บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง การเมืองการปกครอง
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 67.6K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้





1. ระบอบการปกครอง
          ระบอบการปกครอง หมายถึง รูปแบบในการดำเนินการปกครองประเทศ แบ่งเป็น 2 แบบ คือ
                    - ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
                    - ระบอบการปกครองแบบเผด็จการ

          การปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นระบอบการปกครองที่ประชาชนมีอำนาจสูงสุด
                    หลักการของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย มีดังนี้
                              1. หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของไทยบัญญัติว่า “ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ”




                              2. หลักสิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิเสรีภาพของมนุษย์ที่เกิดขึ้นจริงเป็นสิทธิเสรีภาพที่กฎหมายกำหนด โดยผู้ที่จะกำหนดกฎหมายดังกล่าวคือประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของไทยบัญญัติว่า “การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กรต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”




                              3. หลักนิติธรรม มีหลัก 4 ประการ ได้แก่ อำนาจตามกฎหมาย ทุกคนเสมอภาคกันตามกฎหมาย ทุกคนที่ถูกกล่าวโทษจะต้องได้รับการพิจารณาไต่สวนตามกฎหมาย และตุลาการและศาลต้องมีฐานะเป็นอิสระจากอำนาจของฝ่ายบริหาร
                    รูปแบบของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย จำแนกได้ตามหลักการจัดศูนย์กลางแห่งอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งรูปแบบของการมีส่วนร่วมของประชาชนมี 2 แบบ คือ
                              1. ระบอบประชาธิปไตยแบบทางตรง คือ ระบบที่ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรง
                              2. ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน คือ ระบบที่เลือกตัวแทนของประชาชนเข้าสู่รัฐสภาเพื่อทำหน้าที่แทน มี 3 รูปแบบ ดังนี้
                                        รูปแบบรัฐสภา อาจมีเฉพาะสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียวหรือ 2 สภา มีทั้งที่มาจากการเลือกตั้งและจากการแต่งตั้ง ซึ่งระบบรัฐสภาจะมีการตรวจสอบควบคุมอำนาจกันและกัน เพื่อความโปร่งใส
                                        รูปแบบประธานาธิบดี ผู้ใช้อำนาจบริหารคือประธานาธิบดี โดยประธานาธิบดีจะแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ซึ่งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการต่างเป็นอิสระและถ่วงดุลกัน
                                        รูปแบบผสมผสานกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี ประธานาธิบดีจะทำหน้าที่เป็นทั้งประมุขของรัฐและผู้บริหารราชการแผ่นดินร่วมกับนายกรัฐมนตรี

          การปกครองแบบเผด็จการ
                    ระบอบการปกครองแบบเผด็จการ เป็นระบอบการปกครองที่ให้ความสำคัญกับผู้ปกครองหรือรัฐบาลมากกว่าเสรีภาพของประชาชน และประชาชนต้องปฏิบัติตามคำสั่งหรือนโยบายอย่างเคร่งครัด โดยมีหลักการคือ การใช้กำลัง ซึ่งแนวคิดเบื้องต้นของระบอบการปกครองแบบเผด็จการมีดังนี้
                              1. เผด็จการในแนวคิดทางการเมือง มีแนวคิดว่ารัฐเป็นเสมือนผู้ที่พร้อมด้วยคุณธรรม โดยมีผู้นำเพียงคนเดียว หรือเป็นกลุ่มบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งถ้าไม่ทำตามจะถือว่ามีความผิด
                              2. เผด็จการในรูปแบบทางการปกครอง เป็นการรวมอำนาจทางการปกครองเพื่อแสวงหาหรือยึดอำนาจรัฐ โดยใช้วิธีที่รุนแรง และออกกฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชน
                              3. เผด็จการในการดำเนินชีวิต ซึ่งผู้ที่ด้อยกว่าจึงต้องปฏิบัติตามผู้ที่เหนือกว่า
                    รูปแบบของระบอบการปกครองแบบเผด็จการ แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ
                              1. เผด็จการอำนาจนิยม รัฐจะให้สิทธิเสรีภาพในทางเศรษฐกิจและสังคมพอสมควร แต่จะลงโทษผู้กระทำผิดอย่างรุนแรง และการใช้อำนาจของผู้นำจะมีเฉพาะกลุ่มแคบ ๆ




                              2. เผด็จการเบ็ดเสร็จ ผู้นำจะเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดและใช้อำนาจเด็ดขาดเพียงผู้เดียว โดยทุกอย่างจะอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ และปลูกฝังค่านิยมให้เยาวชนยึดมั่นตามแนวคิดของผู้นำ ซึ่งต้นแบบของเผด็จการเบ็ดเสร็จนิยมที่เห็นได้ชัดเจน ได้แก่ ระบบเผด็จการนาซี ระบบเผด็จการฟาสซิสต์ และ ระบบเผด็จการคอมมิวนิสต์




