Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
[รีวิว] ไลฟ์สไตล์เด็ก ม.เชียงใหม่ แชร์ชีวิตการเรียนจากทุกคณะ !!

  Favorite

          เชื่อว่าหลายคนที่เล็งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไว้ คงอยากรู้วิถีชีวิตการเรียน เรื่องเล่าสนุก ๆ จากรั้วมหาวิทยาลัยแห่งนี้ แต่บางทีไม่รู้จะไปถามใคร วันนี้ทาง Trueplookpanya จึงไปสัมภาษณ์ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบันจากทุกคณะและวิทยาลัย เพื่อแชร์เรื่องราวประสบการณ์ดี ๆ ให้กับน้อง ม.ปลาย ที่ใฝ่ฝันอยากเป็นลูกช้างได้ทราบกัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ฝั่งสวนสัก ซึ่งเป็นฝั่งที่อยู่ติดกับสวนสัตว์เชียงใหม่ ทางขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ โดยเป็นพื้นที่หลักของมหาวิทยาลัย ฝั่งสวนดอกจะเป็นพื้นที่ของคณะสายแพทย์ทั้งหมด รวมถึงโรงพยาบาลมหาราชหรือโรงพยาบาลส่วนดอก และฝั่งแม่เหี้ยะที่เป็นพื้นที่การเรียนของคณะสัตวแพทย์และอุตสาหกรรมเกษตร เราไปดูวิถีชีวิตของเด็กแต่ละคณะกันเลย
 

ภาพ : Isara Sriya

คณะมนุษยศาสตร์

คณะแรกของมหาวิทยาลัย มีเปิดให้เลือกเรียนหลายเมเจอร์ ทั้งเมเจอร์ภาษาตะวันออก ตะวันตก และเมเจอร์มนุษยศาสตร์ ซึ่งเด็กแต่ละเมเจอร์ชอบนั่งเล่น ทำการบ้าน ทำงาน ในอาณาเขตเมเจอร์ของตัวเอง พื้นที่ของคณะนี้ยาวตั้งแต่ตึก HB1 ไปถึงอ่างแก้ว ถ้ามองภาพไม่ออกให้นึกถึงสกายวอล์คจากสยามพารากอนถึงเซ็นทรัลเวิลด์ ส่วนเรื่องเรียน ปี 1 วิชาเรียนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยยาก เนื้อหาคล้ายตอนม.ปลาย แต่เมื่อเข้าปี 2 – 3 เริ่มมีการแบ่งสาขาแยกย่อยในแต่ละเมเจอร์ เนื้อหาการเรียนค่อนข้างแตกต่างกับตอนปี 1 ราวฟ้ากับเหว ยิ่งใครเรียนเมเจอร์ภาษา เมื่อเรียนจะไม่ได้ยินภาษาไทยจากอาจารย์แม้แต่นิดเดียว สำหรับปี 4 จะตามตัวหาเด็กปี 4 ยากมาก มีตัวเรียนค่อนข้างน้อย แต่งานหนักที่ตัวจบแทน
 

ภาพ : Methaporn Yawira

คณะศึกษาศาสตร์

เมื่อก้าวเข้ามาเรียนที่คณะศึกษาศาสตร์ วิชาเรียนตัวแรก คือ จิตวิทยา ตามด้วยวิชาหลักสูตรการศึกษา กฎหมายการศึกษาทั้งหมด การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ซึ่งการเรียนการสอนไม่เน้นทฤษฎีมาก แต่เน้นที่ปฏิบัติแทน มีกิจกรรมให้นักศึกษาทำตลอดทั้งปี มีให้ออกค่าย ค่ายที่ทำให้นักศึกษาเป็นครูจริงๆ รับบทบาทการสอนนักเรียน ยืนรับนักเรียนหน้าโรงเรียนตอนเช้าและส่งนักเรียนกลับบ้านตอนเย็น จัดกีฬาสีให้นักเรียน ทำให้เด็กมีรอยยิ้มและพัฒนาการสมวัย ส่วนการใช้ชีวิตประจำวันจะคล้ายกับเด็กคณะอื่น ตลกเฮฮา เที่ยวเล่นกันตามปกติ ไม่ได้เป็นคนเรียบร้อยเหมือนภาพที่หลาย ๆ คนคิดไว้ แต่เมื่อถึงเวลาเป็นครู ทุกคนวางตัวอย่างเหมาะสม และตั้งใจสอนสุดความสามารถ
 

