"ปัจจุบันขณะ" โดย พระอาจารย์ปสันโน ภิกขุ

โพสต์เมื่อ : ๑๗ กรกฎาคม

ปัจจุบันเป็นเวลาที่เราสามารถตั้งผู้รู้ไว้ในจิตใจ

สำหรับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง เราก็ไม่สามารถบังคับให้เป็นไปตามที่เราต้องการได้ หรือเป็นแค่การคาดคะเน อดีตก็เป็นความทรงจำ แต่ในปัจจุบันเรามีโอกาสที่จะตั้งผู้รู้ ตั้งสติ ตั้งปัญญา ตั้งการใคร่ครวญพิจารณา

 

ไม่ว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร ก็ต้องอาศัยปัจจุบัน เหตุที่เราได้ทำในปัจจุบัน จะส่งผลออกไปในอนาคต

นั่นคือ ถ้าเหตุในปัจจุบันไม่ดี อนาคตก็ไม่ดี เช่นกัน ถ้าเหตุในปัจจุบันดี ผลที่เกิดต่อไปในอนาคตก็ต้องดี

 

อดีตก็คือสิ่งที่ผ่านไปแล้ว เราก็หมดสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนไปแล้ว จะพะวง จะกังวล จะผูกรัดกับมัน ไปเสียใจ หรือดีใจกับมันก็ไม่มีประโยชน์ เพราะมันเกิดขึ้นแล้ว  แต่เรามีโอกาสที่จะเรียนรู้อยู่ในปัจจุบัน สามารถทบทวน ใช้เป็นข้อมูลในการฝึกหัดตนเอง ทำตนเองให้ดีขึ้น หรือเรียนรู้กับสิ่งที่พลาดไปแล้ว ปรับปรุงให้ดีขึ้น

 

แต่ไม่ใช่ว่า ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต มีแต่ปัจจุบันอย่างเดียว แต่เป็นการ “เรียนรู้จากอดีต วางแผนสำหรับอนาคต”

 

ที่เราทำอยู่ ในปัจจุบัน สามารถทำอยู่บนพื้นฐานของความชัดเจน แจ่มใส ใช้สติปัญญาของเราในปัจจุบัน ทำให้เรื่องในอดีตไม่มาทำให้เรามีทุกข์ อนาคตก็จะออกมาในทางที่ดี

 

พระพุทธเจ้าสอนว่า ปัจจุบันเป็นสิ่งที่สำคัญ
ปัจจุบันเป็นสิ่งที่เราต้องตั้งหลักอยู่ แต่ท่านก็ไม่ได้ปฎิเสธอดีต ดังเห็นจากทรงตรัส ราหุโลวาทสูตร -- พระสูตรที่ พระพุทธเจ้าได้ทรงอบรมพระราหุล เพื่อให้ตั้งอยู่ในกุศลธรรม พร้อมที่จะละอกุศลธรรม

 

พระพุทธเจ้าทรงเป็นแบบอย่างของผู้ที่อยู่กับปัจจุบันแต่ไม่ได้อยู่เฉย ๆ

แม้แต่พระพุทธเจ้าเอง ท่านก็วางแผนสำหรับอนาคต และท่านได้ตั้งพระวินัย โดยเรียนรู้จากอดีต ปรับปรุงจากความผิดพลาดในสงฆ์หรือเกิดความประพฤติไม่ดีงามไม่เหมาะสม ทั้งหมดนี้ก็เพื่อความงดงามในหมู่สงฆ์ในอนาคต ป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
 

อีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ ว่า ทรงวางแผน ไม่ได้อยู่กับปัจจุบันเฉย ๆ คือ
หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงเสวยวิมุตติสุข จากการตรัสรู้ ทรงวางแผนในการเผยแพร่คำสอนต่อไป และพิจารณาว่า สอนใคร สอนแบบไหน เวลาไหนที่เหมาะสมที่จะสอน ไม่ใช่ว่า แค่ออกจากต้นโพธิ์และก็สอนไปเรื่อย