                    ความแตกต่างของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยกับระบอบการปกครองแบบเผด็จการ สรุปได้ดังนี้
                              1. อำนาจสูงสุดในการปกครอง การปกครองระบอบประชาธิปไตย อำนาจสูงสุดจะเป็นของประชาชน แต่ การปกครองแบบเผด็จการอำนาจจะอยู่ที่คนกลุ่มเดียว หรือ ผู้นำ
                              2. สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค ระบอบประชาธิปไตย ประชาชนจะมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน แต่ระบอบการปกครองแบบเผด็จการให้ความสำคัญกับคนกลุ่มเดียว หรือ ผู้นำ
                              3. นโยบายและการดำเนินการของรัฐบาล รัฐบาลในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยจะเป็นผู้กำหนดนโยบายและการดำเนินการเพื่อประชาชน แต่ระบอบการปกครองเผด็จการจะคำนึงถึงความมั่นคงและประโยชน์ของประเทศ
                              4. การบริหารประเทศ ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยประชาชนเปลี่ยนคณะรัฐบาลได้ด้วยการเลือกตั้ง แต่ประชาชนในระบอบการปกครองแบบเผด็จการมีสิทธิเลือกตั้งพรรคหรือกลุ่มรัฐกำหนดให้
          รูปแบบของรัฐ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดให้ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว ซึ่งต่างจากรัฐรวมที่แบ่งแยกอำนาจต่างๆ ไปให้มลรัฐ
          รูปแบบการปกครอง ไทยมีรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

          อำนาจอธิปไตย เป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ รัฐธรรมนูญกำหนดให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย
          อำนาจนิติบัญญัติหรือสถาบันนิติบัญญัติ ทำหน้าที่ออกกฎหมาย คือรัฐสภา ซึ่งมีรูปแบบเป็นสภาคู่ คือ
                    สภาผู้แทนราษฎร มีสมาชิก 500 คน มีอำนาจหน้าที่ในการออกกฎหมาย
                    วุฒิสภา มีสมาชิก 150 คน มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณากลั่นกรองพระราชบัญญัติโดยไม่ผูกพันกับฝ่าย รัฐบาล และแต่งตั้งหรือถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และยังมีหน้าที่ต้องกระทำร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา
          อำนาจบริหาร หรือ สถาบันบริหาร
                    องค์ประกอบของสถาบันบริหาร ประกอบด้วย
                              ข้าราชการการเมือง เป็นผู้บัญชาการสูงสุดของข้าราชการประจำ
                              ข้าราชการประจำ เป็นบุคลากรที่นำนโยบายและกฎหมายไปปฏิบัติตามสายการบังคับบัญชา
                    การบริหารราชการแผ่นดิน แบ่งเป็น 3 ส่วน ดังนี้




                               การบริหารราชการส่วนกลาง หมายถึง การบริหารราชการของนายกรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม และ หน่วยงานที่มีฐานะเทียบเท่ากรม




                               การบริหารราชการส่วนภูมิภาค หมายถึง การที่ราชการส่วนกลางแบ่งอำนาจการบริหารบางส่วนให้ข้าราชการในส่วนภูมิภาค ส่งผลให้ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ต่าง ๆ สามารถแก้ไขปัญหาและริเริ่มนโยบายต่าง ๆ ตามกรอบและอำนาจที่ได้รับ




                               การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น หมายถึง การบริหารราชการที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยการปกครองท้องถิ่น มี 2 ประเภท คือ
                                         รูปแบบทั่วไป ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด




                                         รูปแบบพิเศษ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา




          อำนาจตุลาการ หมายถึง ศาลและผู้พิพากษาหรือตุลาการที่ปฏิบัติหน้าที่ในศาล ซึ่งอำนาจตุลาการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมีสาระสำคัญ 2 ประการ คือ
                    อำนาจตุลาการในระบอบประชาธิปไตย
                              ศาล มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ได้แก่
                                        ศาลรัฐธรรมนูญ
                                        ศาลยุติธรรม มี 3 ศาล คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และ ศาลฎีกา
                                        ศาลปกครอง
                                        ศาลทหาร

2. การปกครองของประเทศที่คล้ายคลึงและแตกต่างกับไทย
          ประเทศที่มีการปกครองคล้ายคลึงกับไทย ได้แก่
                    ประเทศสหราชอาณาจักร




