ทายาทหัตถศิลป์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2014-07-29 10:58:56
เรียบเรียง: ศรินทร เอี่ยมแฟง ภาพประกอบ: พลอยขวัญ สุทธารมณ์
ถ่ายภาพ: พิภพ บุษราคัมวดี
ทายาทหัตถศิลป์
การมีชีวิตอยู่ของงานศิลปหัตถกรรมไทยมิได้คงอยู่ได้เพียงเพราะคุณค่าในตัวเอง แต่สิ่งที่สำคัญคือการถ่ายทอดภูมิปัญญา สืบต่อจิตวิญญาณจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง และการอนุรักษ์ก็มิได้หมายถึงการรักษาไว้ซึ่งสิ่งดั้งเดิมแต่เพียงเท่านั้น หากช่างฝีมือมีความสามารถที่จะประยุกต์สร้างสรรค์ผลงาน ก็จะช่วยต่อชีวิตหรือขยายอัตลักษณ์ของศิลปหัตถกรรมไทยให้ร่วมสมัยขึ้น
ทายาทหัตถศิลป์ หรือช่างฝีมือรุ่นใหม่ผู้เป็นทายาทของครูช่าง จึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างไทม์ไลน์ของตระกูลและไทม์ไลน์ของงานศิลปหัตถกรรมของชาติให้คงอยู่ต่อไป ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. คัดเลือกคนรุ่นใหม่ 11 คน ที่ได้รับการถ่ายทอดดีเอ็นเอช่างศิลปหัตถกรรมทั้ง 9 สาขาคือ เครื่องไม้ เครื่องจักสาน เครื่องดิน เครื่องทอ เครื่องรัก เครื่องโลหะ เครื่องหนัง เครื่องกระดาษ และเครื่องเงิน เพื่อส่งเสริมให้ทายาทหัตถศิลป์รุ่นใหม่ดำเนินรอยตามบรรพบุรุษ ตลอดจนอนุรักษ์และพัฒนาให้ศิลปหัตถกรรมไทยไม่สูญหายไป
ช่างทำหัวโขน
วัฒนา แก้วดวงใหญ่
ทายาทรุ่นที่สามของ ครูชิต แก้วดวงใหญ่ ปรมาจารย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สืบสานงานช่างทำหัวโขนจากคุณพระเทพยนตร์ (จำรัส ยันตระปรากรณ์) หัวหน้าช่างสิบหมู่ในสมัยรัชกาลที่ 6 ด้วยผลงานที่เน้นความสมบูรณ์แบบของสัดส่วน ลวดลาย และรายละเอียด ต่อยอดด้วยวิธีการใหม่ๆ เช่น เปลี่ยนจากกระดาษข่อยมาเป็นกระดาษสา ใช้อีพ็อกซี่ผสมดินเยื่อกระดาษแทนรักสมุก ใช้สีอะคริลิกแทนสีฝุ่นเพื่อความคงทน และยังประยุกต์ใช้ทฤษฎีสีและเทคนิคของจิตรกรรมสากลมาสร้างสรรค์ผลงาน
ดูประวัติเพิ่มเติม >> คลิกที่นี่
ช่างจักสานกระจูด
มนัทพงค์ เซ่งฮวด
บุตรชายของครูช่างวรรณี เซ่งฮวด ใช้ความรู้ด้านศิลปะการออกแบบที่ร่ำเรียนมาจากคณะมัณฑนศิลป์ ศิลปากร ต่อยอดภูมิปัญญางานจักสานกระจูดแห่งเมืองพัทลุง โดยใช้เทคนิคการมัดย้อมเส้นกระจูดให้เกิดการไล่โทนสีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพิ่มเสน่ห์ด้วยการนำเอาอัตลักษณ์ภาคใต้ เช่น ดอกกล้วยไม้รองเท้านารี วิถีชีวิตชาวประมง ท้องทะเล ลวดลายผ้า มาประยุกต์ใช้ในการให้สีสันแปลกใหม่และหลากหลาย ทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ดูประวัติเพิ่มเติม >> คลิกที่นี่
ช่างจักสานย่านลิเภา
นภารัตน์ ทองเสภี
การจักสานย่านลิเภาเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้ความประณีต ความชำนาญ และความพิถีพิถัน ทายาทรุ่นที่สามของตระกูลจักสานย่านลิเภาแห่งบ้านนาเคียน เมืองนครศรีธรรมราช จึงมุ่งเน้นอนุรักษ์ลวดลายโบราณ และพัฒนาเทคนิคโดยการใช้ย่านลิเภาเส้นเล็ก สอดสานจนเกิดลวดลายที่มีความละเอียดประณีตยิ่งขึ้น อีกทั้งมีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้หลากหลาย เช่น กระเป๋าถือ กระเป๋าหนีบ กำไล กล่องกระดาษทิชชู งานจักสานจิ๋ว
