Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทำอย่างไรให้เด็กไทยรักการอ่าน โดย ดารกา ต้นครองจันทร์

Posted By Plook Teacher | 15 ธ.ค. 59
14,910 Views

  Favorite

 

    การรณรงค์ให้เด็กไทยมีนิสัยรักการอ่านเป็นเป้าหมายที่ทุกฝ่ายช่วยกันหาวิธีการและดำเนินการมาโดยตลอด แต่ระยะเวลาอันยาวนานที่ผ่านมาเด็กไทยก็ยังรักการอ่านน้อยมาก ทั้งนี้ เกิดจากปัจจัยหลายๆ ด้านต่อไปนี้ที่เป็นอุปสรรคในการรณรงค์ให้มีนิสัยรักการอ่านไม่ได้ผลเท่าที่ควร

    1. เด็กไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันไม่มีเวลาว่างมากพอที่จะมีโอกาสได้เลือกอ่านหนังสือที่ตนเองสนใจ เพราะเวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันหมดไปกับการเรียนพิเศษในหลายวิชา วุ่นวายกับการทำรายงานที่ได้รับมอบหมายจากครูอาจารย์หลายท่านในเวลาเดียวกัน นอกจากนั้นยังต้องทำการบ้านอีกมากมาย เด็กๆ ที่เราพบเห็นในห้องสมุดและข้อมูลสถิติการเข้าใช้บริการห้องสมุด ไม่ได้สรุปว่าเด็กเหล่านั้นมีนิสัยรักการอ่าน   ส่วนใหญ่แล้วเด็กๆ เข้าไปเพื่อการค้นคว้าทำรายงานมากกว่าที่จะใช้เวลาว่างใน การอ่านหนังสือเพื่อความสนุกสนานและเพลิดเพลิน

    2. เทคโนโลยีที่ทันสมัยน่าสนใจในปัจจุบันมีส่วนเบี่ยงเบนความสนใจของการอ่านไปอย่างน่าเสียดาย เด็กๆ ให้ความสนใจและใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับวิทยาการเครื่องเล่นเทคโนโลยีที่ทันสมัยในรูปแบบต่างๆมากกว่าที่จะมาอ่านหนังสือ

    3. วัยที่เหมาะสมที่สุดที่จะปลูกฝังให้มีนิสัยรักการอ่าน คือ วัยของเด็กที่อยู่ในระดับประถมศึกษา คือระหว่างอายุ 7 – 12 ปี   เด็กในวัยนี้เป็นวัยที่กำลังซุกซนชอบวิ่งเล่นสนุกสนานไม่อยู่นิ่ง มีช่วงความสนใจระยะสั้น ประกอบกับยังอ่านหนังสือไม่คล่องสะกดคำยังไม่ถูกต้อง  การที่จะทำให้เด็กๆ เข้ามาอ่านหนังสือในห้องสมุดที่มีกฎกติกามากมายและมีนิสัยรักการอ่านจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก ครูระดับประถมศึกษาจึงต้องคิดค้นหาวิธีทำอย่างไรให้เด็กอยากอ่านหนังสือในขั้นตอนแรกก่อนจะถึงขั้นให้มีนิสัยรักการอ่าน

    4. ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีนิสัยรักการอ่าน การรณรงค์ให้เด็กไทยมีนิสัยรักการอ่านจึงพัฒนาไปได้ช้ามาก เนื่องจากขาดความร่วมมือจากผู้ปกครองในการรณรงค์ให้ลูกหลานมีนิสัยรักการอ่าน ผู้ปกครองส่วนหนึ่งยังไม่เห็นความสำคัญของการอ่านเท่าที่ควร เพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่มีสถานะภาพทางความรู้และฐานะไม่เอื้ออำนวยให้บุตรหลานมีนิสัยรักการอ่านได้

