ภาษาไทย ม. 2 เรื่อง ร่ายสุภาษิตพระร่วง
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 31.5K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 
ผังมโนทัศน์การเรียนรู้ ร่ายสุภาษิตพระร่วง

นำเรื่อง

            สุภาษิตพระร่วงเชื่อว่าเป็นข้อคิดที่พระร่วงใช้สั่งสอนพลเมือง สืบทอดต่อกันมาทางมุขปาฐะ ฉบับจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ที่นำมาศึกษานี้สันนิษฐานว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นผู้แต่ง

 

ร่ายสุภาษิตพระร่วง

 

ร่ายสุภาษิตพระร่วง

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

เริ่มต้นกล่าวถึงพระร่วงทรงบัญญัติสุภาษิตไว้สอนประชาชน โดยมีสาระคำสอนที่กว้างขวาง ครอบคลุมหลักควรปฏิบัติในด้านต่าง ๆ เช่น การผูกไมตรี การคบคน การวางตัว การหาวิชาความรู้ การรู้รักษาตัวรอด

 

ศัพท์น่ารู้

คดี                    เรื่องราว ในความว่า “เจรจาตามคดี” หมายความว่า พูดตามข้อเท็จจริง

ความแหน          (สิ่งใด) ที่ควรหวงแหน

จับจงมั่น            จับให้ดิ้นไม่หลุด

ถาก                   ทำให้เจ็บใจด้วยการมองด้วยสายตาที่ดูหมิ่นเหยียดหยาม

ทำนุก                ทะนุบำรุง อุดหนุน

ทอด                  วาง ทิ้ง

ทับ                    กระท่อม ที่อยู่

ทำใหญ่              อวดอำนาจ เบ่ง

เถื่อน                 ป่า

ที่สุ้มเสือ            ที่ที่เสือแอบซ่อนอยู่ จงมีความระมัดระวัง

ประหยัด            ระมัดระวัง

ปลูกไมตรี          เพาะความสัมพันธ์

พลอด               ในที่นี้หมายถึง คนพูดจาประจบสอพลอ

มลัก                  เห็น

เมื่อยาก              เมื่อลำบาก

ยัง                     มีชีวิตอยู่ ในความว่า “ลูกเมียยังอย่าสรรเสริญ”

ยุบล                  ข้อความ เรื่องราว

ระบิล                 เรื่อง ความ

ลิ้น                    ในที่นี้หมายถึง คำพูด

เลศ                   แสดงอาการว่ารู้ชั้นเชิง

สะเทิน               กระดากอาย ครึ่ง ๆ กลาง ๆ

สุวาน                 สุนัข

โหด                  ไร้ ไม่มี เปล่า

ออกก้าง             อวดอำนาจ วางอำนาจ

อาตม์                ตน ตัวตน

อำรุง                 บำรุง

 

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

 

 

ผู้แต่ง

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

สาระน่ารู้

สุภาษิตพระร่วงสำนวนอื่น

สุภาษิตพระร่วงสำนวนอื่น ได้แก่ โครงประดิษฐ์พระร่วง (ปรดิดพระร่วง) กาพย์สุภาษิตพระร่วง (สุภาษิตพระร่วงคัมภีร์หนึ่ง) ร่ายสุภาษิตพระร่วง (สุภาษิตพระร่วงคัมภีร์สอง) สุภาษิตพระร่วงคำโลง ร่ายสุภาษิตตัง (สุภาสิทตัง)

สุภาษิตที่น่าสนใจ

สุภาษิตที่น่าสนใจ เช่น อย่าริร่านแก่ความ  เอาแต่ชอบเสียผิด อย่าโดยคำคนพลอด เข็นเรือทอดทางถนน    

แนวทางในการพิจารณาวรรณกรรม

เนื้อเรื่อง

เนื้อหาปลูกฝังคุณธรรมให้ประพฤติตนในทางที่เหมาะสม  มุ่งทำให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

ศิลปะการประพันธ์

- แต่งด้วยร่ายสุภาพ ใช้สัมผัสและเล่นคำให้เกิดความไพเราะ จบด้วยโคลงสองสุภาพ

- ใช้สำนวนที่อ่านง่าย กระชับ กินใจ

ข้อคิด คติคำสอน และความจรรโลงใจ

สอนให้เห็นความสำคัญของการศึกษา รู้จักผูกไมตรีกับผู้อื่น รู้จักวางตัวในสังคม รู้จักเอาตัวรอด และรอบคอบ

การนำไปใช้ในชีวิตจริง

ให้ข้อคิดมากมายที่นำไปปรับใช้  เช่น วัยเรียน สุภาษิตที่เหมาะสม  “เมื่อน้อยให้เรียนวิชา  ให้หาสินเมื่อใหญ่”

 

คำสำคัญ สุภาษิตพระร่วง

 

 

แหล่งที่มา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th