                              1. รูปแบบของรัฐ สหราชอาณาจักรเป็นรัฐเดี่ยว
                              2. รูปแบบการปกครอง ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
                              3. อำนาจอธิปไตย รัฐสภาของอังกฤษมีอำนาจในการตราหรือยกเลิกพระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติที่รัฐสภาตราขึ้นถือเป็นกฎหมายสูงสุด ศาลไม่มีอำนาจพิพากษาว่าเป็นโมฆะ ทำได้เพียงตีความกฎหมายที่เป็นพระราชบัญญัติ และอำนาจอธิปไตยของสหราชอาณาจักรแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และ อำนาจตุลาการ




                     ประเทศญี่ปุ่น
                              1. รูปแบบของรัฐ ญี่ปุ่นมีสถานะเป็นรัฐเดี่ยว
                              2. รูปแบบการปกครอง ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยโดยมีสมเด็จพระจักรพรรดิเป็นประมุข
                              3. อำนาจอธิปไตย แบ่งเป็น อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และ อำนาจตุลาการ

        ประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแตกต่างกับไทย




                    ประเทศสหรัฐอเมริกา




                              1. รูปแบบของรัฐ สหรัฐอเมริกามีการปกครองแบบรัฐรวมที่เป็นสหพันธรัฐ
                              2. รูปแบบการปกครอง ปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบประธานาธิบดี
                              3. อำนาจอธิปไตย แบ่งเป็น อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และ อำนาจตุลาการ




                    ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี
                              1. รูปแบบของรัฐ สาธารณรัฐเกาหลีหรือเกาหลีใต้มีการปกครองแบบรัฐเดี่ยว
                              2. รูปแบบการปกครอง ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยโดยมีประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนเป็นประมุข
                              3. อำนาจอธิปไตย แบ่งเป็น อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และ อำนาจตุลาการ

       การพัฒนาประชาธิปไตยของไทย
          ปัญหาและอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของไทย ไทยมีรัฐธรรมนูญมากถึง 19 ฉบับ (ฉบับที่ 19 เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557) เพราะพัฒนาการทางการเมืองของประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งประเด็นปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญได้แก่
                    1. ปัญหาวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย การตัดสินใจทางการเมืองของไทยจะขึ้นอยู่กับภาครัฐ ทำให้การพัฒนาประชาธิปไตยที่ผ่านมาไม่ก้าวหน้า
                    2. ปัญหาการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน เพราะ ประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจในสิทธิและบทบาทหน้าที่ ขาดจิตสำนึก และมองว่าการเข้าไปมีส่วนร่วมไม่ทำให้ตนเองได้ผลประโยชน์

          แนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของไทย มีดังนี้
                    1. ด้านวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย
                              - ควรสนับสนุนให้มีโครงการพัฒนาการเรียนรู้ทางการเมืองภายในโรงเรียน
                              - สนับสนุนให้มีการสร้างกระบวนการเรียนรู้วิธีปฏิบัติประชาธิปไตย
                              - สภาพัฒนาการเมืองควรผลักดันให้หลักสูตรการเรียนรู้วัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย
                              - พรรคการเมืองควรจัดกิจกรรมทางการเมืองเสมอ
                              - การให้กองทุนพัฒนาการเมืองจัดสรรเงินเพื่อสนับสนุนกิจกรรมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย
                              - จัดทำหลักสูตรการเรียนรู้วัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย
                    2. ด้านการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน
                              ควรให้ประชาชนในพื้นที่ทราบถึงรายละเอียดของโครงการ ตลอดจนผลกระทบ
                              ปรึกษาหารือระหว่างผู้ดำเนินโครงการกับประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย
                              การประชุมรับฟังความคิดเห็น ได้แก่ การประชุมในระดับชุมชน และ การประชุมรับฟังความคิดเห็นทางวิชาการ
                              การร่วมตัดสินใจ
                              การใช้กลไกทางกฎหมาย ประชาชนเรียกร้องสิทธิหรือการใช้สิทธิได้เมื่อเห็นว่าเกิดความไม่เป็นธรรม
                              การกดดันรัฐบาล