ภาพ : Lollitar' Jorja

คณะวิจิตรศิลป์

เด็กวิจิตรได้เรียนปูพื้นฐานเกี่ยวกับศิลปะทั้งหมด เช่น เรียนวาดภาพ ประวัติศาสตร์ศิลป์ ตั้งแต่ปี 1 - 2 แต่เมื่อเข้าปี 3 และปี 4 เน้นไปที่วิธีการคิดและทำโปรเจค ซึ่งช่วงเวลานี้ทำให้ได้รู้จักเพื่อนและสนิทกับเพื่อนมากขึ้น เพราะต้องทำงานอยู่ที่คณะด้วยกันทั้งวันทั้งคืน มีหาทำกิจกรรมคลายเครียดทำร่วมกัน เช่น นั่งดูเดอะเฟส จัดปาร์ตี้หมูย่าง จับของขวัญปีใหม่ พอใกล้ส่งงานทุกคนจะรีบทำงานให้เสร็จ คนที่ทำงานเสร็จแล้ว จะเข้ามาช่วยงานเพื่อน รุ่งเช้าก็ไปพรีเซนต์งานถือว่าจบโปรเจค แต่สำหรับคนที่ทำงานเสร็จก่อนวันส่งจริง ทำให้มีเวลาว่าง หลายคนจึงไปหางานพิเศษทำ ช่วยงานศิลปิน รับวาดภาพ หรือทำเคสมือถือขาย เอาความรู้ที่เรียนมาประยุกต์ใช้เพื่อหาเงินซื้ออุปกรณ์การเรียน ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
 

ภาพ : SOC I Photos I CMU

คณะสังคมศาสตร์

เนื่องจากมีเรียนตั้งแต่เช้า ทำให้เด็กสังคมต้องรีบตื่นเพื่อหาข้าวเช้ากินตามใต้หอต่าง ๆ ก่อนมาเรียน แต่ถ้าวันไหนตื่นสายจะอดกินข้าวเช้า ต้องขี่มอเตอร์ไซด์ตรงเข้ามาที่คณะ เพื่อเข้าเรียนให้ทัน ตอนเที่ยงจะเดินไปกินข้างที่โรงอาหารสังคม และกลับเข้าเรียนต่อ แต่ถ้ามีงาน จะเข้าไปนั่งทำงานที่ห้องนักศึกษาป.ตรี – ป.โท ชีวิตตอนปี 1 - 2 ส่วนใหญ่จะอยู่กับเพื่อน ทำกิจกรรมร่วมกัน เพราะมีรับน้อง สปอร์ตเดย์ แข่งกีฬาชมรม รำวงสังคม จึงใช้เวลาส่วนใหญ่กับกิจกรรม แต่พอขึ้นปี 3 เริ่มจริงจังกับการเรียน ทำกิจกรรมลดลงมาก ต้องคิดหัวข้อโครงร่างงาน ทำงานส่งอาจารย์ให้ผ่าน แต่ยังร่วมกลุ่มกับเพื่อนทำงานที่คณะส่งข้าวส่งน้ำให้กันอยู่ ปี 4 ทุกคนต้องเริ่มทำวิจัยตั้งแต่ต้นเทอม เป็นเวลาที่จะต้องอยู่กับตัวเองส่วนใหญ่ ออกพื้นที่เก็บข้อมูล ลงสนาม พอเทอม 2 ต้องกลับมาเรียน เริ่มผ่อนคลาย ได้ใช้ชีวิตออกไปเที่ยวเล่นสนุกกับเพื่อนได้บ้าง
 

ภาพ : Sc Photo & Film CMU

คณะวิทยาศาสตร์

อีกหนึ่งคณะที่มีเมเจอร์จำนวนมาก ทั้งฟิสิกส์ เคมี ชีวะ คณิต ธรณี คอมพิวเตอร์ เป็นต้น เด็กคณะนี้มีไลฟ์สไตล์ที่คล้ายกับเด็กมนุษย์ คือ ใช้ชีวิตอยู่ที่เมเจอร์ตัวเองเป็นหลัก แต่พอกลางวันสามารถเจอเด็กทุกเมเจอร์ได้ที่โรงอาหารชีวะ จุดศูนย์รวมอาหารอร่อย ส่วนการเรียน ปี 1 - 2 ส่วนใหญ่ทุกเมเจอร์เรียนเหมือนกันหมด ต้องออกนอกคณะไปเรียนที่อาคารเรียนรวม ตึกมนุษย์ มีเรียนตัวเมเจอร์บ้างประปราย ปี 3 วิชาเรียนเป็นตัวเมเจอร์ทั้งหมด เป็นปีปราบเซียนเด็กวิทยาและอีกหลาย ๆ คณะในมหาวิทยาลัย เพราะต้องเรียนไปด้วย ทำสัมมนาไปด้วย ซึ่งเป็นช่วงเวลาเหนื่อยและท้อแท้กันมาก ต้องการกำลังใจจากคนรอบข้างมาก พอมาปี 4 ต้องทำโปรเจคจบ ซึ่งความยากง่ายขึ้นอยู่แต่ละเมเจอร์
 

ภาพ : Entaneer Photoclub CMU

คณะวิศวกรรมศาสตร์

ชีวิตการเรียนปกติของเด็กวิศวะ ส่วนใหญ่เช้าเรียน บ่ายเรียน เย็นออกกำลังกาย ตกดึกเข้าร้านเหล้า เล่นเกม ปีแรกของเด็กวิศวะได้เรียนวิชานอกคณะ พื้นฐานทางวิศวกรรม ปีต่อมาเรียนตัวเมเจอร์ ไปจนถึงปีสุดท้ายของการเรียนที่ต้องทำโปรเจคจบเหมือนคณะอื่น แต่ถ้าใครอยู่ในวงวนรูปแบบการเรียนไม่ปกติ คือ ต้องกลับไปเรียนตัวที่ดรอปมา ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ แคลคูลัส ซึ่งเวลาเปิดให้ดรอป เด็กวิศวะจะแห่มาดรอปกันมากที่สุด ยิ่งวันสุดท้ายที่ต่อแถวยาวตั้งแต่ในสำนักทะเบียนจนถึงสำนักหอสมุด จนบางปีต้องไปตั้งโต๊ะทำเรื่องดรอปถึงที่คณะ บางคนดรอปทันก็โชคดีไป แต่หลายคนที่ดรอปเรียนไม่ทัน ต้องหันมาตั้งใจเรียน อ่านหนังสือมากขึ้น ให้เพื่อนช่วยติวเนื้อหา ข้อสอบให้ เพื่อไม่ให้ได้ F มาอยู่ในทรานสคริป
 

ภาพ : Krittayanee Itthidecharon

คณะแพทยศาสตร์

การเรียนปีแรกในรั้วมหาวิทยาลัย ปี 1 คือ ปีที่สบายที่สุดของการเรียนหมอ ได้ชีวิตเที่ยวเล่นเหมือนเด็กคณะอื่น แต่พอขึ้นปี 2 – 3 เนื้อหาเรียนเริ่มเพิ่มระดับความยากขึ้นมาก มีสอบทุกเดือน ข้อสอบเป็นภาษาอังกฤษหมด สอบเสร็จหยุดแค่สามวัน กลับมาเรียนต่อ วนลูปไปใหม่แบบนี้ไปเรื่อย ๆ ส่วนการเรียนในปี 4 – 5 เน้นการเรียนการสอนภายในโรงพยาบาลเป็นหลัก เริ่มได้รักษาคนไข้ มีการซักประวัติตรวจร่างกายจริง ซึ่งต้องมีรับผิดชอบสูงมาก และพยายามปรับตัวทำงานร่วมกับหลายฝ่ายในโรงพยาบาล ตอนเย็นเรียนเสร็จต้องเข้ามาดูคนไข้ต่อถึงสองทุ่ม ช่วงนี้จะเหงามาก เพราะเลิกเรียนไม่พร้อมเพื่อน บางทีต้องไปกินข้าวคนเดียว ดังนั้นต้องปรับตัวและใช้ชีวิตคนเดียวให้เป็น พอถึงปี 6 เป็นปีที่หนักที่สุดในการเรียนเลยก็ว่าได้ เพราะต้องทำทุกอย่างเองหมด ตารางชีวิตค่อนข้างพัง เพราะกินข้าวไม่ตรงเวลา ไม่ค่อยได้นอน เนื่องจากต้องเข้าเวรและเรียนไปด้วยตลอดเวลา
 

