พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 12.6K views



พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี 1/6
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี 2/6
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี 3/6
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี 4/6
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี 5/6
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี 6/6

ประวัติความเป็นมา

     พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2502 โดยประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่ม 103 ตอนที่ 204 ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2529 อันสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม 2534

        อาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวร แต่เดิมเป็นศาลาว่าการรัฐบาลมณฑลราชบุรี สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2465 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) โดยใช้เป็นทั้งที่ว่าการเมืองราชบุรีและที่ว่าการมณฑลราชบุรี ในสถานที่เดียว กัน ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. 2476 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เมื่อมีการประกาศยกเลิกระบอบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล และมีการจัดระเบียบการปกครองขึ้นใหม่เป็นจังหวัดและอำเภอ อาคารหลังนี้ก็ได้มีการปรับเปลี่ยน ให้ใช้เป็นศาลากลางจังหวัดราชบุรีตาม ลำดับ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2524 จึงได้มีการย้ายไปใช้ศาลากลางจังหวัดราชบุรีหลังใหม่ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้จัดสร้างขึ้นที่บริเวณถนนสมบูรณ์กุล อันเป็นสถานที่ตั้งปัจจุบัน
      กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนอาคาร หลังนี้เป็นโบราณสถานของชาติ โดยประกาศลงในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่ม 94 ตอนที่ 39 ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2520 และได้เริ่มเข้ามาสำรวจเพื่อขอใช้อาคารและบริเวณพื้นที่โดยรอบ เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่เศษ จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ในปี พ.ศ. 2526 แล้วต่อมาในระหว่างปี พ.ศ. 2527 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จังหวัดราชบุรี โดยผู้อำนวยการป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ กองทัพภาคที่ 1 กองทัพบก กระทรวงกลาโหม ได้ขอใช้อาคารเป็นสถานที่ตั้งของหน่วยปฏิบัติการทางจิตวิทยา "สันตินิมิต 114" กรมศิลปากรโดยกองสถาปัตยกรรมขณะนั้น (ปัจจุบันเป็นสถาบันศิลปกรรม) ได้เริ่มดำเนินการบูรณะซ่อมแซมในเบื้องแรกในปี พ.ศ. 2528 ในวงเงิน 500,000 บาท (ห้าแสนบาทถ้วน) ประกอบด้วย การบูรณะซ่อมแซมกระเบื้องมุงหลังคา ตะเฆ้ราง รางน้ำ โครงสร้างหลังคา เชิงชาย ฝ้าเพดาน เสา ผนัง บัวฐานทั้งภายนอกและภายใน ประตู หน้าต่าง บัวประดับกรอบประตูหน้าต่าง พื้นและบันได การบูรณะซ่อมแซมของกรมศิลปากรโดยกองสถาปัตยกรรม ได้ดำเนินการสืบเนื่องมาจนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2529 โดยใช้งบประมาณเพิ่มเติมอีกเป็นเงิน 885,000 บาท (แปดแสนแปดหมื่นห้าพันบาทถ้วน) ซึ่งเป็นการบูรณะซ่อมแซมในส่วนพื้นและบันไดต่อเนื่องในส่วนที่เหลือ สร้างห้องน้ำห้องสุขาเพื่อใช้บริการผู้เข้าชมในอาคาร งานการปรับปรุงระบบไฟฟ้า งานการรื้อถอนส่วนที่ต่อเติมภายในอาคารออก งานปรับปรุงพื้นที่ภายในเป็นสวนหย่อม พร้อมด้วยศาลาในสวน งานท่อระบายน้ำทิ้ง และงานซ่อมแซมรั้วด้านหน้าและด้านข้าง พร้อมกันนั้น ในปี พ.ศ. 2529 นี้ ก็ได้มีการประกาศกำหนดสถานที่เป็น อาคารศาลากลางจังหวัดราชบุรีหลังเดิม ให้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 โดยประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่ม 103 ตอนที่ 204 ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2529

      ในปี พ.ศ. 2530 กรมศิลปากรโดยกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ปัจจุบันเป็นสำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ) ก็ได้เริ่มเข้าใช้ อาคารศาลากลางจังหวัดราชบุรีหลังเดิมเป็นพิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติ ราชบุรี โดยจัดส่งเจ้าหน้าที่มาประจำการ เพื่อประสานงานกับทางจังหวัดและส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการปฏิบัติงานด้านการ สำรวจและเก็บข้อมูลทางด้านวิชาการในพื้นที่ การปฏิบัติงานทางด้านการจัดทำ คัดเลือก และรวบรวมศิลปโบราณวัตถุสำหรับการแสดงนิทรรศการถาวรภายในอาคาร และการปฏิบัติงานด้านอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับการเปิด เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ให้บริการอย่างเป็นทางการ
      ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. 2534 เมื่อได้มีการจัดแสดงนิทรรศการ ถาวรภายในอาคารศาลากลางจังหวัดราชบุรีหลัง เดิมเสร็จสิ้นลงอย่างสมบูรณ์ โดยความร่วมมือบางส่วนจากกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงอุตสาหกรรม และความร่วมมือร่วมใจของหัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี (นายชัยนันท์ บุษยรัตน์) และเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี กัณฑารักษ์จากฝ่ายวิชาการ ช่างศิลปกรรมจากฝ่ายเทคนิคและศิลปกรรม และช่างอนุรักษ์จากฝ่ายอนุรักษ์ศิลปโบราณวัตถุ กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขณะนั้น กรมศิลปากรจึงได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี อย่างเป็นทางการในวันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม 2534 และทั้งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้ เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทอดพระเนตรนิทรรศการถาวรของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรีอีกครั้งหนึ่ง ในโอกาสที่ทรงนำนักเรียนนายร้อยจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เดินทางทัศนศึกษาวิชาการด้านประวัติศาสตร์ที่จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2536
      ลักษณะของอาคารศาลากลางจังหวัดราชบุรี หลังเดิมที่ใช้เป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวร เป็นอาคารที่ได้รับอิทธิพล ด้านรูปแบบการสร้างมาจากสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ที่ได้รับความนิยมนำมาสร้างกันอย่างแพร่หลายในช่วงรัชกาลที่ 5 - 6 โดยมีลักษณะแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 30.00 เมตร ยาว 57.00 เมตร มีพื้นที่ใช้สอยรวม 1,710 ตารางเมตร ตัวอาคารก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว ยกพื้นสูง หลังคามุงกระเบื้องว่าว และมีพื้นที่ว่างสำหรับ ตกแต่งเป็นสวนไม้ดอกไม้ประดับอยู่บริเวณด้านในอาคาร
       อาคารหลังที่สองของพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็น อาคารส่วนบริการ เป็นอาคารที่สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ.2418 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เพื่อใช้เป็นจวนที่พักของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 ต่อมาได้ใช้เป็นกองบัญชาการรัฐบาลมณฑลราชบุรีเมื่อครั้งแรกตั้ง เมื่อมีการสร้างศาลาว่าการรัฐบาลมณฑลราชบุรีขึ้นใหม่แล้ว (อาคารศาลากลางจังหวัดราชบุรีหลังเดิม ที่ใช้เป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวร ของพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบัน) อาคารหลังนี้ก็ใช้เป็นจวนที่พักของเจ้าเมืองราชบุรี ที่ทำการสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิง ราชบุรี และห้องสมุดประชาชน จังหวัดราชบุรี ตามลำดับ ภายหลังจากที่กรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการได้มีการจัดสร้างห้องสมุดประชาชนเฉลิมราชกุมารี ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดราชบุรีปัจจุบันแล้วเสร็จ และได้ย้ายสำนักงานไปตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับห้องสมุด กรมศิลปากรโดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี จึงได้ขออนุญาตใช้อาคารหลังนี้และบริเวณโดยรอบ เนื้อที่ประมาณ 1 งานเศษ จากกรมธนารักษ์ ให้ใช้ได้เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2539
      ภายหลังจากที่ได้รับอนุญาตจากกรมธนารักษ์ให้ใช้อาคารและบริเวณโดยรอบ กรมศิลปากรโดยสำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้มอบหมายให้สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 1 ราชบุรี ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมอาคารทั้งหมดในปี พ.ศ. 2540 ในวงเงิน 3,400,000 บาท แล้วดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ใช้สอยภายใน และภูมิทัศน์โดยรอบอาคารในปี พ.ศ. 2541 ในวงเงิน 1,000,000 บาท
       สำหรับอาคารกองบัญชาการรัฐบาลมณฑล ราชบุรีที่ใช้เป็นอาคารส่วนบริการของพิพิธภัณฑ์นั้น มีลักษณะเป็นอาคารที่ได้ รับอิทธิพลด้านรูปแบบการสร้างมาจากสถาปัตยกรรมแบบ ตะวันตก เช่นเดียวกันกับอาคารศาลากลางจังหวัดราชบุรีหลังเดิม โดยมีลักษณะแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 14.30 เมตร ยาว 16.00 เมตร มีพื้นที่ใช้สอยรวม 458 ตารางเมตร ตัวอาคารแบ่งออกเป็นสองชั้น ครึ่งตึกครึ่งไม้ ยกพื้นสูง หลังคามุงกระเบื้องว่าว และด้านหน้าก่อเป็นมุขยื่นออกไป การใช้สอยภายในอาคารได้แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกที่อยู่ชั้นล่างของอาคาร ใช้เป็นพื้นที่สำหรับจัดนิทรรศการหมุนเวียน จัดกิจกรรมพิเศษ หรือจัดประชุมและบรรยาย ในขณะที่ส่วนที่สองที่อยู่ชั้นบนของอาคาร ใช้เป็นสำนักงานและ คลังจัดแสดงศิลปโบราณวัตถุเพื่อการศึกษาของพิพิธภัณฑ์

ที่มา : https://www.thailandmuseum.com/ratchaburi/history.htm