่าขนมปังแทนข้าว หรือใช้คำว่าแมลงแทนกำลังแพง เพราะมีเสียงคล้ายกัน หรืออาจจะผสมคำขึ้นใหม่เองโดยไม่มีใครเข้าใจในบางครั้ง ภาวะเสียการสื่อความนี้อาจแบ่งได้ 2 กลุ่ม คือ

1) Fluent หรือ Receptive aphasia ซึ่งอาจจะสามารถสื่อสารได้ในระดับหนึ่งแต่ใช้คำที่ไม่มีความหมาย คิดศัพท์ขึ้นมาเองโดยไม่สามารถเข้าใจได้ รวมถึงไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นสื่อสารมาได้ แน่นอนว่าผู้ป่วยในกลุ่มนี้ไม่รู้ตัวว่าสื่อสารอะไรผิดออกไป
2) Non-Fluent หรือ Expressive aphasia ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะสามารถเข้าใจสิ่งที่สื่อสารได้ดี แต่ไม่สามารถเลือกคำที่มีในหัวเพื่อใช้สื่อสารได้ อาจจะสลับคำต่าง ๆ ในประโยค แต่ยังพอเดาความหมายได้ และแม้ว่าเราส่วนใหญ่จะเคยรู้สึกถึงอาการคล้าย ๆ กันนี้ เช่น อาการนึกคำศัพท์ที่จะพูดหรือใช้เรียกไม่ออก เรียกว่า ติดอยู่ที่ปาก (on the tip of a tongue) กับคำที่ไม่ค่อยได้ใช้บ่อย หรือลืมชื่อเพื่อนที่ห่างหายกันไปนานแล้วมาเจอโดยบังเอิญ แต่สำหรับผู้ป่วยภาวะเสียการสื่อความนั้น คำง่าย ๆ อย่างข้าวผัด ห้องน้ำ กลับเป็นเรื่องยากกว่าที่คุณคิด

 

ประเมินกันว่าแค่ในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวก็มีคนประสบภาวะนี้อยู่กว่า 1 ล้านคนและมีคนเป็นเพิ่มขึ้น 80,000 คนในทุก ๆ ปี แน่นอนว่าความผิดปกติที่เกิดกับสมองนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในทันทีทันใด แต่มักจะเกิดขึ้นตามหลังโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสมอง โดย 2 ใน 3 ส่วนของคนที่เป็นโรคเส้นเลือดในสมองแตก (Stroke) จะประสบกับภาวะเสียการสื่อความนี้ มันจึงกลับมาที่พื้นฐานอีกครั้งว่า การรักษาตัวให้ไกลจากโรคเป็นลาภอันประเสริฐ เพราะแม้ว่าคุณจะรอดจากเส้นเลือดในสมองแตกได้ แม้ว่าคุณจะไม่มีอาการหนักขนาดเป็นอัมพาตตลอดชีวิต คุณก็อาจจพูดกับใครไม่รู้เรื่องเนื่องจากเป็นอะฟาเซีย (Aphasia) ได้อยู่ดี และปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นความดันโลหิตสูงจนนำไปสู่เส้นเลือดแตกในสมองก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้คุณอาจจะประสบกับปัญหานี้ได้มากกว่าโรคจากพันธุกรรมอย่างพาร์กินสันด้วยซ้ำ


อีกกรณีหนึ่งที่ทำให้เกิด Aphasia ได้เช่นกัน โดยเป็น Aphasia ชนิด PPA หรือ Primary Progressive Aphasia ก็คือการเกิดความผิดปกติในระยะแรกเริ่มของโรคสมองเสื่อม (Dementia) ซึ่งจะมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับความสามารถในการจำหรือความสามารถทางความคิดลดลง โดย PPA จะเป็นสัญญาณแรกของภาวะความผิดปกตินี้

 

การรักษาภาวะเสียการสื่อความสามารถทำได้โดยอิงความสามารถของสมองซึ่งจะพัฒนาขึ้นมาทำงานทดแทนส่วนที่เสียไป สำหรับ Aphasia ซึ่งมักจะเกิดจากสมองส่วนโบรคา (Broca's area) และเวอร์นิเก (Wernicke's area) ผิดปกติ การฝึกหัดสื่อสารใหม่ตั้งแต่เริ่มต้นอย่าง Speech Therapy จะสามารถกระตุ้นให้สมองส่วนอื่นเข้ามารับผิดชอบการสื่อสารและสื่อความอันเกี่ยวข้องกับภาษาได้ และเป็นการตอกย้ำให้คนส่วนใหญ่ที่ไม่เป็นภาวะนี้ได้เข้าใจว่า อาการเหล่านี้สามารถรักษาหรือทำให้ดีขึ้นได้ด้วยการสื่อสารอย่างเข้าใจ ไม่ใช่ทอดทิ้ง เพราะคนส่วนใหญ่ที่มีอาการเหล่านี้มักรู้สึกโดดเดี่ยวที่ไม่มีใครเข้าใจสิ่งที่ต้องการสื่อ

ภาพ : Shutterstock

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow