Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

21-22 ตุลาคม 2561 มาชมฝนดาวตกโอไรโอนิดส์กันเถอะ

Posted By sanomaru | 19 ต.ค. 61
14,904 Views

  Favorite

มาชมฝนดาวตกโอไรโอนิดส์ในช่วงวันที่ 21-22 ตุลาคม 2561 กันเถอะ เนื่องจากในช่วงวันดังกล่าวจะเป็นวันที่มีอัตราการตกสูงสุดอยู่ที่ 15-20 ดวงต่อชั่วโมง ซึ่งสามารถรอชมได้ตั้งแต่เวลา 23.00 น. เป็นต้นไปจนถึงเวลาประมาณ 06.00 น. เหนือท้องฟ้าทางทิศตะวันออก

 

ชมฝนดาวตกโอไรโอนิดส์

โดยปกติแล้ว เราสามารถเฝ้ารอชมฝนดาวตกโอไรโอนิดส์ได้ในช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งปีนี้มีอัตราการตกสูงสุดในวันที่ 21-22 ตุลาคม 2561 คาดว่าจะมีอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 15-20 ดวงต่อชั่วโมง ฝนดาวตกบางดวงจะเดินทางเร็วและสว่างมาก อาจมีความเร็วถึง 238,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีศูนย์กลางการกระจายอยู่ใกล้กับกลุ่มดาวนายพราน บริเวณดาบเหนือไหล่ด้านซ้ายของนายพราน เหนือท้องฟ้าทางทิศตะวันออก สามารถสังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 23.00 น. เป็นต้นไป จนถึงเวลาประมาณ 06.00 น. และน่าจะเห็นได้ดีที่สุดเวลาประมาณ 02.00 น. โดยสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในทุกพื้นที่ของประเทศไทย แต่สำหรับปีนี้อาจมีแสงจันทร์รบกวนอยู่บ้าง

 

รู้จักฝนดาวตกโอไรโอนิดส์หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวนายพราน

ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์เกิดจากเศษฝุ่นหางของดาวหาง 1P/Halley หรือหางของดาวหางฮัลเลย์ซึ่งมีลักษณะเป็นน้ำแข็ง เมื่อมันโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ขณะที่โลกก็โคจรพาดผ่านหางของมัน ทำให้เศษฝุ่นหางผ่านเข้ามาและเสียดสีกับชั้นบรรยากาศของโลก ทำให้เกิดความร้อนและลุกไหม้ จึงเห็นเป็นแสงสว่างวาบตกลงบนพื้นโลก อย่างไรก็ตาม โดยส่วนใหญ่แล้วสะเก็ดเหล่านี้จะเผาไหม้หมดก่อนตกลงสู่พื้นโลก ทั้งนี้โอริโอนิดส์เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นตามเส้นทางการเกิดฝนดาวตก กล่าวคือ เส้นทางการตกของมันอยู่ใกล้กับกลุ่มดาวนายพรานหรือกลุ่มดาวโอไรออน (Orions) นั่นเอง

 

สำหรับดาวหางฮัลเลย์ เป็นดาวหางที่จะโคจรเข้าใกล้โลกในทุก ๆ 75-76 ปี ซึ่งนักดาราศาสตร์มีการบันทึกเรื่องราวของดาวหางฮัลเลย์มาตั้งแต่ 240 ปีก่อนคริสตกาล กระทั่งในปี 1705 ศาสตราจารย์และนักดาราศาสตร์ Edmund Halley ได้มีการตีพิมพ์เรื่องราวที่แสดงให้เห็นถึงหลักฐานเกี่ยวกับดาวหางฮัลเลย์ที่โคจรมาใกล้โลกซ้ำ ๆ กันเป็นครั้งแรก และพยากรณ์ว่าจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในปี 1758 และเมื่อเขาเสียชีวิตลง หลังจากนั้นดาวหางดังกล่าวก็ปรากฏให้เห็นจริงตามที่เขาพยากรณ์ไว้ จึงให้ชื่อดาวหางนี้ว่า ดาวหางฮัลเลย์ ตามชื่อของเขา และในการโคจรเข้าใกล้โลกที่เราจะสามารถเห็นดาวหางฮัลเลย์ได้ครั้งต่อไปคือปี 2061

 

การเตรียมตัวดูฝนดาวตก

ในการเตรียมตัวดูฝนดาวตกโอไรโอนิดส์ สามารถดูได้ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย แต่หากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงแสงไฟฟ้าจากเมือง เพื่อการมองเห็นที่ชัดเจนขึ้น นอกจากนี้ยังควรเตรียมความพร้อมให้กับตาของเรา โดยการปรับสายตาให้ชินกับความมืดประมาณ 15-20 นาที ก่อนการดูดาว และควรเตรียมอุปกรณ์เพื่ออำนวยความสะดวกในการดูฝนดาวตกไปด้วย เช่น ผ้าห่ม ผ้าปูพื้น แต่ไม่จำเป็นต้องใช้กล้องดูดาว เพราะเราสามารถมองเห็นฝนดาวตกโอไรโอนิดส์ได้ด้วยตาเปล่า

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow