www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




คลังความรู้ > สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม > มัธยมปลาย

บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับศาสนา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2016-07-29 15:05:40


สาระการเรียนรู้


 


๑. ความหมายและประเภทของศาสนา
     ศาสนา หมายถึง คำสั่งสอนที่ศาสดาสั่งสอนไว้เพื่อให้ผู้นับถือได้นำไปปฏิบัติให้รอดพ้นจากความทุกข์ ประกอบด้วยคำสั่งสอนขั้นพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับศีลธรรม และคำสั่งสอนขั้นสูงที่เกี่ยวข้องกับปรมัตถธรรม
     ศาสนาแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ดังนี้
     ๑. เทวนิยม ศาสนาที่นับถือพระเจ้า แบ่งเป็น ๒ ประเภท ได้แก่
          ๑) เอกเทวนิยม ศาสนาที่นับถือพระเจ้าองค์เดียว
          ๒) พหุเทวนิยม ศาสนาที่นับถือพระเจ้าหลายองค์
     ๒. อเทวนิยม ศาสนาที่ไม่นับถือพระเจ้า


๒. องค์ประกอบของศาสนา
     ๑. ศาสดา คือ ผู้ก่อตั้งหรือประกาศศาสนา
     ๒. คัมภีร์ คือ หนังสือที่รวบรวมหลักธรรมคำสอนของศาสดา
     ๓. สาวกหรือนักบวช คือ ผู้ที่สืบทอดศาสนา
     ๔. ศาสนสถาน คือ สถานที่ในการประกอบพิธีกรรมหรือศูนย์กลางในการเผยแผ่ศาสนา
     ๕. พิธีกรรม คือ กิจกรรมทางศาสนา
     ๖. ศาสนิกชน คือ ผู้ที่นับถือศาสนา


๓. ประโยชน์ของศาสนา
     ๑. ประโยชน์ต่อตนเอง ส่งผลให้เป็นผู้มีสุขภาพกายและจิตที่ดี
     ๒. ประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม ช่วยให้สังคมสงบสุขและเกิดสันติภาพ


๔. ประวัติศาสดาของศาสนาต่าง ๆ
     ๔.๑ พระพุทธเจ้า
     พระพุทธเจ้ามีพระนามเดิมว่า สิทธัตถะ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ กับพระนางสิริมหามายา ประสูติเมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี ณ สวนลุมพินีวัน หลังจากประสูติได้ ๗ วัน พระราชมารดาก็สวรรคต เจ้าชายสิทธัตถะทรงได้รับการเลี้ยงดูจากพระนางมหาปชาบดีโคตรมี ครั้นเจ้าชายสิทธัตถะทรงเจริญวัยก็ได้ศึกษา ณ สำนักครูวิศวามิตร ต่อมาทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงยโสธราหรือพิมพา ขณะพระชนมายุ ๑๖ พรรษา และเมื่อพระชนมายุ ๒๙ พรรษาก็ทรงมีพระราชโอรสพระนามว่า ราหุล พระองค์ตัดสินพระทัยออกผนวช 
 


     เจ้าชายสิทธัตถะทรงครองเพศเป็นนักบวช พระองค์ได้ไปศึกษายังสำนักอาฬารดาบสและอุทกดาบสจนสำเร็จฌานขั้นสูง จากนั้นจึงอำลาอาจารย์ออกไปบำเพ็ญเพียรด้วยพระองค์เองที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม โดยใช้วิธีบำเพ็ญทุกกรกิริยา แต่ต่อมาทรงเห็นว่าวิธีการดังกล่าวไม่ใช่หนทางพ้นทุกข์จึงทรงเลิกทรมานพระวรกาย และกลับไปเสวยพระกระยาหารดังเดิม