ภาพ : Chok Chon

คณะเกษตรศาสตร์

ส่วนใหญ่ชีวิตการเรียนของเด็กเกษตร มช. เน้นเรียนทฤษฎี ใช้ชีวิตอยู่ในห้องแล็บเป็นหลัก ไม่ได้เข้าสวนเข้าไร่ตลอดเวลาอย่างที่เข้าใจกัน มีแต่เด็กเมเจอร์สัตวศาสตร์ลงพื้นที่ในไร่บ้างเป็นครั้งคราว เพราะต้องไปดูแลสัตว์เลี้ยงในไร่ การเรียนในปีแรกถือเป็นการการทบทวนความรู้วิทยาศาสตร์ม.ปลาย และเริ่มเรียนวิชาเกษตรพื้นฐาน ต่อมาจะได้เรียนตัวเมเจอร์ ยิ่งเข้าปีสูงขึ้นงานยิ่งเยอะ จนทำให้หลายครั้งทำงานไม่ทันต้องหอบผ้าห่มมานอนที่คณะ นอกจากนี้ใต้คณะมีอุปกรณ์ทำครัว หม้อ ไห เตาแก็ส พร้อมทำกับข้าว คณะจึงเปรียบเหมือนบ้านหลังที่ 2 เลยทีเดียว และเด็กแต่ละเมเจอร์ยังต้องแบ่งเวรกันมาขายนมแพะ นมวัว ซึ่งเวลาขี่มอเตอร์ไซด์ไปตรงประตูเกษตร มักเห็นเด็กเกษตรตะโกนเรียกคนมาซื้อนมเป็นภาพชินตาให้เห็นกันทุกปี
 

ภาพ : Chayutpong Kattiya

คณะทันตแพทยศาสตร์

การเรียนช่วงปี 1 จะเรียนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์พื้นฐาน พวกเคมี ฟิสิกส์ ชีวะ เนื้อหาคล้าย ๆ กับวิทยาศาสตร์ม.ปลาย แต่ค่อนข้างละเอียดกว่า และมีเรียนตัวคณะ ซึ่งเป็นวิชาเรียนเกี่ยวกับลักษณะทางกายวิภาคของฟัน ชีวิตปีหนึ่งค่อนข้างสบาย มีเวลาว่างไปทำกิจกรรมรับน้อง ชวนกันไปเล่นกีฬาตอนเย็น ไปสำรวจรอบมอหาของกินอร่อย พอก้าวเข้าสู่ปี 2 – 3 มีเรียนกับอาจารย์ใหญ่ ชีวิตส่วนมากจะอยู่ในห้องแล็บ อ่านหนังสือ ทำงานกลุ่ม และยังมีออกค่ายอาสา เพื่อทำฟันและให้ความรู้กับชาวบ้านเกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพฟัน เข้าปี 4 – 6 เริ่มไม่ค่อยได้เรียน มีเรียนแค่ชั่วโมงเดียว นั้นก็จะเป็นทำฟันให้คนไข้ เริ่มได้นำความรู้ที่เรียนมาตอนแรกมาใช้จริง
 

ภาพ : Patlapa Tohsanguanpun

คณะเภสัชศาสตร์

ปีแรกในรั้วมหาวิทยาลัยถือเป็นปีแห่งการสำรวจชีวิตรอบ ๆ มหาวิทยาลัยว่ามีอะไรที่น่าสนใจบ้าง นักศึกษาจะได้ไปเรียนฝั่งสวนสักเป็นส่วนใหญ่ ปีต่อมาเริ่มได้เรียนวิชาเกี่ยวกับเภสัช ได้ผลิตยาจริง ถ้าใครชอบทดลอง ชอบเข้าแล็บ จะสนุกและมีความสุขกับการเรียนมาก แต่ยิ่งอยู่ปีสูงขึ้นเนื้อหาการเรียนจะยากขึ้นและเหนื่อยมาก มีสอบตลอดทั้งเทอม และช่วงปิดเทอมใหญ่ต้องไปฝึกงานตามโรงพยาบาล ร้านยาต่างๆ ตามที่ได้เลือกไว้ แต่การได้ฝึกงานทำให้เรียนรู้การทำงาน และยังช่วยให้จำชื่อยาได้ดีกว่าตอนสมัยเรียนที่ต้องคอยท่องจำชื่อยาอีก พอเข้าสู่ปีสุดท้ายของการเรียน จะไม่ค่อยได้เจอเพื่อน เน้นการทำโปรเจคเป็นหลัก ซึ่งการทำตัวจบต้องรู้จักปรับตัวทำงานร่วมกับผู้อื่นให้ได้ เพราะอาจารย์เป็นคนจับกลุ่มให้ ถึงแม้ทำโปรเจคจบเสร็จ แต่ต้องเริ่มอ่านหนังสือสอบใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมต่อไป
 