3. รัฐธรรมนูญ
          การเลือกตั้ง
                    ความหมายของการเลือกตั้ง หมายถึง การที่ราษฎรใช้สิทธิของตนลงคะแนนเสียงเลือกผู้แทนเพื่อทำหน้าที่แทนตนในการปกครองแต่ละระดับของประเทศ ปัจจุบันการเลือกตั้งในประเทศไทยแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ
                              1. การเลือกตั้งระดับท้องถิ่น เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น
                              2. การเลือกตั้งระดับชาติ เป็นการเลือกตั้งผู้แทนของประชาชนเข้าไปเป็นสมาชิกรัฐสภา
                    หลักการของการเลือกตั้ง มีดังนี้
ิ                              1. หลักการเลือกตั้งอิสระ
                              2. หลักการเลือกตั้งตามกำหนดเวลา ต้องมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุก 4 ปี
                              3. หลักการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม
                              4. หลักการเลือกตั้งอย่างเสมอภาค ทุกคนมีสิทธิลงคะแนนเสียงได้คนละ 1 เสียงเท่ากัน
                              5. หลักการออกเสียงทั่วไป ทุกคนมีสิทธิออกเสียง เว้นแต่มีข้อจำกัดซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป
                              6. หลักการลงคะแนนอย่างสะดวก
          คณะกรรมการการเลือกตั้ง มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
                    - ควบคุมและดำเนินการจัดการเลือกตั้งและออกเสียง
                    - ออกประกาศหรือวางระเบียบที่จำเป็น
                    - วางระเบียบ ข้อห้ามในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีรักษาการ
                    - กำหนดมาตรฐานและควบคุมเกี่ยวกับการเงินของพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้ง
                    - มีคำสั่งให้บุคลากรของรัฐปฏิบัติการตามที่กฎหมายให้อำนาจ
                    - สืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการเลือกตั้ง
                    - สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือออกเสียงประชามติใหม่ หากพบว่ามีการทุจริต
                    - ประกาศผลการเลือกตั้ง ผลการสรรหา และผลการออกเสียง
                    - ส่งเสริมและสนับสนุนหรือประสานงานกับหน่วยงานฝ่ายรัฐ และ องค์กรเอกชน
          การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา
                    1. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการเลือกตั้งแบบผสม คือ มีการเลือกตั้ง 2 แบบ ได้แก่
                              ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
                              ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ
                    2. การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีดังนี้
                              มีสัญชาติไทย หากแปลงสัญชาติต้องไม่น้อยกว่า 5 ปี
                              อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์
                              มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้ง ไม่น้อยกว่า 90 วัน
                              ไม่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง
         การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น การปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยมีผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนดังรายละเอียดต่อไปนี้
                   1. การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด จะใช้เขตพื้นที่จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง จะแบ่งเขตเลือกตั้งเท่ากับจำนวนสมาชิก อบจ.ที่มีในอำเภอนั้น ซึ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกสมาชิกสภา อบจ. ได้ 1 คน
                   2. การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตำบลแบ่งเป็น 2 เขตเลือกตั้ง ส่วนเทศบาลเมืองแบ่งเป็น 3 เขตเลือกตั้ง และ เทศบาลนครแบ่งเป็น 4 เขตเลือกตั้ง แต่ละเขตมีนายกเทศมนตรีได้ 1 คน
                   3. การเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและนายกองค์การบริหารส่วนตำบล จะใช้หมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องลงคะแนนให้ผู้สมัครเท่ากับจำนวนสมาชิกที่พึงมีได้ในเขตนั้น เลือกได้ตำบลละ 1 คน
                   4. การเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กำหนดให้เขตปกครองเป็นเขตเลือกตั้งตามเกณฑ์จำนวนราษฎร 100,000 คน หากเกิน 150,000 คน ให้เพิ่มได้อีก 1เขต ส่วนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะมีเขตกรุงเทพมหานครเป็นเขตเลือกตั้งเลือกได้เพียง 1 คน
                   5. การเลือกตั้งสมาชิกสภาเมืองพัทยาและนายกเมืองพัทยา กำหนดให้มีการแบ่งเขตเมืองพัทยาออกเป็น 4 เขตเลือกตั้ง แต่ละเขตมีสมาชิกเมืองพัทยาได้เขตละ 6 คน การเลือกตั้งนายกเมืองพัทยาจะใช้เขตเมืองพัทยาเป็นเขตเลือกตั้ง โดยเลือกได้ 1 คน
          การมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครอง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรม 2 ประเภท ดังนี้
                    1. การมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน ได้แก่
                               การเสนอกฎหมาย ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภา
                               การถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 20,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภา
                               การออกเสียงประชามติ กรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่าเรื่องใดอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือประชาชน
                    2. การมีส่วนร่วมของประชาชนตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ประชาชนต้องได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากรัฐตามแนวนโยบายพื้นฐาน ดังนี้
                              - การกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาประเทศ
                              - การตัดสินใจทางการเมือง
                              - การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
                              - การรวมตัวกันของกลุ่มประชาชน
                              - การใช้สิทธิเลือกตั้ง

          การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในเรื่องต่อไปนี้
                    การตรวจสอบทรัพย์สิน โดยมีขั้นตอนดังนี้
                              1. การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
                              2. การกำหนดเวลาในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
                              3. การเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
                              4. กรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ้นจากตำแหน่งหรือตาย
                              5. กรณีไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินหรือยื่นแต่เป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริง
          การขัดกันแห่งผลประโยชน์ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีเจตนารมณ์จะป้องกันไม่ให้รัฐเสียหายหรือเกิดการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบระหว่างปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาโดยมีข้อห้าม 5 ประการ ดังนี้
                             1. การกระทำต้องห้ามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกต้องไม่ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับรัฐ และ ต้องไม่เป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นสื่อต่าง ทั้งในนามของตนเองหรือให้ผู้อื่นเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นแทน
                             2. ข้อห้ามไม่ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาแทรกแซงการปฏิบัติราชการและกระบวนการบริหารงานบุคคลของหน่วยงานรัฐ
                             3. การกระทำต้องห้ามของรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งในองค์การที่ดำเนินธุรกิจ โดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกันไม่ได้ และ เป็นลูกจ้างไม่ได้
                             4. ข้อห้ามไม่ให้รัฐมนตรีแทรกแซงการปฏิบัติราชการและกระบวนการบริหารงานบุคคลภาครัฐ
                             5. การเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทของรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท
          การถอดถอนออกจากตำแหน่ง เป็นวิธีที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามที่กฎหมายกำหนด โดยมอบหมายให้วุฒิสภามีอำนาจดำเนินการถอดถอนผู้ที่มีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ และ กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือ ใช้อำนาจในทางที่ผิด
                    วิธีการดำเนินการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง มีดังนี้
                              1. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาของแต่ละสภาจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 20,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภา
                              2. หลังจากประธานวุฒิสภาได้รับคำร้อง ให้ดำเนินการตรวจสอบและส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไต่สวน
                              3. หลังจากไต่สวนเสร็จ ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทำรายงานเสนอต่อวุฒิสภา กรณีที่มีมติว่าข้อมูลดังกล่าวมีมูล ให้ผู้ดำรงตำแหน่งที่ถูกกล่าวหายุติการปฏิบัติหน้าที่ก่อน และให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติส่งเรื่องให้ประธานวุฒิสภาพิจารณา และส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินการ
                              4. ให้ถือมติของที่ประชุมวุฒิสภาไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด โดยวิธีลงคะแนนลับ มติดังกล่าวถือเป็นที่สุดและให้บุคคลพ้นจากตำแหน่ง และตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี

          การดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีกระบวนการดังนี้
                    1. ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่จะถูกดำเนินคดีอาญา ได้แก่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และตำแหน่งข้าราชการทางการเมือง ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมี 5 ประเภทตามตำแหน่งทางการเมืองดังกล่าว และยังใช้บังคับกรณีที่บุคคลเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน หรือบุคคลที่ทำให้เกิดการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่
                    2. ฐานความผิดที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะถูกดำเนินคดีอาญา มี 3 ฐานความผิด คือ การร่ำรวยผิดปกติ การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา การกระทำผิดต่อหน้าที่หรือทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ตามกฎหมายอื่น
                    3. ผู้พิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นผู้พิจารณาพิพากษา
                    4. ผู้ดำเนินคดีอาญาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องดำเนินการผ่านคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) แต่หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. กระทำความผิดเอง ประธานวุฒิสภาจะส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นผู้พิจารณา

รัฐบาล
          อำนาจหน้าที่ของรัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน ได้แก่
                    1. กำหนดนโยบายและบริหารราชการแผ่นดิน
                    2. ออกกฎหมายที่จำเป็นในการบริหารประเทศ
                    3. ประกาศสงคราม ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
                    4. ทำหนังสือสัญญาต่าง ๆ
          บทบาทสำคัญของรัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน ได้แก่
                    1. กำหนดนโยบายและบริหารประเทศให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนดไว้
                    2. ริเริ่มเสนอกฎหมายมาใช้ปกครองประเทศ
                    3. ประสานงานราชการ เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสัมพันธ์กัน
                    4. แก้ปัญหาของประเทศ
                    5. รักษาความมั่นคงและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของประเทศ
                    6. ให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน
                    7. ดำเนินกิจการด้านการพาณิชย์ เพราะกิจการบางอย่างถ้าให้เอกชนดำเนินการอาจมีข้อขัดข้อง

          ความจำเป็นในการมีรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลเป็นองค์ประกอบหนึ่งช่วยบริหารประเทศให้การบริการแก่ประชาชน และป้องกันการรุกรานจากภายนอก
 



 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th