    5. ขาดการปลูกฝังที่จริงจังและต่อเนื่องจากสถานศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เท่าที่ผ่านมาการจัดการศึกษาในโรงเรียนระดับประถมศึกษายังขาดครูบรรณารักษ์ โดยเฉพาะโรงเรียนประถมขนาดใหญ่ประจำอำเภอและประจำจังหวัดที่มีจำนวนนักเรียนมากกว่า 1000 คนขึ้นไป   โรงเรียนเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่มีบรรณารักษ์มีแต่ครูผู้สอนทำหน้าที่แทนบรรณารักษ์  ขณะเดียวกันก็มีการสับเปลี่ยนตัวบุคคลที่ทำหน้าที่บรรณารักษ์อยู่เสมอ ประกอบกับครูผู้สอนในระดับประถมศึกษาต้องทำหน้าที่สอนและเตรียมการสอนหลายวิชา  มีงานพิเศษหลายงานที่ต้องรับผิดชอบ   จึงทำให้ครูที่ทำหน้าที่บรรณารักษ์ไม่มีเวลามากพอที่จะจัดกิจกรรมสร้างนิสัยรักการอ่านได้อย่างสม่ำเสมอ  ผู้บริหารสถานศึกษาส่วนใหญ่ก็ยังไม่เห็นความสำคัญของห้องสมุดเท่าที่ควร  คาบเวลาสำหรับการเรียนวิชาการใช้ห้องสมุดแบบถาวรจึงไม่มี  ทำให้นักเรียนระดับประถมศึกษาไม่มีความรู้พื้นฐานการใช้ห้องสมุดให้ต่อเนื่องกับระดับมัธยมศึกษาได้  ครูบรรจุใหม่ที่เรียนวิชาเอกบรรณารักษ์จะถูกบรรจุไปอยู่ในโรงเรียนชนบทห่างไกลที่มีครูไม่พอ   ครูบรรณารักษ์จึงไม่ได้ทำหน้าที่บรรณารักษ์บ้างก็ไปสอนเด็กระดับก่อนประถม  บ้างก็เป็นครูประจำชั้นสอนทุกวิชา   เป็นที่น่าเสียดายบุคลากรบรรณารักษ์ที่ไม่ได้ใช้ความรู้ความสามารถพัฒนางานจุดนี้

 

    จากสภาพปัญหาดังกล่าวโรงเรียนระดับประถมศึกษาควรรับผิดชอบวางแผนจัดการเรียนการสอนการใช้ห้องสมุดอย่างเป็นทางการทุกโรงเรียน  เพื่อวัตถุประสงค์ให้มาตรฐานคุณภาพนักเรียนที่จบชั้นประถมศึกษาทุกคนมีความรู้พื้นฐานการใช้ห้องสมุดสำหรับเป็นแนวทางในการใช้ห้องสมุดโรงเรียนมัธยม ห้องสมุดท้องถิ่นและห้องสมุดประชาชนต่อไป

 

    นอกจากจะสอนให้นักเรียนมีความรู้พื้นฐานการใช้ห้องสมุดแล้ว   ครูผู้สอนจะต้องคิดค้นหาวิธีทำให้นักเรียนอยากเข้าห้องสมุด อยากอ่านหนังสือและมีนิสัยรักการอ่าน   ด้วยเหตุผลที่ว่าวัยของเด็กเป็นอุปสรรคในการรณรงค์ให้มีนิสัยรักการอ่าน   ดังนั้นก่อนที่จะปลูกฝังให้นักเรียนมีนิสัยรักการอ่าน ก็ต้องเริ่มต้นตั้งแต่ปลูกฝังให้นักเรียนรักห้องสมุดอยากเข้าห้องสมุด ปลูกฝังให้รักหนังสือทุกเล่มในห้องสมุด และรักครูที่ทำหน้าที่ห้องสมุด  หลังจากนั้นจึงจะปลูกฝังให้เด็กมีนิสัยรักการอ่านได้

 

    การปลูกฝังให้เด็กอยากเข้าห้องสมุดโดยไม่มีความจำเป็นเข้ามาบังคับ  สถานที่ใดบ้างที่ใครๆ ก็สนใจอยากเข้า   เมื่อเข้าไปแล้วรู้สึกว่าเวลาผ่านไปรวดเร็วโดยไม่รู้สึกเบื่อ ห้องสมุดก็ควรจะจัดให้มีบรรยากาศคล้ายกับสถานที่ๆ กล่าวมา   นั่นก็คือจัดบรรยากาศให้เหมือนศูนย์การค้า มีจุดสนใจ มีสิ่งเร้าใจ มีสิ่งของหลากหลายให้เลือก มีสีสันที่ดึงดูดสายตา สะอาดเย็นสบาย มีผู้ขายที่ใจดีต้อนรับด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส   เท่านี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับการนำข้อมูลเหล่านี้ไปจัดบรรยากาศภายในห้องสมุด  เมื่อเด็กๆ เข้าไปในห้องสมุดแล้วสิ่งที่สำคัญคือทำอย่างไรให้เด็กอยู่ในห้องสมุดให้นานที่สุด  นั่นก็คือต้องจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่มีรูปแบบแปลกใหม่และหลากหลาย เพราะอย่าลืมว่า  ความสนใจของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน   กิจกรรมสร้างนิสัยรักการอ่านในห้องสมุดควรให้เด็กมีส่วนร่วมในการทำ  ซึ่งจะเป็นการช่วยบริหารเวลาที่ไม่เพียงพอของครูได้อีกด้วย  นอกจากนั้นเด็กๆ ก็ยังสนใจอ่านผลงานเขียนของตนเอง ผลงานของเพื่อนๆ ผลงานของพี่ และผลงานของน้อง   กิจกรรมสร้างนิสัยรักการอ่านเหล่านี้นอกจากทำให้เด็กๆ มีนิสัยรักการอ่านแล้ว  ยังทำให้นักเรียนมีนิสัยรักการเขียนได้อีกด้วย

 

    กิจกรรมสร้างนิสัยรักการอ่านในห้องสมุดที่จะกล่าวถึงต่อไปเป็นกิจกรรมที่ครูและนักเรียนนำความรู้จากหนังสือมาแปรรูปให้มีรูปแบบที่แปลกใหม่น่าสนใจ  จากการสังเกตเด็กวัยนี้จะไม่ชอบอ่านหนังสือที่มีลักษณะเป็นรูปเล่มเท่าใดนัก

 

ตัวอย่างกิจกรรมสร้างนิสัยรักการอ่านในห้องสมุด

        เพลงพาเพลิน จัดบอร์ดเพลงฮิตมีภาพนักร้องที่เด็กๆ ชื่นชอบ  มีหนังสือเพลงที่ทันสมัยทั้งแนวลูกทุ่ง ลูกกรุง สตริง  เพลงประกอบการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต และเพลงจริยศึกษา

        ปราสาทคำถาม ให้นักเรียนอ่านหนังสือแล้วดึงเนื้อหาหรือถามตอบจากหนังสือมาเขียนลงในกระดาษที่มีขนาดเท่ารูปถ่ายพร้อมทั้งวาดภาพระบายสี แล้วนำผลงานทั้งหมดใส่ในซองอัลบั้ม ตั้งชื่อเรื่องทำปกให้สวยนำผลงานของนักเรียนไปจัดวางไว้ที่มุมปราสาทคำถาม

        สระน่ารู้  ทำแฟ้มภาพการ์ตูนมีหน้าปกสีสวยสดใส ด้านในเป็นพยัญชนะสระ ตัวสะดก วรรณยุกต์  เพื่อให้นักเรียนสนุกสนานเพลิดเพลินในการประสมสระ

        รักภาพรักภาษา  วาดภาพการ์ตูนประกอบคำระบายสี หรือตัดภาพการ์ตูนมาปะติดประกอบคำ  แล้วนำมาใส่ไว้ในถุงพลาสติกรวบรวมใส่กล่องหรือกระเช้าที่ตกแต่งให้สวยงามสะดุดตา    นักเรียนสามารถเรียนรู้คำโดยมีรูปภาพเป็นสื่อและสามารถนำไปเล่นเกมได้อีกด้วย (ควรมีจำนวนภาพประกอบคำประมาณ 400 – 500 ภาพ)