     พระสิทธัตถะทรงบำเพ็ญเพียรทางจิตตามหลักการของฌานหรือสมาธิตามที่ทรงศึกษา โดยยึดทางสายกลางที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา ในที่สุดก็ทรงตรัสรู้ธรรมที่เรียกว่า อริยสัจ ๔ ประกอบด้วย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค โดยรวมระยะเวลาตั้งแต่เสด็จออกผนวชจนถึงตรัสรู้เป็นเวลา ๖ ปี หลังจากนั้นพระองค์ทรงแสดงธรรมชื่อ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หนึ่งในปัญจวัคคีย์ชื่อโกณฑัญญะได้เกิดดวงตาเห็นธรรมและขอบวชเป็นภิกษุ ทำให้พระรัตนตรัยครบองค์ ๓ ส่วนปัญจวัคคีย์ที่เหลือเกิดดวงตาเห็นธรรมและขอบวชในวันต่อมา หลังจากนั้นปัญจวัคคีย์ได้สำเร็จเป็นอรหันต์หลังจากฟังธรรมชื่อ อนัตตลักขณสูตร ส่งผลให้มีพระอรหันต์ ๖ องค์ (รวมพระพุทธเจ้า)

     พระองค์เสด็จไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อโปรดชฎิล ๓ พี่น้องและบริวาร ๑,๐๐๐ คน ทำให้ทั้งหมดหันมาบวชในพระพุทธศาสนา จากนั้นก็ทรงแสดงธรรมจนกลุ่มชฎิลและบริวารสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ต่อมาพระพุทธเจ้าได้เสด็จไปโปรดพระเจ้าพิมพิสาร ข้าราชการ และประชาชนที่เมืองราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารทรงยกอุทยานสวนป่าไผ่ (เวฬุวัน) ถวายเป็นที่พำนัก ทำให้เกิดวัดแห่งแรกของพระพุทธศาสนา

     ณ วัดเวฬุวัน อุปติสสะ (สารีบุตร) และโกลิตะ (โมคคัลลานะ) ได้มาขอบวชเป็นภิกษุ โมคคัลลานะบวชได้ ๗ วันก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ ได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าให้เป็นอัครสาวก1 ฝ่ายซ้ายที่เป็นเลิศด้านฤทธิ์ ส่วนสารีบุตรบวชได้ ๑๕ วันจึงบรรลุเป็นพระอรหันต์ ได้รับการยกย่องให้เป็นอัครสาวกฝ่ายขวา ผู้เลิศด้านปัญญา

     พระสงฆ์ที่ออกไปประกาศศาสนาจำนวน ๑,๒๕๐ องค์ ได้กลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้าอย่างพร้อมเพรียงโดยมิได้นัดหมาย พระองค์ทรงจัดประชุมสาวกและแสดงธรรมที่เรียกว่า โอวาทปาติโมกข์ ซึ่งมีใจความสำคัญว่าด้วยการไม่ทำความชั่ว การทำความดี และการทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส

     พระพุทธศาสนาได้ประดิษฐานในแคว้นต่าง ๆ อย่างมั่นคง เนื่องด้วยมีกำลังสำคัญที่เรียกว่า พุทธบริษัท พระพุทธเจ้าทรงประกาศศาสนาเป็นเวลา ๔๕ ปี และเสด็จปรินิพพาน ณ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ ในวัน ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ รวมพระชนมายุ ๘๐ พรรษา

     ๔.๒ พระเยซูคริสต์
     พระเยซูคริสต์เป็นชาวฮีบรู ประสูติเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๕๔๓ ที่เมืองเบทลิเฮม แคว้นยูเดีย เป็นบุตรของโยเซฟและมารีย์ ในวันที่พระเยซูประสูติ กษัตริย์เฮโรดได้มีคำสั่งให้ฆ่าเด็กชายทุกคนในเมืองและบริเวณใกล้เคียง เนื่องจากทรงเชื่อคำทำนายที่ว่าจะมีผู้มีบุญมาเกิดเพื่อแข่งบารมีกับพระองค์ โยเซฟและมารีย์จึงพาบุตรชายหนีไปที่อียิปต์ ครั้นกษัตริย์เฮโรดสิ้นพระชนม์จึงกลับมาตั้งหลักแหล่งที่เมืองนาซาเร็ท พระเยซูมีความสนใจในทางธรรม อ่านพระคัมภีร์เก่าจนมีความรู้แตกฉาน เมื่อมีพระชนมายุ ๑๒ พรรษาก็ได้แสดงความสามารถทางธรรมเป็นครั้งแรกด้วยการโต้ตอบกับปุโรหิตในงานนมัสการประจำปีที่กรุงเยรูซาเร็ม
 