ดูประวัติเพิ่มเติม >> คลิกที่นี่
ช่างทอผ้าขิดไหม
ณัฐพล นันทะสุธา
นอกจากจะใช้ทั้งเวลา ความอดทน และความละเอียดลออ ชาวอีสานถือว่าการทอผ้าขิดต้องอาศัยความชำนาญของผู้ทออย่างสูง เพราะมีเทคนิคซับซ้อนกว่าการทอผ้าธรรมดา ทายาทครูช่างลำดวน นันทะสุธา จึงพัฒนาเทคนิค “การทอผ้าเก็บขิด” จากเดิมทอคนเดียว ใช้ไม้ขิดเพียง 4-5 ไม้ เพิ่มเป็นการทอสองคน ใช้ไม้ขิด 45 ไม้ ทำให้ลวดลายของขิดแต่ละลายมีรูปแบบสวยงาม มีลักษณะมัน วาว เหลือบ ได้ลายนูนที่ละเอียดและมีมิติยิ่งขึ้น
ดูประวัติเพิ่มเติม >> คลิกที่นี่
ช่างทอผ้าไหม
คำเตียง เทียมทะนงค์
ช่างทอผ้าไหมผู้สืบสานภูมิปัญญาการทอผ้าไหมแห่งอำเภอนาโพธิ์ บุรีรัมย์ มาถึงสามรุ่น ผ้าไหมนาโพธิ์ได้รับการยอมรับในคุณภาพของเส้นไหมพื้นเมืองและการทอ ผ่านการสาวฟอก ย้อม และออกแบบเป็นลวดลายสีสันสวยงาม รวมทั้งมีการนำลายโบราณมาประยุกต์เข้ากับยุคสมัย ทำให้ผ้าไหมมัดหมี่ข้อ ผ้าไหมหางกระรอก เป็นที่นิยมจนได้รับรางวัลมากมาย
ดูประวัติเพิ่มเติม >> คลิกที่นี่
ช่างทอผ้าไหมแพรวา
อุบลรัตน์ ชาพา
ทายาทครูคำสอน สระทอง แห่งจังหวัดกาฬสินธุ์ สืบทอดศิลปะการทอผ้าแพรวาอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวภูไท ด้วยเทคนิครูปแบบการทอผ้าแบบ “เขาลาย” หรือ “ตะกอลาย” เพิ่มความสะดวกในการสร้างลวดลายแพรวา ช่วยให้การทอเป็นแบบเดียวกันอย่างเป็นระบบตลอดทั้งผืน ทั้งยังรักษาลวดลายดั้งเดิม ลายหลัก ลายคั่น ลายช่อเชิงปลาย และคิดค้นลายผ้าไหมใหม่ๆ โดยใช้วิธีจุดลายลงบนกระดาษทำให้เก็บขิดลายได้ง่ายและชัดเจนเวลาทอ
ดูประวัติเพิ่มเติม >> คลิกที่นี่
ช่างถม
วชิระ นกอักษร
เครื่องถมเมืองนครต้องอาศัยความชำนาญเชิงช่าง 4 แขนง คือ การขึ้นรูปโลหะ แกะสลัก การผสมโลหะและลงยาถม มีการเขียนลาย ผสานเอกลักษณ์เฉพาะตัวจากการนำลายไทย อาทิ ลายใบเทศ ลายกนก ลายประจำยาม ลายกระจัง และลาย 12 นักษัตร มาผูกลายขึ้นใหม่และถ่ายทอดลงบนรูปพรรณได้อย่างงามวิจิตร คุณวชิระทายาทครูนิคม นกอักษร สร้างสรรค์เครื่องถมให้ร่วมสมัย กลายเป็นแนวใหม่ลายถม ทั้งภาชนะเครื่องใช้และเครื่องประดับ
ดูประวัติเพิ่มเติม >> คลิกที่นี่
ช่างทองแหวนกลไกปริศนา
มนตรี ภูมิภักดิ์
ตระกูลภูมิภักดิ์ใช้ภูมิปัญญาช่างทองโบราณ สร้างสรรค์แหวนกลไกปริศนาที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะของตระกูลสืบสานมากว่าร้อยปี แหวน 4 วงร้อยเป็นกลไกไขว้กัน เมื่อถอดออกจากนิ้วกลับกลายเป็นแหวนวงเดียว พร้อมลูกเล่นจากเทคนิคติดลวดสปริงทองขนาดเล็กจิ๋ว บวกทักษะความชำนาญในการเชื่อมน้ำประสานทอง ทำให้ชิ้นส่วนเคลื่อนไหวได้ และยังฝังพลอยลงบนหัวแหวนเพิ่มความสวยงามประณีต
ดูประวัติเพิ่มเติม >> คลิกที่นี่
ช่างทองโบราณ
ปิยะณัฐ รุ่งสีทอง
สืบทอดลวดลายและวิธีการทำงานของช่างทองโบราณผู้เป็นพ่อ คือครูทำนอง รุ่งสีทอง เพื่ออนุรักษ์งานช่างเครื่องทองในรูปแบบดั้งเดิม ด้วยการศึกษาถอดแบบลวดลายโบราณแล้วนำมาประยุกต์ลวดลายใหม่ๆ ให้ร่วมสมัยขึ้น เช่น ลายดอกแค อีกทั้งยังคิดค้นเทคนิคใหม่ในขั้นตอนการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดเวลาในการผลิต ทำให้เครื่องทองโบราณกลับมามีชีวิต
