ทรานซิสเตอร์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 48.3K views



ในวงจรไฟฟ้าทั่วไปเมื่อต้องการเปิดปิดวงจร จะใช้สวิตซ์ควบคุมการเปิดหรือปิดวงจรนั้น แต่ถ้าต้องการควบคุมการปิดเปิดบางส่วนของวงจร อาจใช้ทรานซิสเตอร์ควบคุม ทรานซิสเตอร์เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ประกอบขึ้นมาจากสารกึ่งตัวนำ

ภาพ : shutterstock.com

ทรานซิสเตอร์ เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทำมาจากสารกึ่งตัวนำ (semiconductor) สารกึ่งตัวนำใช้ธาตุกึ่งโลหะ หรือเมทัลลอยด์ (metalloid) ธาตุกึ่งโลหะเมื่ออยู่ในอุณหภูมิห้องมีสมบัติเป็นตัวนำไฟฟ้าที่ไม่ดี แต่จะเป็นตัวนำไฟฟ้าได้ดีขึ้นเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น หรือมีสิ่งเจือปน ซึ่งได้แก่ ซิลิกอน (Si) พลวง (Sb) สารหนู (As) เจอร์มาเนียม (Ge) สารกึ่งตัวนำมักใช้ซิลิคอน และเจอร์มาเนียม ทรานซิสเตอร์แต่ละชนิดจะมี 3 ขา ได้แก่ ขา B ขา C และขา E

ทรานซิสเตอร์ทำหน้าที่เป็นสวิตซ์เปิด-ปิดวงจรไฟฟ้า การป้อนกระแสไฟฟ้าเข้าที่ขาของทรานซิสเตอร์ที่เหมาะสมและถูกต้อง จะทำให้ทรานซิสเตอร์ทำงานได้ โดยกระแสไฟฟ้าหรือแรงเคลื่อนไฟฟ้าจำนวนเล็กน้อยที่ขาหนึ่ง จะสามารถควบคุมกระแสไฟฟ้าปริมาณมากที่ผ่านอีก 2 ขา ทรานซิสเตอร์ที่พบกันบ่อยๆ นั้น จะมีอยู่ 2 ชนิด คือ

1. ทรานซิสเตอร์ชนิด PNP

ดูได้จากเบอร์ของทรานซิสเตอร์ จะมีตัวอักษร A และ B เช่น 2 SA…, 2 SB… มีสัญลักษณ์ดังนี้

2. ทรานซิสเตอร์ชนิด NPN

ดูได้จากรหัสหรือเบอร์ของทรานซิสเตอร์ จะมีตัวอักษร C และ D ปรากฏอยู่ เช่น 2SC 373 หรือจะเขียนเป็น C373 มีสัญลักษณ์ดังนี้

ทรานซิสเตอร์เป็นอุปกรณ์ซึ่งถูกควบคุมด้วยกระแสไฟฟ้าที่ผ่านขา B หรือเรียกว่า กระแสเบส นั่นคือ เมื่อกระแสเบสเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ก็จะทำให้กระแสไฟฟ้าในขา E (กระแสอิมิตเตอร์) และกระแสไฟฟ้าในขา C (กระแสคอลเล็กเตอร์) เปลี่ยนแลงไปด้วย ซึ่งทำให้ทรานซิสเตอร์ทำหน้าที่เป็นสวิตช์ปิดหรือเปิดวงจร

โดยถ้าไม่มีกระแสไฟฟ้าผ่านขา B ก็จะทำให้ไม่มีกระแสไฟฟ้าผ่านขา E และ C ด้วย ซึ่งเปรียบเสมือนปิดไฟ (วงจรเปิด) แต่ถ้าให้กระแสไฟฟ้าเพียงเล็กน้อยผ่านขา B จะสามารถควบคุมกระแสไฟฟ้าที่มากกว่าให้ผ่านทรานซิสเตอร์แล้วผ่านไปยังขา E และผ่านไปยังอุปกรณ์อื่นที่ต่อจากขา C