ท่านจึงได้เริ่มสอนจากปัจจวัคคีย์ และขยายไป ๖๐ องค์ จากนั้น ได้ทรงให้แยกย้ายกันไปสอน โดยไปในทางที่ไม่ซ้ำกัน จากนั้น ท่านได้เผยแพร่ต่อไปยังพระเจ้าแผ่นดินของแคว้นมคธ และ ๓ พี่น้องตระกูลกัสสปะ ซึ่งเป็นผู้นำทางความคิดในคนหมู่มาก ช่วงนั้น

เรียกได้ว่า ภายในเวลาไม่ถึงปี ท่านมีลูกศิษย์ที่มีความพร้อมทั้งผู้นำฝ่ายฆราวาสที่เป็นพระเจ้าแผ่นดิน และ หัวหน้าลัทธิ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาต่อไป

 

ซึ่งเราก็ควรยึดพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่างในการทำปัจจุบันให้ดี เรียนรู้จากอดีต และวางแผนต่อเพื่ออนาคต ซึ่งเมื่อทำปัจจุบันให้ดี อนาคตก็ดีตามนั่นเอง

 

การที่คนส่วนใหญ่ มองอนาคตแล้วเกิดทุกข์เพราะ เกิดความอยาก
อยากได้ในสิ่งที่ดี เช่นอยากได้รถคันใหม่ แต่ ไม่ได้ดูฐานะของตนเอง ก็เกิดทุกข์เพราะไม่ได้สมใจอยาก
 

มองอนาคตอย่างไรไม่ให้ทุกข์

ความพอใจ ความสันโดษ รู้จักพอใจ ตามมี ตามเกิด ตามเป็น แต่ความพอใจ ไม่ใช่เป็นเหตุของการไม่ทำอะไรเลย ตามที่หลายคนเข้าใจผิด แต่เป็นการทำในขอบเขตที่เรามีความสามารถ และเป็นสิ่งที่มีอยู่ จึงจะมีความสุข เพราะยินดี สันโดษพอใจกับสิ่งที่มี ที่เป็น

เพราะนั่นหมายถึง

  “ มีก็มีความสุข ถึงไม่มีก็มีความสุข -- ได้ตามปรารถนาก็มีความสุข ถึงไม่สมปรารถนาก็มีความสุข”

 เพราะพีงพอใจกับสิ่งที่มี ไม่ทุกข์ และสามารถยอมรับว่าเป็นเหตุการณ์ที่บังคับให้เป็นไปตามต้องการไม่ได้
 

ผลก็คือ เราจะทุ่มเทพยายามเต็มที่ เท่าที่เราทำได้ ในขอบเขตที่สมควร และจะมั่นใจในความดีที่ทำ ตราบใดที่อยู่ในกรอบของศีล ไม่รังแกใคร ไม่เบียดเบียนใคร ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร
 

นั่นคือ มีความสุข
เพราะความสุขไม่ได้อยู่ที่ว่าเราได้ แต่ความสุขอยู่ที่ว่า เราเป็น เป็นคนดี เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ตั้งอยู่ในหลักที่ถูกต้อง นั่นคือการเป็นบุญนั่นเอง  
 

คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่า ไปวัดถวายของคือการทำบุญ แต่จริง ๆ แล้ว การถือศีล การรักษาความถูกต้องดีงาม ในการกระทำและการพูด ก็เป็นบุญ การภาวนา ฝึกตัวเองให้มีอารมณ์ที่เยือกเย็น มีสติปัญญา สงบเสงี่ยม ก็เป็นบุญ
 

เมื่อทำความดี และอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล ก็เป็นบุญ การอนุโมทนาบุญเมื่อคนอื่นทำดี ก็ทำให้จิตใจเบิกบาน ก็เป็นบุญ ฟังธรรม เผยแพร่ให้คนอื่นมีธรรมะ ยิ่งถ้ามีสัมมาทิฎฐิ ยิ่งเป็นบุญใหญ่
 

บุญ คือ ความสุข เมื่อมีการกระทำที่ประกอบด้วยบุญ ก็คือการสร้างเหตุของความสุข 

 
 © ทรูปลูกปัญญา