 

     การแสดงธรรมครั้งสำคัญของพระเยซู คือ การเทศนาบนภูเขา ซึ่งถือเป็นปฐมเทศนา เนื้อหาสำคัญกล่าวถึงความศรัทธาในพระเจ้าและการปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ การประกาศรับรองบัญญัติ ๑๐ ประการของโมเสส ตลอดจนคำสอนของศาสดาองค์ก่อน ความรัก และการให้อภัย

     พระเยซูคริสต์ทรงประกาศศาสนาเป็นเวลา ๓ ปี ทรงเลือกชาวยิว ๑๒ คนเป็นอัครสาวกเพื่อเป็นกำลังในการเผยแผ่ศาสนา ต่อมาพระองค์ถูกทหารโรมันจับตัวไปขึ้นศาล ถูกโบยและถูกจับตรึงไม้กางเขนจนสิ้นพระชนม์ ณ ภูเขาโคลกอต ทางเหนือของเมืองเยรูซาเลม ขณะมีพระชนมายุ ๓๓ พรรษา
 



     ๔.๓ นบีมุฮัมมัด
     นบีมุฮัมมัดเป็นชาวยิวเผ่าคูเรซ เกิดที่เมืองเมกกะ เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๑๑๑๓ เป็นบุตรของพ่อค้าชื่อ อับดุลลอฮ์ กับ นางอามีนะฮ์ มุฮัมมัดกำพร้าตั้งแต่เด็กจึงต้องอาศัยอยู่กับปู่และย่า เมื่อปู่ถึงแก่กรรมก็ได้อาศัยอยู่กับลุงเพื่อฝึกทำการค้า มุฮัมมัดไม่ได้เรียนหนังสือแต่ได้ท่องเที่ยวจึงมีความรู้มาก เมื่ออายุ ๒๕ ปี ได้แต่งงานกับเศรษฐินีม่ายชื่อ คอดิญะฮ์ และมีบุตรด้วยกัน ๖ คน เมื่อมุฮัมมัดมีฐานะร่ำรวยขึ้นก็ออกไปใฝ่หาความสงบตามที่ต่าง ๆ ขณะมีอายุ ๔๐ ปี ได้ขึ้นไปนั่งสมาธิบนเขา หิรอฮ์ เทวทูตองค์หนึ่งมาปรากฏกายพร้อมนำโองการของอัลลอฮ์มาแจ้งให้ทราบว่า แท้จริงพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวคือ อัลลอฮ์ และอัลลอฮ์ให้ท่านมุฮัมมัดเป็นนบี ให้เผยแผ่เรื่องอัลลอฮ์นี้ หลังจากนั้นประมาณ ๒-๓ เดือน อัลลอฮ์ก็ได้ประทานโองการอีกเป็นครั้งที่ ๒ มีใจความว่า อัลลอฮ์ได้มีคำสั่งให้นบีมุฮัมมัดทำการเผยแผ่ศาสนาแก่ประชาชนทั้งหลาย