ภาพ : AMS Photoclub CMU

คณะเทคนิคการแพทย์

อีกหนึ่งที่ลักษณะการเรียนคล้ายกับคณะแพทย์ แต่เน้นการเข้าแล็บมากกว่า ช่วงแรกเรียนวิทยาศาสตร์พื้นฐานทั่วไป พอเข้าปี 1 เทอม 2 จะต้องเรียนตัวคณะแพทย์ ผ่าอาจารย์ใหญ่เพื่อศึกษากล้ามเนื้อว่ากล้ามเนื้ออยู่ตรงไหน กล้ามเนื้อทำงานอย่างไร หลังจากนั้นก็ต้องมาเข้าแล็บเพื่อทบทวนและสอบ ส่วนปี 3 ถือเป็นปีที่หนักที่สุด เหนื่อยที่สุด เพราะเรียนตั้งแต่ 8.00 - 17.00 ทุกวัน บางวันเลิกทุ่มสองทุ่ม เช้าเข้าเรียน บ่ายเรียนปฏิบัติ มีสอบไฟนอล 11 วันติดกัน ได้หยุดพักแค่หนึ่งวันเดียวเท่านั้น หลังจากนั้นเริ่มฝึกงานตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ตอนบ่ายต้องกลับมาเรียน พอปี 4 จะเป็นช่วงเวลาของการเตรียมตัวทำตัวจบเหมือนคณะอื่น
 

ภาพ : Watchapon Taksinanukorn

คณะพยาบาลศาสตร์

ช่วงต้นของชีวิตมหาวิทยาลัยของเด็กคณะนี้ส่วนใหญ่ไปเรียนที่ฝั่งสวนสักสลับกับเรียนฝั่งส่วนดอก ดังนั้นการมีมอเตอร์ไซด์แว๊นไปเรียนจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะถ้ามัวรอรถรับสั่งระหว่างสองฝั่งจะเข้าเรียนไม่ทัน การเรียนฝั่งสวนสักเป็นการไปเรียนเพื่อทบทวนความรู้วิทยาศาสตร์ม.ปลาย ภาษาอังกฤษ เป็นต้น พอขึ้นปีต่อมาจะเรียนและใช้ชีวิตอยู่ที่ฝั่งสวนดอกมากขึ้น โดยจะย้ายมาอยู่ที่หอพยาบาลแทน มีเรียนวิชาคณะแพทย์ ทั้งวิชากายวิภาค วิชาสรีรวิทยา ซึ่งปีนี้ต้องรับผิดชอบต่อการเรียนและประคับประคองเกรดให้ดี ถ้าต่ำกว่า C มีโอกาสที่ไม่จบพร้อมเพื่อน ปี 3 เริ่มวอร์ดเพื่อฝึกปฏิบัติ ได้เป็นพยาบาล ได้ลงมือปฏิบัติดูแลผู้ป่วยจริง ตอนเย็นจะกลับมาเขียนรายงานเคสผู้ป่วย แผนการดูแลผู้ป่วยของแต่ละวัน โดยจะใช้ชีวิตแบบนี้วนเวียนไปจนกระทั่งเรียนจบ
 

ภาพ : Watchapon Taksinanukorn

คณะอุตสาหกรรมเกษตร

เมื่อเข้ามาปี 1 จะได้เรียนวิทยาศาสตร์พื้นฐาน พูดง่าย ๆ คือ วิทยาศาสตร์ม.ปลายที่อัดเนื้อหาจากที่เรียน 3 ปีให้เรียนจบภายในหนึ่งเทอม และตกเย็นยังต้องเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งรับน้อง ห้องเชียร์ ไปซ้อมกีฬาอีก แต่หลังจากนั้นจะกลายเป็นพี่ของน้องปี 1 ต้องเป็นคนคิดและจัดกิจกรรม คอยดูแลน้องใหม่ เริ่มมีเรียนตัวคณะมากขึ้น และต้องอพยพย้ายไปเรียนฝั่งแม่เหี้ยะ ซึ่งตัววิชาคณะส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับอาหาร ทั้งกระบวนการผลิตอาหาร การแปรรูปอาหารด้วยวิธีการต่าง ๆ เรียนรู้ส่วนประกอบอาหาร เรียนรู้วิธีการที่ทำให้อาหารเก็บได้นาน ปี 3 จะได้เรียนในคณะเต็มตัว ใช้ชีวิตเกือบทั้งปีอยู่ที่คณะ พอปี 4 การเรียนเริ่มน้อยลงแต่เน้นไปพวกสัมมนากับทำตัวจบ
 