ดูประวัติเพิ่มเติม >> คลิกที่นี่
ช่างเขียนลายเครื่องเบญจรงค์
สรัญญา สายศิริ
จากคุณปู่ ครูวิรัตน์ ปิ่นสุวรรณ สู่คุณพ่อ วิชัย ปิ่นสุวรรณ คุณสรัญญาพัฒนาเครื่องเบญจรงค์ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวัน มีการฟื้นฟูลายวิชเยนทร์จากโถเบญจรงค์มาใช้กับชุดรับประทานอาหาร ใช้เทคนิคผสมสีระหว่างสีหลักทั้งห้าให้เกิดเฉดสีใหม่ ใช้น้ำทองคุณภาพดีที่มีส่วนผสมของทองคำ 18-20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าท้องตลาดทั่วไปที่มีทองเพียง 8-10 เปอร์เซ็นต์ ช่วยยืดอายุการใช้งานเครื่องเบญจรงค์
ดูประวัติเพิ่มเติม >> คลิกที่นี่
ช่างแทงหยวก
วิริยะ สุสุทธิ
การแทงหยวกเป็นศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านที่ใช้หยวกหรือกาบกล้วยมาฉลุเป็นลวดลาย ต้องอาศัยความชำนาญเรื่องลายไทยและการผูกลวดลายให้งดงาม แม่นยำ เพราะการแทงหยวกไม่สามารถร่างแบบขึ้นก่อนได้ และต้องใช้เวลาจำกัดเพื่อไม่ให้หยวกช้ำหรือเป็นรอย ช่างแทงหยวกสกุลช่างเพชรบุรี ผู้สืบทอดวิชามาจากคุณพ่อ ครูประสม สุสุทธิ ประยุกต์ลวดลายปูนปั้นให้เป็นลวดลายใหม่ อาทิ ลายกระจังฟันหนึ่ง ฟันสอง ลายกระจังรวน ลายกระจังใบเทศ ลายสาหร่ายข้างเสา
ดูประวัติเพิ่มเติม >> คลิกที่นี่
ขอขอบคุณ
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) เอื้อเฟื้อข้อมูลและภาพประกอบ
ถ่ายภาพโดย คุณพิภพ บุษราคัมวดี
ที่มา : นิตยสาร plook ฉบับที่ 44 สิงหาคม 2557
หมายเหตุ
ทีมงานทรูปลูกปัญญาขออภัยคุณพิภพ บุษราคัมวดี ผู้ถ่ายภาพในบทความนี้ สำหรับการนำลายน้ำใส่ในภาพ ทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของภาพถ่าย ซึ่งทีมงานได้เรียนชี้แจงคุณพิภพแล้วว่า ภาพถ่ายที่ใช้ประกอบบทความทั้งหมดนั้นได้รับอนุญาตจากหน่วยงานผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เพื่อเผยแพร่ผ่านนิตยสารและเว็บไซต์อย่างถูกต้อง ก่อนทำการเผยแพร่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 ทั้งนี้ เหตุดังกล่าวเกิดจากการนำบทความและภาพประกอบจากนิตยสารมาเผยแพร่ต่อในเว็บไซต์ ทีมงานจึงใส่เครดิตทุกอย่างเหมือนในนิตยสาร รวมทั้งใส่ลายน้ำบนภาพตามหลักปฏิบัติทุกครั้ง เนื่องจากภาพประกอบในนิตยสารจะเป็นภาพที่ทีมงานเป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้นเองหรือได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจากผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แล้ว แต่กรณีนี้ ทีมงานเว็บไซต์ได้คัดมาเฉพาะบทความและภาพถ่ายของคุณพิภพมาเผยแพร่เท่านั้น โดยมิได้นำภาพประกอบอื่น ๆ จากนิตยสารซึ่งทีมงานสร้างสรรค์เองมาใช้ด้วย แต่ทว่า ยังคงระบุเครดิตทุกอย่างเหมือนในนิตยสาร จึงทำให้เกิดความผิดพลาดดังกล่าว ซึ่งทีมงานทุกคนต้องขออภัยอย่างสูง มา ณ ที่นี้ และขณะนี้ทีมงานได้ดำเนินการแก้ไขบทความ โดยใส่ภาพประกอบจากนิตยสารแทนภาพเดิม และเพิ่มเติมเครดิตของผู้ถ่ายภาพในบทความนี้ในเว็บไซต์แล้ว สุดท้ายนี้ทางทีมงานทรูปลูกปัญญาขอขอบคุณและขออภัยในความผิดพลาดมา ณ โอกาสนี้
ทีมงานทรูปลูกปัญญา