     นบีมุฮัมมัดเริ่มเผยแผ่ศาสนาแก่ญาติและคนใกล้ชิด แต่ก็ถูกปองร้ายและถูกกีดกันจากพวกเชื้อสายคูเรซ ต่อมาใน พ.ศ. ๑๑๕๖ จึงตัดสินใจไปอยู่เมืองยาทริบ ชาวมุสลิมจึงถือเอาปีนี้เป็นปีเริ่มต้นของการนับศักราชอิสลาม เรียกว่า ฮิจเราะห์ศักราช (ฮ.ศ.) ดังนั้น นบีมุฮัมมัดจึงมีฐานะเป็นทั้งประมุขของศาสนาและผู้ครองเมืองยาทริบ ท่านได้ปราบปรามชาวยิวในเมืองยาทริบแล้วสร้างเมืองให้เป็นเมืองของชาวอาหรับ

     หลังจากศาสนาอิสลามมีความมั่นคงดีแล้ว นบีมุฮัมมัดได้ยกกองทัพมุสลิมไปล้อมเมืองเมกกะ ฝ่ายชาวเมืองยอมอ่อนน้อมแต่โดยดี ท่านจึงนำกำลังมุสลิมไปที่อัลกะอ์บะฮ์ ทำลายเทวรูปจนหมดสิ้น และจัดให้มีการประชุมสวดอ้อนวอนพระเจ้าตามแบบศาสนาอิสลาม อัลกะอ์บะฮ์จึงกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม ชาวมุสลิมซึ่งอยู่ในที่ต่าง ๆ จะต้องหันหน้าไปทางเมืองนี้เวลาทำการละหมาด นบีมุฮัมมัดประกาศคำสอนออกไปทั่วดินแดนอาหรับเป็นเวลา ๒๓ ปี และเสียชีวิตเมื่ออายุ ๖๓ ปี ณ เมืองมะดีนะฮ์


๕. หลักธรรมสำคัญเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของศาสนาต่าง ๆ
     ๕.๑ หลักธรรมของพระพุทธศาสนา
          ๑. เบญจศีล–เบญจธรรม
               ๑) เบญจศีล เป็นศีลที่ห้ามไม่ให้ปฏิบัติในสิ่งที่เป็นอกุศลหรือบาป มี ๕ ข้อ คือ ข้อ ๑ เว้นจากการฆ่าสัตว์ ข้อ ๒ เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ข้อ ๓ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม ข้อ ๔ เว้นจากการพูดเท็จ และข้อ ๕ เว้นจากการเสพสุราและน้ำเมา
               ๒) เบญจธรรม เป็นหลักปฏิบัติในสิ่งที่เป็นกุศลธรรม มี ๕ ข้อ คือ ข้อ ๑ เมตตากรุณา ข้อ ๒ สัมมาอาชีวะ ข้อ ๓ กามสังวร ข้อ ๔ สัจจะ และข้อ ๕ สติสัมปชัญญะ

          ๒. อธิปไตย ๓ อธิปไตย หมายถึง ความเป็นใหญ่ มี ๓ ประการ คือ
               ๑) อัตตาธิปไตย คือ ความมีตนหรือถือตนเป็นใหญ่และเอาประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง
               ๒) โลกาธิปไตย คือ ความมีโลกหรือสังคมเป็นใหญ่ โดยเป็นการทำความดีที่ยึดถือตามคนส่วนใหญ่
               ๓) ธรรมาธิปไตย คือ การมีธรรมเป็นใหญ่ การทำความดีประเภทนี้เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรต้องทำ โดยไม่หวังผลตอบแทน

          ๓. มิจฉาวณิชชา ๕ มิจฉาวณิชชา หมายถึง การค้าขายที่ไม่ชอบธรรมหรือผิดศีลธรรม มี ๕ ประเภท คือ
               ๑) การค้าอาวุธ (สัตถวณิชชา)
               ๒) การค้ามนุษย์ รวมทั้งการค้าประเวณี (สัตตวณิชชา)
               ๓) การค้าสัตว์สำหรับฆ่าเป็นอาหาร (มังสวณิชชา)
               ๔) การค้าของมึนเมาและสิ่งเสพติดอื่น ๆ (มัชชวณิชชา)
               ๕) การค้ายาพิษ (วิสวณิชชา)
 


