พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 6.5K views



พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี 4/6


พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี
    อ. เมือง จ. พิษณุโลก
     พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี (จ่าสิบเอกทวี-พิมพ์ บูรณเขตต์) ตั้งอยู่ที่ถนนวิสุทธิกษัตริย์ ในตัวเมืองพิษณุโลกเป็นที่เก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้าน ซึ่งเป็นเครื่องมือทำมาหากินของชาวบ้านในอดีต ตั้งแต่ชิ้นเล็ก ๆ จนถึงชิ้นใหญ่ เช่น เครื่องจักสาน เครื่องปั้นดินเผา เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น เครื่องวิดน้ำด้วยมือ เครื่องสีข้าว เครื่องมือดักจับสัตว์ รวมกันแล้วนับหมื่นชิ้น  จนได้รับการยอมรับว่าเป็นขุมทรัพย์ทางประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาไทย และได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ประเภทหน่วยงานส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว เมื่อปี 2541

     ลุงจ่า....... คนดีศรีพิษณุโลก
     ขณะกำลังจดจ่อกับการปั้นพระพุทธรูปอยู่ที่โรงหล่อพระ ฝั่งตรงข้ามกับพิพิธภัณฑ์
     เพื่อหารายได้มาประคับประคองพิพิธภัณฑ์แห่งนี้


     จ่าสิบเอก ดร. ทวี บูรณเขตต์ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ เป็นผู้ที่มีฝีมือในทางประติมากรรม และได้รับการเชิดชูเกียรติมากมาย ท่านได้รับการยกย่อง
ให้เป็น "บุคคลดีเด่นทางวัฒนธรรมสาขาการช่างฝีมือ แขนงช่างหล่อ ประจำปี 2526" และได้รับพระราชทานปริญญา ศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒและมหาวิทยาลัยศิลปากร รวมทั้งการประกาศเกียรติคุณเป็น "คนดีศรีพิษณุโลก"

ปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี มีอาคารจัดแสดงอยู่ 3 หลัง
     - อาคารจัดแสดงหลังแรก  เป็นที่จัดแสดงภาพถ่ายเก่าๆ ที่แสดงถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของพิษณุโลก เช่น รูปการออกตรวจราชการในอดีต รูปเหตุการณ์ไฟไหม้เมืองพิษณุโลกเมื่อปี 2500 ฯลฯ
     - อาคารจัดแสดงหลังที่ 2 เป็นอาคาร 2 ชั้น จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านไทยในอดีตที่ส่วนใหญ่ได้ มาจากบริเวณภาคเหนือตอนล่าง เช่น เครื่องมือจับปลา ดักนก ดักหนู ดักลิง รวมไปถึงเครื่องดนตรี และของเล่นเด็กในสมัยก่อน ทั้งยังมีมุมจำลองส่วนต่างๆ ของบ้านเรือนสมัยก่อน เช่น ครัวไฟ   เรือนอยู่ไฟหลังคลอดบุตร เป็นต้น
      - อาคารจัดแสดงหลังสุดท้าย เป็นที่จัดนิทรรศการชาวโซ่ง หรือที่เรียกกันว่า ลาวโซ่ง หรือไทยทรงดำ ในจังหวัดพิษณุโลก ที่อพยพมาจากจังหวัดเพชรบุรี ราชบุรีมานานนับชั่วอายุคนแล้ว
     ข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้าน ส่วนใหญ่ลุงจ่าได้มาจากพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ นครสวรรค์ พิิจิตร กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ ตาก สุโขทัยอุตรดิตถ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพิษณุโลก ของบางอย่างลุงจ่าต้องดั้นด้นเข้าไปหาเองในป่า ไม่มีราคาค่างวด แต่มีคุณค่า ซึ่งผู้ชมจะได้เรียนรู้ ชีวิต ความเชื่อ ความคิดของคนในอดีตจากข้าวของเครื่องใช้เหล่านี้


ที่มา : https://www.arunsawat.com