        เรียนรู้ด้วยภาพ  แบ่งกลุ่มให้นักเรียนไปซื้อภาพชุดการศึกษาตามที่กลุ่มตกลงนำมาตัดและปะติดในสมุดวาดเขียนเล่มใหญ่  เขียนชื่อเรื่องและช่วยกันวาดภาพปกระบายสีให้สวยงาม  แล้วนำผลงานของนักเรียนจัดมาวางบนชั้นให้น่าสนใจ

        เก็บตกจากหนังสือพิมพ์ ตัดบทความจากหนังสือพิมพ์มาเย็บเข้าเล่มเป็นเล่มเล็กๆ ติดสันด้วยเทปผ้าหลากสี  จัดไว้ในมุมที่ตกแต่งให้สวยสะดุดตา

        ศัพทานุกรมแปลงร่าง นำคำศัพท์พร้อมทั้งความหมายจากหนังสือศัพทานุกรมเขียนลงในกระดาษแข็งที่ตัดเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ผนึกใส่ถุงพลาสติก รวบรวมใส่กระเช้าที่ผูกโบว์สวยงาม

        ขวดมหัศจรรย์ แจกกระดาษสีให้นักเรียนเขียนความรู้ที่ได้อ่านจากหนังสือ   นำกระดาษมาม้วนใส่ในขวดนมเปรี้ยวเล็กๆ โดยตัดกระดาษให้สูงกว่าปากขวดเล็กน้อย

        ไม้พายวิเศษ เขียนประโยคสัญลักษณ์ลงบนไม้พายอันเล็กๆ ส่วนอีกด้านเขียนเฉลย สวมถุงพลาสติกมัดด้วยยางให้เหลือด้ามไม้พายไว้สำหรับถือ ผูกโบว์หลากสีทับเส้นยางเพื่อความสวยงาม

        ธงแห่งชัยชนะ แจกกระดาษสีที่ตัดเป็นผืนธงเล็กๆ ให้นักเรียนเขียนความรู้ที่อ่านจากหนังสือลงในกระดาษแล้วนำผืนธงหลากสีมาทากาวติดกับด้ามไม้ไผ่ รวบรวมปักไว้ในถังทราย

        คณิตคิดสนุก เขียนแนวคิดคณิตศาสตร์และแบบฝึก 4 – 5 ข้อ ลงในกระดาษวาดภาพการ์ตูนระบายสีประกอบ ผนึกใส่ถุงพลาสติก วางไว้ให้นักเรียนฝึกคิดเลข

        ย่อแล้วจ๊ะ ให้นักเรียนอ่านนิทานคนละ 1 เล่ม แล้วย่อให้เหลือ 7 – 10 บรรทัด โดยให้ได้ใจความครบถ้วนพร้อมทั้งข้อคิดที่ได้  คัดลงในกระดาษวาดเขียนเล่มเล็ก  โดยวาดภาพประกอบนิทาน 1 ภาพระบายสีให้สวยงาม ด้านหลังให้นักเรียนตั้งคำถามจากนิทานด้านหน้า 3 – 5 ข้อ  วาดภาพประกอบคำถามให้สวยงาม ผนึกใส่ถุงพลาสติกวางไว้ให้แลกเปลี่ยนกันอ่าน

        ร้อยแก้วร้อยกรองของหนู ให้นักเรียนเขียนร้อยแก้วร้อยกรองประกอบภาพ โดยคำนึกถึงความเหมาะสมของระดับชั้น เช่นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔  ให้แต่งนิทานส่งเสริมคุณธรรมคนละ 1 เรื่องมีความยาวประมาณ 7 – 10 บรรทัด โดยไม่ให้เค้าโครงเรื่องซ้ำกับหนังสือที่ขาย แล้วคัดลงในกระดาษวาดเขียนเล่มเล็กวาดภาพประกอบนิทานให้จบในแผ่นเดียว ผนึกใส่ถุงพลาสติกวางไว้ให้แลกเปลี่ยนกันอ่าน

