Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

พูดแบบไหน ให้โดนใจ (ลูก) วัยรุ่น

Posted By สุภาพรรณ ศรีสุข | 14 ธ.ค. 61
3,978 Views

  Favorite

คุณเคยสงสัยไหมว่า เป็นเพราะอะไร เมื่อลูกเริ่มโตขึ้น กลับเชื่อฟังและให้ความสำคัญกับพ่อแม่น้อยลง ทั้ง ๆ ที่ตอน​ที่​ลูก​เป็น​เด็ก เขา​คุย​กับ​คุณ​ทุก​เรื่อง แต่​พอ​เป็น​วัยรุ่น เขา​กลับ​ไม่​บอก​อะไร​คุณ​เลย

 

ความเป็นจริงแล้ว การที่จะทำให้ลูกฟังสิ่งที่พ่อแม่พูดนั้นจัดเป็นงานที่ท้าทายอีกอย่างหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากและซับซ้อนเกินไป วันนี้เรามาเรียน​รู้​เคล็ดลับ​ที่​จะ​เข้า​ถึง​ใจ​ลูก​วัยรุ่นกันค่ะ

 

ภาพ : Shutterstock

 

คุยสบาย ๆ ไร้ความกดดัน

หา​โอกาส​คุย​กันลูก​แบบ​สบาย ๆ หาจังหวะ​ตอน​ที่​ทั้ง​คุณ​และ​ลูก​รู้สึก​ผ่อน​คลาย สบายใจ อาจเป็นในเวลาที่กำลังรับประทานอาหาร หรือนั่งดูรายการโปรดด้วยกัน ใช้ช่วงเวลาที่มีร่วมกันเพื่อสร้างความใกล้ชิด และลดช่องว่างทางความรู้สึกของลูกให้ได้มากที่สุด

รับฟังอย่างตั้งใจ 

เทคนิคง่าย ๆ ของการสร้างความไว้วางใจ ก็คือ การที่พ่อแม่ต้องทำตัวเป็นผู้ฟังที่ดีให้ลูกเห็นเสียก่อน เมื่อลูกมีเรื่องอยากจะคุยกับพ่อแม่ พ่อแม่ควรหยุดทุกอย่างที่ทำอยู่ และหันมาสนใจฟังในสิ่งที่ลูกกำลังพูด คอยสบตาเพื่อให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่กำลังฟัง และไม่ขัดจังหวะในขณะที่ลูกพูด อาจมีการตอบรับลูกบ้างในบางจังหวะ เพื่อแสดงให้ลูกรู้ว่าเรากำลังสนใจ แต่ก็ควรระมัดระวังน้ำเสียงในขณะที่กำลังพูดคุยกับลูกด้วย

การที่พ่อแม่ตั้งใจรับฟังลูกพูดทันทีที่ลูกต้องการ เขาจะเห็นได้ถึงความห่วงใยของพวกคุณ และกล้าที่จะพูดคุยกับพ่อแม่อย่างเปิดใจมากขึ้นด้วย อย่าลืมรับฟัง แสดงให้เห็นว่าเราใส่ใจช่วงที่ลูกเล่าให้เราฟัง แม้ในบางเรื่องเราอาจจะไม่เห็นด้วย หรือมีเรื่องอยากแนะนำลูก แต่พ่อแม่ควรอดทนฟังให้จบ เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าได้เปิดใจกับพ่อแม่อย่างเต็มที่แล้ว

พูดสั้น ไม่เยิ่นเย้อ

เมื่อต้องการทำความเข้าใจหรือสร้างข้อตกลงบางอย่างกับลูก พ่อแม่ไม่จำเป็นที่จะต้องพูดอธิบายยืดยาว หรือแจกแจงรายละเอียดมากเกินไป เพราะในบางครั้งการพูดยืดยาวเกินไป อาจกลายเป็นการสร้างภาวะการปะทะกันทางอารมณ์ขึ้นมาอีก ดังนั้นเมื่อต้องการสื่อสารกับลูกในเรื่องใด จงพูดเฉพาะเรื่องนั้น เคลียร์ปัญหาที่ค้างคาใจ แยกเป็นแต่ละประเด็น ๆ ไป เพื่อลูกจะได้ทำความเข้าใจและได้ใช้เวลาคิดถึงเรื่องที่คุณพูดได้มากขึ้น

งดใช้คำสั่ง 

พ่อแม่อาจเคยสังเกตเห็นว่า ในบางครั้งเมื่อพ่อแม่เริ่มออกคำสั่ง หรือใช้น้ำเสียงที่เป็นการบังคับ ลูกจะเริ่มเฉไฉ และไม่ฟังในสิ่งที่พ่อแม่พูด ดังนั้นหากพ่อแม่ต้องการสื่อสารกับลูกและเข้าไปนั่งอยู่ในใจลูก สิ่งสำคัญก็คือ การพยายามตั้งใจฟัง เพื่อเข้าใจปัญหาทั้งหมดเสียก่อน หลังจากนั้นก็ลองเปลี่ยนสถานการณ์ใหม่ แทนที่จะออกคำสั่งหรือดุด่าเสียงดัง เป็นการให้คำแนะนำและสนับสนุนลูกด้วยรอยยิ้ม ที่สำคัญจงให้โอกาสลูกได้ “ฝึก” ใช้ความคิดในการแก้ไขปัญหาด้วยตนเองเสียก่อน อย่าเข้าไปจัดการปัญหาของลูกทุกเรื่อง เพราะนั่นไม่ได้ทำให้ลูกเกิดการเรียนรู้ในเรื่องใดเลย

 

เพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่กำลังสับสน และกำลังเผชิญกับปัญหาหลายอย่างที่เข้ามาท้าทายเขา ดังนั้นพ่อแม่อาจต้องมีความเข้าใจในอารมณ์และบุคคลิกที่เปลี่ยนไปของลูกมากขึ้น พ่อแม่อาจต้องเปลี่ยนแปลงบทบาทของตนเองในหลากหลายด้าน เพื่อให้การสนับสนุนและแสดงให้ลูกเห็นว่า ไม่ว่าสถานการณ์ภายนอกจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่ความรักที่พ่อแม่มีให้จะยังคงอยู่เหมือนเดิม

 

 

สุภาพรรณ ศรีสุข (ครูแหม่ม)
ที่ปรึกษาวิชาการ โรงเรียนศิลปพัฒนาการสมองเด็ก K.D.S.

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • สุภาพรรณ ศรีสุข
  • 4 Followers
  • Follow