          ๔. อริยวัฑฒิ ๕ อริยวัฑฒิ หมายถึง หลักปฏิบัติที่นำไปสู่ความเจริญงอกงาม มี ๕ ประการ ได้แก่
               ๑) งอกงามด้วยศรัทธา หมายถึง มีความเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อและเชื่ออย่างมีเหตุผล อย่างเช่นความเชื่อมั่นในพระรัตนตรัยและในหลักความจริง
               ๒) งอกงามด้วยศีล หมายถึง การรักษากายและวาจาให้เรียบร้อยเป็น
               ๓) งอกงามด้วยสุตะ หมายถึง หมั่นศึกษาหาความรู้ทั้งด้านการรับฟังและการอ่าน
               ๔) งอกงามด้วยจาคะ หมายถึง รู้จักเสียสละ ซึ่งต้องมีความจริงใจและเต็มใจในการเสียสละ
               ๕) งอกงามด้วยปัญญา หมายถึง รู้และเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ จนนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้
 



          ๕. โภคอาทิยะ ๕ หมายถึง ประโยชน์ที่ควรถือเอาจากการมี “โภคทรัพย์” หรือแนวทางในการใช้โภคทรัพย์ ซึ่งมีหลักการดังนี้
               ๑) ใช้เลี้ยงดูตัวเอง ครอบครัว บิดามารดา และคนที่อยู่ในความรับผิดชอบ
               ๒) ใช้บำรุงเลี้ยงมิตรสหายและผู้ร่วมงานให้มีความสุข
               ๓) เก็บไว้ใช้เป็นหลักประกันในยามจำเป็น
 


               ๔) ใช้ทำพลี คือ การสละทรัพย์สินเพื่อบำรุงสงเคราะห์ ๕ อย่าง ได้แก่ ใช้สงเคราะห์ญาติ ใช้ต้อนรับแขกหรือคนที่ไปมาหาสู่ ใช้บำรุงราชการ ใช้บำรุงถวายเทวดาหรือสิ่งที่เคารพนับถือตามความเชื่อ และใช้ทำบุญอุทิศให้แก่บุพการีชนที่ล่วงลับไปแล้ว
               ๕) ใช้อุปถัมภ์บำรุงสมณพราหมณ์
 


          ๖. สาราณียธรรม ๖ สาราณียธรรม หมายถึง ธรรมที่เป็นเหตุก่อให้เกิดความระลึกถึงกัน ก่อให้เกิดความรักและความเคารพระหว่างกัน มี ๖ ประการ คือ
               ๑) เมตตากายกรรม คือ การกระทำทางกายด้วยเมตตา
               ๒) เมตตาวจีกรรม คือ การกระทำทางวาจาด้วยเมตตา
               ๓) เมตตามโนกรรม คือ การกระทำทางใจด้วยเมตตา
               ๔) สาธารณโภคี คือ การแบ่งปันลาภที่ได้มาโดยชอบเพื่อประโยชน์ทั่วไป
               ๕) สีลสามัญญตา คือ การเป็นผู้มีศีลเสมอกัน
               ๖) ทิฏฐิสามัญญตา คือ การมีทัศนคติตรงกันและเคารพในเหตุผลของกันและกัน

     ๕.๒ หลักธรรมของคริสต์ศาสนา
          ๑. บัญญัติ ๑๐ ประการ คือ บทบัญญัติที่ชาวคริสต์ต้องปฏิบัติ ได้แก่
               ๑) อย่ามีพระเจ้าอื่นใดนอกเหนือจากเรา
               ๒) อย่านับถือรูปเคารพ
               ๓) อย่าออกพระนามพระเจ้าอย่างไม่สมควร
               ๔) จงระลึกถึงวันสะบาโตของพระเจ้า ซึ่งถือเป็นวันบริสุทธิ์
               ๕) จงให้เกียรติแก่บิดามารดาของเจ้า
               ๖) อย่าฆ่าคน
               ๗) อย่าล่วงประเวณีผัวเมียเขา
               ๘) อย่าลักทรัพย์
               ๙) อย่าเป็นพยานเท็จใส่ร้ายเพื่อนบ้าน
               ๑๐) อย่าโลภในสิ่งใด ๆ ซึ่งเป็นของของเพื่อนบ้าน

