ภาษาไทย ม. 1 บทละครนอก เรื่อง ไกรทอง ตอน ไกรทองตามนางวิมาลากลับไปถ้ำ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 73.8K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

ผังมโนทัศน์การเรียนรู้ บทละครนอก เรื่อง ไกรทอง ตอน ไกรทองตามนางวิมาลา    กลับไปถ้ำ

 

 

นำเรื่อง

         บทละครนอกเรื่อง ไกรทอง ตอน ไกรทองตามนางวิมาลากลับถ้ำ  เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เนื้อหาสะท้อนสภาพสังคมและค่านิยมไทยในอดีต
 

เรื่องย่อ

เนื้อเรื่องเป็นตอนที่ไกรทองต้องตามไปง้อนางวิมาลาที่หนีไปถ้ำบาดาล เพราะถูกตะเภาแก้วตะเภาทองแกล้ง

 

ไกรทอง

 

บทละครนอก เรื่อง ไกรทอง

ตอน ไกรทองตามนางวิมาลากลับไปถ้ำ

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย


เมื่อนางวิมาลาแปลงกายเป็นจระเข้หนีไป ไกรทองก็เสียใจและคุ้มคลั่งเหมือนคนบ้า กินไม่ได้นอนไม่หลับ เห็นเสาก็เดินเข้าไปกอดเพราะคิดว่าเป็นนางวิมาลา  ได้ยินเสียงไก่ขันก็คิดว่านางวิมาลามาเรียก จนภรรยาทั้งสองคิดว่าไกรทองถูกเสน่ห์ยาแฝดจึงพาไปรดน้ำมนต์ ไกรทองได้บอกภรรยาทั้งสองว่า  การที่ไปทำให้นางวิมาลาโกรธจนหนีไปอาจทำให้จระเข้กับมนุษย์เป็นศัตรูกัน ตนจำเป็นต้องไปไกล่เกลี่ยให้นางไม่โกรธเพื่อมนุษย์จะได้อยู่อย่างสุขสบาย แม้นางทั้งสองรู้ทันอุบายของไกรทองแต่ก็อนุญาตให้ไกรทองไปตามนางวิมาลาเพราะถือว่าตนได้ทำบุญ ไกรทองดีใจมาก ก่อนไปจึงสั่งเสียภรรยาว่าจะรีบกลับมา

เมื่อไปถึงถ้ำจระเข้ ไกรทองได้เดินเข้าไปแอบมองนางวิมาลาอยู่หน้าห้อง เห็นนางกอดเข่าร้องไห้ด้วยความแค้น ไกรทองและนางวิมาลาได้ทะเลาะกัน แต่สุดท้ายแล้วไกรทองก็สามารถง้อนางวิมาลาได้สำเร็จและคืนดีกันในที่สุด

 

ศัพท์น่ารู้

กินอยู่ที่ลับ...ไขกลางแจ้ง               (สำนวน) กินที่ลับไขที่แจ้ง เปิดเผยเรื่องที่กระทำในที่ลับให้คนทั่วไปรู้

จังหัน                                        ข้าว อาหาร (ใช้เฉพาะพระสงฆ์)

ทยา                                          ดี สำคัญ

ทารพี                                        ทัพพี

ปัดกบาล                                    คือ ปัดรังควาน เป็นพิธีไล่ผี เพื่อไล่ความวิบัติให้หมดไป

ฝาง                                          ชื่อไม้ชนิดหนึ่ง เนื้อไม้สีแดง ใช้ย้อมผ้า

แพ่งธรรม์                                   แพ่ง คือ แพร่ง หมายถึง ทาง ธรรม์ คือ ความถูกต้อง

                                               หมายถึง ทางที่ถูกที่ควร

มุก                                            เรื่อง

แมวคราว                                    แมวแก่ตัวผู้รูปร่างใหญ่

ยาจนา                                      การขอ

เล่อ                                          เพ้อ แสดงอาการและหน้าตาผิดปกติ บางทีใช้คำว่า เล่อล่า

เสียผี                                        เสียค่าเซ่นไหว้ผี

 

สาระน่ารู้

ตำนานชาละวัน

            ชาละวัน  เป็นจระเข้ที่ตัวใหญ่ ดุร้าย กินคน เชื่อกันว่าอาศัยอยู่ลำน้ำน่านเก่าเมืองพิจิตร มีเรื่องเล่าว่าตากับยายคู่หนึ่งเก็บไข่จระเข้มาจนกระทั่งฟักเป็นตัว จึงเลี้ยงจระเข้ไว้ในสระแต่กลับถูกกินเป็นอาหาร จากนั้นจระเข้ก็ได้ออกไปทำร้ายชาวบ้านไม่เว้นแต่ละวัน จนถูกเรียกว่า “ไอ้ตาละวัน” ต่อมาเพี้ยนเสียงเป็น “ไอ้ชาละวัน”

 

แนวทางในการพิจารณาวรรณกรรม

เนื้อเรื่อง

เนื้อเรื่องสะท้อนความเชื่อในอดีต เช่น การทำเสน่ห์ยาแฝด การรดน้ำมนต์ กล่าวถึงตอนไกรทองง้อนางวิมาลา

ศิลปะการประพันธ์

- ใช้คำในกลอนแบบชาวบ้าน มีบทประชดประชัน เสียดสี  โต้คารมกัน

แทรกสำนวนคำพังเพยให้เข้าใจง่ายขึ้น  เช่น ตีปลาหน้าไซ ถ่านไฟเก่า สาวไส้ให้กากิน

 

ข้อคิด คติคำสอน และความจรรโลงใจ

สมัยก่อนนิยมมีภรรยาหลายคน แต่ปัจจุบันนิยมมีภรรยาคนเดียว ควรรักเดียวใจเดียว เพื่อลดปัญหาสังคม

 

การนำไปใช้ในชีวิตจริง

วิธีที่ดีที่สุดที่จะรักษาชีวิตคู่ คือ การขอโทษและปรับความเข้าใจ

 

คำสำคัญ ไกรทอง, ชาละวัน, ไกรทองตามนางวิมาลากลับถ้ำ

 

 

แหล่งที่มา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th