ภาพ : Onin Sainumtan

คณะสัตวแพทยศาสตร์

ปีแรกจะเรียนเหมือนคณะอื่น แต่ความยากจะก็เพิ่มขึ้นทุกปี ปี 1-3 ต้องนั่งรถไปเรียนหลายที่ เพราะการเรียนสัตวแพทย์เชื่อมโยงกับหลายคณะ เช่น ไปเรียนคณะเกษตรเรื่องหลักการผลิตสัตว์น้ำ สัตว์บริโภค ไปเรียนคณะแพทย์เพื่อศึกษาเกี่ยวกับกลไกการทำงานของร่างกาย เพราะบางอย่างคนกับสัตว์ก็อ้างอิงกันได้ ซึ่งค่อนข้างจะเหนื่อยกับการนั่งรถมาก เพราะต้องเรียนทั้งฝั่งสวนดอก ฝั่งสวนสัก ฝั่งแม่เหี้ยะ สลับไปมาอย่างนี้ แต่พอปี 4-6 จะได้เรียนเกี่ยวกับโรคสัตว์ ระบบความผิดปกติ ทำให้เริ่มเรียนรู้ว่าถ้ามีเคสมาควรทำอย่างไร ยิ่งตอนที่ได้ลงพื้นที่จริง ไปเจอสัตว์ ยิ่งทำให้การเรียนสนุก นอกจากนี้ยังมีไปออกค่ายโคนม ค่ายพิษสุนัขบ้า ค่ายอาสา ค่ายสัตว์ป่า ที่ให้ความสนุก แถมได้ประสบการณ์ดี ๆ กลับมาอีก
 

ภาพ : Acc-BA Photo Club

คณะบริหารธุรกิจ

เด็กส่วนใหญ่ที่เลือกเรียนคณะนี้มักมีธุรกิจเป็นของตัวเอง วิชาเรียนจะช่วยพัฒนาให้เป็นผู้ประกอบการค่อนข้างเยอะ ซึ่งช่วยทำให้ได้ทักษะใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น การเรียนจะคล้ายคลึงกับทุกคณะในมหาวิทยาลัย คือ สบายปีแรก งานหนักตอนปีสุดท้าย ด้วยความเป็นน้องใหม่ ปีแรกเด็กทุกคนจะเข้าร่วมกิจกรรมห้องเชียร์ทั้งขึ้นดอยและสปอร์ตเดย์ รับน้อง และทางคณะค่อนข้างเคร่งเรื่องเรื่องการแต่งกายของนักศึกษามาก ไม่อนุญาตให้ใส่เสื้อยืด ลากรองเตะเข้ามาเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนสอบ นักศึกษาชายถ้าไม่ใส่กางเกงสแล็ค ต้องกลับไปเปลี่ยนถึงจะอนุญาตให้เข้าสอบได้ ซึ่งมีหลายคนใส่กางเกงยีนมาสอบ ทำให้ต้องกลับไปเปลี่ยนที่หอ แต่ถ้าใครบ้านอยู่ไกล จะใช้วิธีไปซื้อกางเกงหน้ามอมาเปลี่ยน แล้วรีบกลับมาสอบให้ทัน
 

ภาพ : PhotoHouseEconomicCMU

คณะเศรษฐศาสตร์

การลงทะเบียนเรียนสำหรับการเรียนปีแรกในมหาวิทยาลัยของคณะนี้ ต้องลงทะเบียนตามที่คณะกำหนดไว้ให้ และวิชากิจกรรมอย่าง GE จะต้องเข้าร่วมกิจกรรมทุกครั้ง ไม่งั้นไม่ผ่านวิชากิจกรรมและมีสิทธิเรียนไม่จบจากวิชานี้ ส่วนใหญ่กิจกรรมที่ให้เข้าร่วมเป็นกิจกรรมทั่วไปอย่างรับน้อง เข้าห้องเชียร์สปอตเดย์ เป็นต้น เวลามีการบ้านจะนัดและช่วยกันทำการบ้านให้เสร็จตามใต้หอพัก เพราะการบ้าน แบบฝึกหัดค่อนข้างยาก จึงต้องอาศัยหลายหัวช่วยกันหาคำตอบ ถ้ามีเวลาว่างจะเข้าร่วมกิจกรรมชมรมกีฬาของคณะ นัดไปเล่นกีฬาด้วยกันตอนเย็น แต่เมื่ออยู่ปี 3 – 4 จะเริ่มไม่มีเวลาว่างไปเล่นกีฬาเหมือนเดิม ต้องแบ่งเวลามารับผิดชอบงานที่อาจารย์สั่ง คิดหัวข้อ ทำโครงร่างงานวิจัย เก็บข้อมูล เพื่อทำตัวจบส่งอาจารย์
 

