พิพิธภัณฑ์มด กรุงเทพมหานคร
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2013-04-29 14:00:36
เมื่อเอ่ยถึง "มด" คงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก มดมีความผูกพันหรือความใกล้ชิดของมดกับคนไทยมาช้านานแล้ว แต่ความรู้เกี่ยวกับความเป็นไปของมด ไม่มีใครเคยศึกษาอย่างหรือทำอย่างจริงจัง ส่วนมากจะศึกษาเพียงบางด้านและไม่ต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังขาดการนำมาถ่ายทอดเป็นเรื่องราว จึงทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับมดมีไม่มากนักและไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นผลทำให้เกิดแนวความคิดที่จะใช้มดเป็นโครงการนำร่อง (pilot project) ในการเป็นต้นแบบของการศึกษาวิจัยแนวใหม่ ที่เน้นการศึกษาอย่างต่อเนื่องให้ถึงที่สุดหรือสมบูรณ์แบบมากที่สุด เพื่อจะได้นำความรู้มาประยุกต์ใช้งานด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ภายใต้ความจริงที่ว่า "ศึกษามาก รู้มาก ใช้ประโยชน์ได้มาก" ดังนั้น การจัดตั้งพิธภัณฑ์มดขึ้นในครั้งนี้ ก็อยู่ภายใต้แนวความคิด และความจริงดังกล่าว เพื่อจะกระตุ้นให้อาจารย์หรือนักวิจัยรุ่นใหม่ได้กระทำเช่นนี้กับงานที่ตนเองถนัด และเป็นสถานที่จัดเก็บตัวอย่างมดที่พบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อการศึกษา เนื่องจากมดเป็นสัตว์สังคมที่น่าสนใจ มีความหลากหลายทั้งชนิดและปริมาณ รวมทั้งมีความสำคัญในฐานะที่เป็นตัวบ่งชี้ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเก็บรวบรวมตัวอย่างมดจากทั่วประเทศ
2. เพื่อเก็บรวบรวมตัวแทนสกุลมดจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
3. เพื่อศึกษาด้านอนุกรมวิธาน ชีววิทยา และนิเวศวิทยา ของมด
4. เพื่อเป็นแหล่งความรู้แก่ผู้สนใจทั่วไปและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตนเองและประเทศชาติ
รูปแบบการจัดพิพิธภัณฑ์
การจัดแสดงตัวอย่างมดแบ่งออกได้ 3 ประเภท ขึ้นอยู่กับการใช้ประโยชน์ ดังนี้
1. การจัดแสดงตัวอย่างมดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศอื่น ๆ สำหรับนักอนุกรมวิธานมดเท่านั้น
ลักษณะการจัดแสดงจะจำแนกแยกออกเป็นวงศ์ย่อย สกุล และชนิด โดยตัวอย่างแห้งจะถูกจัดเก็บเป็นลำดับตามอนุกรมวิธานภายในกล่องไม้ ส่วนตัวอย่างเปียกจะดองในแอลกอฮอล์ 95 เปอร์เซ็นต์ แยกออกมาต่างหาก นอกจากนี้ยังเก็บตัวอย่างมดที่เป็น Holotype ที่พบในประเทศไทยและตัวอย่างมดที่เป็น Paratype จากต่างประเทศ จัดเก็บไว้ที่ห้องปฏิบัติการทางกีฏวิทยาป่าไม้ ตึกวนศาสตร์ 60 ปี
2. การจัดแสดงตัวอย่างมดในประเทศไทย สำหรับนักวิจัยทางแมลงทั่วไป นักนิเวศวิทยา นักชีววิทยา และอื่น ๆ โดยตัวอย่างมดแห้งถูกจัดแสดงตามลักษณะถิ่นอาศัยภายในกล่องไม้ติดกระจก จัดแสดงไว้ที่ห้องปฏิบัติการทางกีฏวิทยาป่าไม้ ตึกวนศาสตร์ 60 ปี
3. การจัดแสดงตัวอย่างมดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับผู้เข้าเยี่ยมชมและประชาชนทั่วไป จัดแสดงไว้ที่ห้องพิพิธภัณฑ์มด ตึกวินิจวนันดร โดยจะเป็นการจัดเชิงประยุกต์ (applied museum) ภายใต้แนวคิดใหม่ เพื่อคนทุกวัย มุ่งเน้นการนำไปใช้ประโยชน์มากกว่าการเก็บรวบรวมตัวอย่าง เช่น มดกับมนุษย์ มดกับสิ่งแวดล้อม มดกับระบบนิเวศ มดกับวิธีชีวิตคนไทย เป็นต้น โดยมีตัวอย่างแห้ง รังมด ภาพถ่าย การจำลองถิ่นอาศัย และการเลี้ยงมดจริง เป็นต้น ภายใต้แนวความคิดที่ว่า "สังคมดี มีน้ำใจ"
ที่ตั้งพิพิธภัณฑ์
สถานที่จัดแสดงประกอบด้วย 2 แห่ง เพื่อสะดวกในการใช้ประโยชน์ ดังนี้
1. ห้องปฏิบัติการทางกีฏวิทยาป่าไม้ ตึกวนศาสตร์ 60 ปี พื้นที่ 32 ตร.ม. สำหรับนักวิจัย
2. ห้องพิพิธภัณฑ์มด ชั้น 2 ตึกวินิจวนันดร พื้นที่ 80 ตร.ม. สำหรับผู้เยี่ยมชมทั่วไป
ติดต่อสอบถามได้ที่
รศ.เดชา วิวัฒน์วิทยา
ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
โทรศัพท์ : 0-2579-0176 , 0-2942-8107
e-Mail : ffordew@ku.ac.th
แหล่งที่มา : https://www.museum.ku.ac.th