        พี่เขียนน้องอ่านเบิกบานใจ ให้นักเรียนประถมศึกษาปีที่ 6 แต่งนิทานเป็นเล่ม มีความยาวเนื้อเรื่อง 6 หน้า ทุกหน้ามีภาพประกอบ มีปกนอก มีปกใน มีคำนำ และทุกเรื่องต้องมีข้อคิดหรือคติเตือนใจ ส่วนใหญ่เป็นหนังสือนิทานส่งเสริมคุณธรรมนิทานส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน และหนังสือนิทานพื้นบ้านพื้นเมือง (ส่วนใหญ่เป็นนิทานพื้นบ้านพื้นเมืองของชาวไทยมุสลิม เพราะนักเรียนกว่าร้อยละ 90 เป็นนักเรียนไทยมุสลิม) ปัจจุบันมีหนังสือนิทานประมาณ 200 เล่ม จัดวางไว้บนชั้นสำหรับแลกเปลี่ยนกันอ่าน

        โทรฟรี นำโทรศัพท์ที่ชำรุดแล้วมาวางคู่กับสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์ จัดตกแต่งโต๊ะโทรศัพท์ด้วยแจกันดอกไม้ วาดภาพการ์ตูนและเขียนป้ายว่าที่นี่โทรฟรี การค้นหาชื่อผู้ใช้โทรศัพท์ของนักเรียนจะเป็นพื้นฐานในการใช้พจนานุกรมต่อไป

 

    กิจกรรมสร้างนิสัยรักการอ่านที่กล่าวมาข้างต้น ให้นักเรียนทำในคาบเวลาการเรียนการสอนวิชาการใช้ห้องสมุดอย่างเป็นทางการประมาณ 40 นาที สลับกันการสอนพื้นฐานการใช้ห้องสมุด เป็นงานที่ให้นักเรียนทำนอกเวลา กิจกรรมที่มอบหมายให้นักเรียนทำมีผลทำให้นักเรียนได้เข้าห้องสมุดมากขึ้น ได้สัมผัสกับหนังสือทุกเล่มในห้องสมุด 

 

    ส่วนการสอนวิชาการใช้ห้องสมุด ที่ประกอบด้วยความรู้พื้นฐานบรรณารักษ์ การระวังรักษาหนังสือ มารยาทในการใช้ห้องสมุด ล้วนแต่เป็นเรื่องที่น่าเบื่อ เพราะห้องสมุดมีกฎเกณฑ์ ครูผู้สอนต้องใช้เทคนิคในการสอน สอนอย่างไรให้เด็กรู้สึกรักห้องสมุด ไม่เบื่อกฎกติกาต่างๆจนไม่อยากเข้าห้องสมุด  ทั้งนี้ได้รวบรวมเนื้อหาทั้งหมดมาแต่งเป็นเพลงสั้นๆที่ร้องง่ายจำง่ายไว้ทั้งหมด 37 เพลง ให้นักเรียนได้ร้องเพลงแสดงท่าทางประกอบ มีเครื่องดนตรีให้เคาะจังหวะ เน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุขและมีทัศนคติที่ดีต่อห้องสมุดและการอ่าน นอกจากนั้นแล้วก็ยังแต่งหนังสือภาพอ่านประกอบระดับประถมศึกษาเรื่อง “ห้องสมุดของหนู” สำหรับใช้ในการเรียนการสอน โดยมุ่งเน้นทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ทำเรื่องที่น่าเบื่อให้น่าสนใจ

 

    จากประสบการณ์ที่ผ่านมา  การคิดค้นหาวิธีทำให้เด็กอยากอ่านหนังสือเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถดึงดูดให้เด็กๆ  ในระดับประถมศึกษาสนใจอ่านหนังสือและมีนิสัยรักการอ่านได้

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow