วงจรไฟฟ้าเบื้องต้น
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 55.9K views



วงจรไฟฟ้าเบื้องต้นประกอบไปด้วย แหล่งกำเนิดไฟฟ้า ลวดตัวนำ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสวิตซ์ ซึ่งทำให้วงจรไฟฟ้านั้นเป็นวงจรปิด หรือวงจรเปิดก็ได้ เราสามารถวัดปริมาณความต่างศักย์ไฟฟ้า และปริมาณกระแสไฟฟ้าได้จากโวลต์มิเตอร์ และแอมมิเตอร์

ภาพ : shutterstock.com

วงจรไฟฟ้า หมายถึง เส้นทางที่กระแสไฟฟ้าเคลื่อนที่ผ่านได้ครบรอบ วงจรไฟฟ้าอย่างง่ายเป็นวงจรไฟฟ้าที่มีกระแสไฟฟ้าไหลไปทางเดียว วงจรไฟฟ้าเริ่มต้นจากขั้วบวกของแหล่งกำเนิดไฟฟ้า เช่น ถ่านไฟฉาย ผ่านลวดตัวนำ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น หลอดไฟฟ้า พัดลม ไปยังขั้วลบของแหล่งกำเนิดไฟฟ้า

ในวงจรไฟฟ้า เมื่อเปิดสวิตซ์หรือเปิดไฟ เป็นการทำให้วงจรปิด คือ จะมีกระแสไฟฟ้าไหลตลอดในวงจร แต่ถ้าปิดสวิตซ์หรือปิดไฟ จะทำให้วงจรเปิด คือ วงจรขาดตอน ทำให้ไม่มีกระแสไฟฟ้าไหลในวงจร

ถ่านไฟฉาย เป็นแหล่งกำเนิดไฟฟ้า มีแรงเคลื่อนไฟฟ้า ซึ่งทำให้เกิดความต่างศักย์ไฟฟ้าระหว่างขั้วบวกและขั้วลบของถ่านไฟฉาย ขั้วบวกมีศักย์ไฟฟ้าสูงกว่าขั้วลบ และมีการกำหนดให้กระแสไฟฟ้าในตัวนำไฟฟ้าใดๆ มีทิศจากจุดที่มีศักย์ไฟฟ้าสูง ไปยังจุดที่มีศักย์ไฟฟ้าต่ำเสมอ

การต่อถ่านไฟฉายแบบอนุกรมนั้น ถ่านไฟฉายจะให้พลังงานไฟฟ้าเท่ากับพลังงานรวมของถ่านไฟฉายทั้งหมด ที่นำมาต่อกับอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ไฟฉายซึ่งใช้ถ่านไฟฉาย 2 ก้อน ถ่านไฟฉายทั้งสองต่อกันแบบอนุกรม พลังงานไฟฟ้าที่ส่งผ่านหลอดไฟฟ้า จะเป็นพลังงานรวมของถ่านไฟฉายทั้งสอง ถ้านำถ่านไฟฉายจำนวน 2 ก้อน มาต่อกันแบบขนาน พลังงานไฟฟ้าที่ได้จากถ่านไฟฉายทั้งสอง จะเท่ากับพลังงานไฟฟ้าของถ่านไฟฉายเพียง 1 ก้อนเท่านั้น การต่อแหล่งกำเนิดไฟฟ้าแบบขนานไม่เป็นที่นิยมในการใช้งาน

โวลต์มิเตอร์ เป็นเครื่องมือวัดความต่างศักย์ไฟฟ้า หรือความแตกต่างของพลังงานไฟฟ้าที่ต่างกันระหว่างจุด 2 จุดนั้น การใช้โวลต์มิเตอร์ต้องคำนึงถึงการต่อขั้วไฟฟ้าทั้ง 2 ขั้ว ต้องต่อให้ถูกต้อง คือ ต่อขั้วลบของวงจรไฟฟ้ากับขั้วลบของโวลต์มิเตอร์ และขั้วบวกของวงจรไฟฟ้าต่อเข้ากับขั้วบวกของโวลต์มิเตอร์

แอมมิเตอร์ เป็นเครื่องมือวัดปริมาณกระแสไฟฟ้า มีหน่วยเป็นแอมแปร์ การใช้แอมมิเตอร์ต้องต่อแบบอนุกรมกับวงจรไฟฟ้าที่ต้องการวัด เพื่อให้กระแสไฟฟ้าทั้งหมดไหลผ่านแอมมิเตอร์ แอมมิเตอร์ต้องมีความต้านทานน้อยมาก