ภาพ : Phatsakon Thonghaew

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

ปี 1 จะเรียนตัวนอกคณะ ซึ่งวิชาเรียนหนีไม่พ้นวิชาภาษาอังกฤษ ส่วนตัวเรียนในคณะจะเป็นพวกองค์ประกอบศิลป์ วาดภาพ เขียนแบบ แต่พอเข้าปี 2 ได้เรียนตัวคณะมากขึ้น เวลาพักผ่อนเที่ยวเล่นน้อยลง เพราะต้องหันมารับผิดชอบงานเพิ่มมากขึ้น ปี 3 อาจารย์เริ่มสั่งโปรเจค พอปิดเทอมต้องออกค่ายประมาณ 21 วัน พร้อมกับสร้างบ้านขึ้นมา 1 หลัง ปี 4 วิชาเรียนน้อยลง ต้องเตรียมตัวไปฝึกงาน ยิ่งปี 5 ปีสุดท้ายของการเรียนต้องทำทั้งโปรเจคและธีสิส โดยเป็นงานที่มีสเกลข้างใหญ่ มีรายละเอียดยิบย่อย ส่งผลต้องใช้เวลาทั้งหมดไปกับงานค่อนข้างมาก มีเวลาพักผ่อนแค่ 4 -5 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้นเอง ซึ่งการใช้ชีวิตมีความคล้ายกับเด็กวิจิตร คือ เน้นทำงานทั้งวันทั้งคืน ไม่ค่อยมีสอบ การทำงานหรือทำโปรเจคต้องใช้ความคิดค่อนข้างเยอะ
 

ภาพ : Thoranin Thepwong

คณะการสื่อสารมวลชน

สเต็ปการเรียนคล้ายกับทุกคณะในมหาวิทยาลัย เรียนหนักปีแก่ เป็นคณะที่ไปที่ไหนชอบเสียงดัง สร้างเสียงหัวเราะให้กับคนที่พบเห็น จุดพีคของการเรียนของเด็กคณะนี้อยู่ที่ปี 3 ที่ต้องตื่นมาเรียนแปดโมงเช้าทุกวัน วิชาเรียนค่อนข้างยากทั้งตัวคณะที่เป็นวิชาทฤษฏีสื่อสารมวลชน จริยธรรมสื่อ วิจัย และตัวเมเจอร์ที่ต้องทำนิตยสารหนังสือพิมพ์ โปรดักชั่นทีวี หรือรับผิดชอบทำโปรดักชั่นละครแค่คนเดียว พอปี 4 เทอม 2 หลังจากฝึกงานเสร็จ นักศึกษาต้องทำเปเปอร์สัมมนารูปเล่มฉบับเต็มให้เสร็จภายในหนึ่งอาทิตย์ ซึ่งส่วนใหญ่จะได้มาทำอาทิตย์สุดท้ายก่อนส่ง ทุกคนจะกลับหอไปนอนเช้าทุกวัน ตอนบ่ายกลับเข้ามาคณะทำงานต่อ แต่ช่วงเวลานั้นทำให้ได้เจอกับเพื่อนเกือบทั้งรุ่น เจอรุ่นน้องที่ปั่นงานเหมือนกัน ใช้ชีวิตเฮฮาไปคุยเล่นกับเพื่อนกับน้อง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ดีมาก
 

ภาพ : Natthapon Pengma

คณะรัฐศาสตร์และรัฐศาสนศาสตร์

ปี 1 สำหรับเด็กรัฐศาสตร์เรียนไม่หนัก แต่กิจกรรมหนักมาก ทั้งกิจกรรมห้องเชียร์งานบุญเดือนสิงห์ รับน้องขึ้นดอย 5 FAC ค่ายวิชาการ เปิดโลกวิชาการ สปอร์ตเดย์ ฯลฯ ปี 2 ได้เริ่มเรียนตัวเมเจอร์ ซึ่งต้องใส่ใจและตั้งใจเรียนมาก เพราะถ้า F จะส่งผลให้ไม่ได้เรียนตัวต่อไป มีโอกาสเรียนไม่จบพร้อมเพื่อนสูงมากและหมดสิทธิ์ฝึกงาน ปี 3 จะให้เลือกแผนการเรียนว่าจะทำวิจัยที่คณะหรือสหกิจ (ไปฝึกงาน) เนื่องจากวิชาเรียนไม่เหมือนกัน เริ่มใช้ชีวิตทำงานอยู่ที่คณะมากขึ้น ทำกิจกรรมน้อยลง ปี 4 ต้องลงมือปฏิบัติจริงตามที่แผนการเรียนกำหนด ใครเลือกวิจัยก็ทำวิจัย ใครเลือกสหกิจก็ไปฝึกงาน หลังจากนั้นถึงกลับมาตัวเมเจอร์อีก 3 ตัว ต่อด้วยถ่ายรูปหนังสือรุ่น ปัจฉิมนิเทศ และบายเนียร์ก็ถือว่าเรียนจบแล้ว
 

