ภาษาไทย ม. 1 เรื่อง กลอนดอกสร้อยรำพึงในป่าช้า
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 63.7K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

ผังมโนทัศน์การเรียนรู้ กลอนดอกสร้อยรำพึงในป่าช้า

 

นำเรื่อง

         กลอนดอกสร้อยรำพึงในป่าช้า จากหนังสือคำประพันธ์บางเรื่องของพระยาอุปกิตศิลปสาร แปลจากโคลงภาษาอังกฤษ ชื่อ Elegy Written in a Country Churchyard ของ Thomas Gray ถ่ายทอดในแบบร้อยกรองไทย

กลอนดอกสร้อย รำพึงในป่าช้า

                                                                                                            พระยาอุปกิตศิลปสาร

           กาลครั้งหนึ่งในเวลาย่ำค่ำ มีชายคนหนึ่งนั่งอยู่ป่าช้าในชนบทท่ามกลางหลุมฝังศพมากมาย บรรยากาศที่วังเวงทำให้เขารำพึงกับศพ และเขียนความในใจเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

            เมื่อเสียงระฆังบอกเวลาใกล้ค่ำ ฝูงวัวควาย ชาวนาที่เหนื่อยจากการทำงานก็กลับบ้าน เหลือเพียงท้องทุ่งที่มืดมิด อากาศก็เริ่มเย็น ได้ยินเสียงจิ้งหรีด เสียงเกราะวัวควายมาแต่ไกล เสียงนกแสกร้องดังเหมือนจะฟ้องดวงจันทร์ว่ามีคนบุกรุกพื้นที่ของมัน บริเวณโดยรอบมีต้นไม้สูงใหญ่ที่เนินมีหลุมฝังศพของชาวบ้าน ตัวเราก็ใกล้จะได้นอนในหลุมนั้นขึ้นทุกวัน คนที่ตายไปแล้วก็หมดห่วง แม้ว่าเสียงไก่ขันในยามเช้าเหมือนจะปลุกให้พวกเขาตื่นขึ้นมา แต่พวกเขาก็ไม่ได้ยิน กองข้าวสูงเท่าโรงนาที่เคยเก็บเกี่ยว ความรู้ความสามารถ เมื่อตายไปแล้วก็เอาไปด้วยไม่ได้ ไม่ว่าใครสุดท้ายก็ต้องตาย คุณงามความดีมากมายแต่ไม่มีใครรู้เมื่อตายไป ก็เหมือนอัญมณีที่อยู่ในภูเขาหรือใต้ทะเลลึกที่ไม่มีใครเคยเห็น เหมือนดอกไม้สวยกลิ่นหอมที่อยู่ไกลไม่เคยมีใครเคยดม บางคนทำตัวให้ภายนอกดูดีเพื่อปกปิดความชั่วของตน ทุกคนล้วนห่วงชีวิตของตนเอง ขอให้ดวงจิตทั้งหลายลืมทุกสิ่งทุกอย่างที่อยากมีหรืออยากเป็น ลืมภาระ ลืมที่อยู่ เพื่อให้หมดห่วง เมื่อเราตายขอเพียงญาติพี่น้องอาลัยและทำพิธีทางศาสนาให้ คิดแล้วก็เศร้า แต่ก็เป็นเรื่องปกติที่มีเกิดต้องมีตาย

 

ศัพท์น่ารู้

จร                     ไป เที่ยวไป

ซ่อง                  ที่อยู่

แถก                  เสือกไป ไถไป แถกขวัญ หมายถึงทำให้เสียขวัญ หรือทำให้ตกใจ

ผ้าย                   เคลื่อนจากที่

มณี                   แก้วหินสีแดงในจำพวกนพรัตน์

วิบาก                 ผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วที่ทำไว้แต่ชาติปางก่อน

อาลัย                 ห่วงใย พัวพัน ระลึกถึงด้วยความเสียดาย

 

ผู้แต่ง

            พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ)

สาระน่ารู้

จริยธรรมเพื่อการดำเนินชีวิต

            ทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น โดยการเสียสละ ยึดมั่นในหลักธรรม  เป็นคนดี สร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้น ซึ่งจะทำเราได้รับการยกย่อง มีความสุข ทำอะไรก็จะได้รับการสนับสนุน เกิดสันติสุขในสังคม อยู่ที่ไหนเจริญที่นั่น

อยู่ให้เขาไว้ใจ ไปให้เขาคิดถึง

            อยู่ในสังคมใด ต้องทำแต่ความดี เพราะผู้ทำความดี เมื่อจากไปย่อมมีแต่คนคิดถึง

แนวทางในการพิจารณาวรรณกรรม

เนื้อเรื่อง

            กล่าวถึงชายคนหนึ่งนั่งอยู่ที่ป่าช้าในชนบทซึ่งมีหลุมฝังศพมากมาย  ความวังเวงทำให้เขาคิดเรื่องต่าง ๆ เช่น ความตายเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ วิถีชีวิตเรียบง่ายในชนบท  เมื่อล่วงลับ มีเพียงความดีเท่านั้นที่ยังคงอยู่

ศิลปะการประพันธ์

- แปลบทร้อยกรองจากโคลงภาษาอังกฤษ โดยใช้ฉันทลักษณ์กลอนดอกสร้อย ขึ้นต้น  “เอ๋ย”  ลงท้าย  “เอย”

- ใช้คำที่เข้าใจง่าย สื่อความหมายชัดเจน เล่นเสียงสัมผัสสระ สัมผัสพยัญชนะ และคำเลียนเสียงธรรมชาติ

- ใช้โวหารบรรยายและเปรียบเทียบ  ทำให้เกิดจินตนาการและสะเทือนใจ

ข้อคิด คติคำสอน และความจรรโลงใจ

           ทุกคนเกิดมาต้องตาย มีเพียงความดีเท่านั้นที่ยังเหลือให้คนสรรเสริญ จึงไม่ควรยึดติด ควรปล่อยวาง

การนำไปใช้ในชีวิตจริง

            ในขณะที่เรามีชีวิตอยู่ควรทำดี  ทำในสิ่งที่ถูกที่ควร และ สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

 

แหล่งที่มา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th