          ๒. ความรัก คุณลักษณะของความรักในที่นี้ได้แก่ การ การอุทิศตัว ความซื่อสัตย์ ความจงรักภักดี ความรู้จักใกล้ชิด ความสนิทสนม และความรับผิดชอบต่อกัน เป็นความรักของพระเจ้าที่มีต่อมนุษย์ ความรักของมนุษย์ที่มีต่อพระเจ้า และความรักของมนุษย์ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
 

     ๕.๓ หลักธรรมของศาสนาอิสลาม
          ๑. หลักจริยธรรม ศาสนาอิสลามสอนให้ดำรงอยู่ในศีลธรรม รู้จักหน้าที่และพัฒนาตนเองไปสู่การมีบุคลิกภาพที่ดี มีเมตตา ซื่อสัตย์ เสียสละ รักษาสิทธิของตนและไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น พร้อมทั้งหมั่นใฝ่หาความรู้

          ๒. หลักปฏิบัติ มี ๕ ประการ ได้แก่
               ๑) การปฏิญาณตน โดยกล่าวว่า “ข้าขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ และขอปฏิญาณว่าแท้จริงมุฮัมมัดเป็นเราะซูลของอัลลอฮ์”
               ๒) การนมาซ หรือละหมาด คือ การขอพรและสรรเสริญคุณพระผู้เป็นเจ้าวันละ ๕ ครั้ง
 


               ๓) การถือศีลอด มุสลิมที่เป็นผู้ใหญ่ทุกคนต้องถือศีลอดตลอดเดือนเราะมะฎอน (เดือนที่ ๙ ของปฏิทินอิสลาม)
               ๔) การจ่ายซะกาต คือ การบริจาคทานเป็นประจำทุกปี
               ๕) การบำเพ็ญฮัจญ์ คือ การเดินทางไปประกอบศาสนกิจ ณ อัลกะอ์บะฮ์ นครเมกกะ
 

 


๖. คุณค่าและความสำคัญของค่านิยมและจริยธรรมในศาสนา
      ๖.๑ ความหมายของค่านิยมและจริยธรรม
          ๑. ค่านิยม หมายถึง สิ่งที่บุคคลพอใจหรือเห็นว่ามีคุณค่าแล้วยอมรับไว้เป็นความเชื่อหรือความรู้สึกนึกคิดของตน ตามหลักทั่วไปแบ่งค่านิยมออกเป็น ๒ ประเภท ดังนี้
               ๑) ค่านิยมส่วนบุคคล เป็นการตัดสินใจเลือกในสิ่งที่ตนต้องการหรือพอใจ
               ๒) ค่านิยมของสังคม เป็นค่านิยมที่สมาชิกส่วนใหญ่เห็นว่าดีงามหรือควรปฏิบัติ
 



          ๒. จริยธรรม หมายถึง การแสดงออกทางการปฏิบัติของบุคคลที่แสดงให้เห็นถึงการกระทำที่ถูกต้องและอยู่ในกรอบของศีลธรรม จริยธรรมแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ดังนี้
               ๑) จริยธรรมภายนอก เป็นจริยธรรมที่แสดงออกจนเป็นที่สังเกตเห็นอย่างชัดเจน
               ๒) จริยธรรมภายใน เป็นจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกนึกคิดหรือทัศนคติของบุคคลตามสภาพจิตใจและสภาพแวดล้อม
 