ภาพ : LawCMUPictureGallery

คณะนิติศาสตร์

ชีวิตของเด็กนิติแวดล้อมไปด้วยธรรมชาติ ยิ่งช่วงฤดูหนาวถ้ามองผ่านหน้าต่างห้องเรียน จะเห็นภูเขามีเมฆและหมอกจางๆ ล้อมอยู่ บางวันอาจเจอนกยูงที่บินมาจากสวนสัตว์อยู่หน้าคณะ ส่วนเรื่องการเรียน ปี 1 – 2 จะตัวนอกคณะคณะเป็นส่วนใหญ่ ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาไทย เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น ธุรกิจเบื้องต้น พอปี 3 เริ่มลงเรียนวิชากฎหมาย เช่น กฎหมายแพ่ง กฎหมายพาณิชย์ ปรัชญากฎหมาย เป็นต้น ส่วนใหญ่เด็กคณะนี้จะอยู่กับการท่องมาตราและหัดเขียนมาตรา เพราะบางวิชาเรียนคะแนนเก็บคือการสอบอย่างเดียว ถ้าทำคะแนนสอบไม่ดี จะมีสิทธิได้ F ทำให้ต้องจัดสรรเวลาให้ดี มีความรับผิดชอบต่อตัวเองค่อนข้างสูง
 

ภาพ : เชอร์ล็อก' ฟาร์ม

วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี

คณะนี้จะถูกแบ่งย่อยออกเป็น 3 สาขา ได้แก่ การจัดการสมัยใหม่และเทคโนโลยีสารสนเทศ แอนิเมชัน และวิศวกรรมซอฟต์แวร์ สำหรับวิชาที่ต้องเรียน จะมีวิชาบังคับพวกฟิสิกส์ แคลคูลัส วิชาเขียนโปรแกรมเบื้องต้น ทำแอนิเมชัน 2D และ 3D โดยเด็กแอนนิเมชันจะสนิทกันเป็นกลุ่มใหญ่ เพราะช่วงโปรเจคจะรวมตัวไม่หลับไม่นอนทำงานอยู่ที่เดียว ทำให้สนิทกันหมด ส่วนเด็กวิศวกรรมซอฟต์แวร์หรือ SE จะหาตัวยากไม่สุงสิงกับใครไม่เอากิจกรรม เน้นเรียนโค้ดเป็นหลัก การเรียนการสอนจะเป็นภาษาอังกฤษเกือบหมด ส่วนเด็ก MMIT หรือการจัดการสมัยใหม่และเทคโนโลยีสารสนเทศ ใช้ชีวิตเหมือนเด็ก เรียนโค้ดเพื่อไปจัดการกับการจัดการและระบบต่างๆ แต่การเรียนจะเบากว่าสองสาขาแรก และไม่ต้องเรียนตัววิทย์คณิตเหมือนเด็กแอนนิเมชัน

 

          จากรีวิวคงเห็นภาพแล้วว่าเด็กมช. ใช้ชีวิตกันยังไง ทำอะไรกันบ้าง ส่วนใหญ่เด็กปี 1 จะได้เข้าร่วมทุกกิจกรรมของมหาวิทยาลัย ทั้งรับน้อง เดินขิ้นดอย สปอร์ตเดย์ ซึ่งพวกนี้เป็นแค่น้ำจิ้มเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสนุก ๆ ให้เข้าร่วมอีกเพียบ ถึงแม้ว่ากิจกรรมจะเยอะแต่มช. กลับติดอันดับ 3 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของประเทศ มีบรรยากาศน่าเรียน สังคมน่าอยู่ ไม่ว่าจะเป็นรุ่นพี่ รุ่นน้อง อาจารย์ น่ารักเป็นกันเอง พร้อมให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือตลอด จึงไม่แปลกเลยที่ใครหลายคนอยากเข้ามาเรียนที่ “มช.”

 

เรื่อง : พิชญา เตระจิตร 

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us