     ๖.๒ ลักษณะของค่านิยมและจริยธรรม
          ลักษณะของค่านิยม ได้แก่
          ๑. ต้องเป็นค่านิยมที่บุคคลเลือกหรือยอมรับโดยสมัครใจ
          ๒. ต้องเป็นค่านิยมที่บุคคลมีโอกาสเลือกจากตัวเลือกที่หลากหลาย
          ๓. ต้องเป็นค่านิยมที่ได้รับการกลั่นกรองว่าถูกต้องและเหมาะสมที่สุด
          ๔. ต้องเป็นค่านิยมที่บุคคลนั้นยกย่องและภูมิใจในสิ่งที่ตนเลือก
          ๕. ต้องเป็นค่านิยมที่บุคคลยอมรับอย่างเปิดเผยและพร้อมที่จะสนับสนุน
          ๖. ต้องเป็นค่านิยมที่บุคคลยึดถือปฏิบัติจริง
          ๗. ต้องเป็นค่านิยมที่บุคคลปฏิบัติอยู่บ่อย ๆ

          ลักษณะของจริยธรรม ได้แก่
          ๑. ต้องเป็นเชิงสัมพันธ์เปรียบเทียบ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข เช่น เวลา
          ๒. ต้องเป็นแบบอัตวิสัย ขึ้นอยู่กับการกำหนดของบุคคล
          ๓. ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานธรรมชาติของมนุษย์ ยึดตามสิ่งที่บุคคลเห็นว่าดีและถูกต้อง
          ๔. ต้องเป็นแบบหยุดนิ่งตายตัว ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะเป็นข้อห้าม ข้อบัญญัติ และเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนา

     ๖.๓ ปัจจัยที่มีผลต่อค่านิยมและจริยธรรม
          ปัจจัยที่มีผลต่อค่านิยมและจริยธรรม ได้แก่ ครอบครัว สถานศึกษา สถาบันศาสนา กฎหมาย และสื่อมวลชน

     ๖.๔ ความสำคัญของค่านิยมและจริยธรรม
          ๑. ทำหน้าที่เป็นบรรทัดฐานทางพฤติกรรม กล่าวคือ เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมและจุดยืนในเรื่อง ต่าง ๆ
          ๒. ทำหน้าที่เป็นแบบแผนในการตัดสินใจแก้ไขข้อขัดแย้งต่าง ๆ ในกรณีที่บุคคลต้องเผชิญสถานการณ์ที่ต้องเลือก
          ๓. ทำหน้าที่เป็นแรงจูงใจให้กับบุคคล เช่น ผู้ที่อยากมีสุขภาพดีจะรู้จักเลือกรับประทานอาหารและมีแรงผลักดันให้อยากออกกำลังกาย


บทสรุป
     ในประเทศไทยมีการนับถือศาสนาแตกต่างกัน การนับถือศาสนาของคนไทยส่วนมากสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ศาสนาโดยทั่วไปแล้วแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ ศาสนาที่นับถือพระเจ้า (สามารถแบ่งได้เป็นศาสนาที่นับถือพระเจ้าองค์เดียวและศาสนาที่นับถือพระเจ้าหลายองค์) และศาสนาที่ไม่นับถือพระเจ้า ศาสดาของทุกศาสนาสอนให้ศาสนิกชนปฏิบัติตามหลักธรรมของศาสนา เช่น พระพุทธศาสนาสอนให้ปฏิบัติตามหลักเบญจศีล–เบญจธรรม เพื่อประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติและประโยชน์ต่อส่วนรวม สำหรับค่านิยมและจริยธรรมถือว่ามีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เพราะค่านิยมเป็นสิ่งที่บุคคลพอใจ เห็นว่ามีคุณค่า แล้วยอมรับไว้เป็นความเชื่อหรือความรู้สึกนึกคิดของตน ขณะที่จริยธรรมเป็นการแสดงออกทางการปฏิบัติถึงการกระทำในสิ่งที่ถูกต้องและอยู่ในกรอบของศีลธรรม


แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th