บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง วัฒนธรรม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 64.5K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

 

วัฒนธรรม 

 

 

ความคล้ายคลึงและความแตกต่างทางวัฒนธรรมของไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชีย
1. วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประกอบด้วยประเทศต่าง ๆ จำนวน 11 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไนดารุสซาราม เวียดนาม ลาว กัมพูชา พม่า และติมอร์–เลสเต ตัวอย่างวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ วัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมที่จะศึกษาในที่นี้ประกอบด้วย การแต่งกาย ภาษา ความเชื่อ และอาหาร

การแต่งกาย
ปัจจุบันคนไทยนิยมแต่งกายตามสมัยนิยมแบบชาวตะวันตก แต่ยังมีสิ่งที่แสดงถึงความเป็นไทย เช่น ผ้าถุง ผ้าซิ่น การแต่งกายแบบสตรีไทยได้รับความนิยมอีกครั้งเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการศึกษาค้นคว้าเครื่องแต่งกายในสมัยต่าง ๆ และให้ปรับปรุงให้เหมาะกับยุคสมัย จนกระทั่งแต่งกายประจำชาติของสตรีไทย เรียกว่า “ชุดไทยพระราชนิยม” มักใช้ผ้าไหมและผ้าซิ่นในการตัดเย็บ มีชื่อชุดและโอกาสสำหรับใส่ต่าง ๆ กัน ได้แก่ ไทยเรือนต้น ไทยจิตรลดา ไทยอมรินทร์ ไทยบรมพิมาน ไทยจักรี ไทยดุสิต ไทยจักรพรรดิ และไทยศิวาลัย สำหรับชายไทยเรียกว่า ชุดไทยพระราชทาน ใช้คู่กับกางเกงแบบสากลนิยม สีสุภาพหรือสีเดียวกับเสื้อ โดยให้ใช้แทนชุดสากลนิยมหรือใช้เพิ่มเติมจากชุดสากลนิยมได้ทุกโอกาส แต่ไม่ได้ใช้แทนชุดสากลนิยม

 

 

ชุดไทยพระราชทาน

 

 

ชุดไทยพระราชนิยม

 

 

ภาษา

ภาษาไทยเป็นภาษาในตระกูลไท–ไต จัดอยู่ในกลุ่มภาษาคำโดด มีวรรณยุกต์ช่วยในการออกเสียง แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ ภาษากลาง เป็นภาษาที่ใช้ในการปกครอง กฎหมาย เอกสารต่าง ๆ ของรัฐ และในสื่อสารมวลชน และ ภาษาถิ่น เป็นภาษาไทยที่แบ่งตามการพูดของคนแต่ละท้องถิ่น มี4 กลุ่ม คือภาษาถิ่นภาคเหนือ (ภาษาล้านนา) ภาษาถิ่นภาคกลาง (ภาษาถิ่นกลาง) ภาษาถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาษาอีสาน) และภาษาถิ่นใต้ (ภาษาปักษ์ใต้)
ความเชื่อ
ความเชื่อของไทย ได้แก่
1) ความเชื่อเรื่องผีสางเทวดา แฝงอยู่ในขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ
2) การนับถือบรรพบุรุษ
3) ความเชื่อเรื่องข้าว ดังที่มีประเพณีเกี่ยวกับข้าว เช่น พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ การบูชาแม่โพสพ และประเพณีบุญข้าวขึ้นเล้า เป็นต้น
4) ความเชื่อเรื่องโลก จักรวาล และกำเนิดของคนและสัตว์ เช่น เชื่อว่าแถนหรือผีฟ้าเป็นผู้สร้างทุกสิ่งทุกอย่าง
5) การนับถือพระพุทธศาสนา ส่งผลต่อการเมือง การปกครอง ภาษา ศิลปะ และวรรณคดี และยังมีการนับถือศาสนาอื่น ๆ เช่น ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ และศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่ผสมผสานกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ดังจะเห็นได้จากพิธีกรรมต่าง ๆ

 

 

การทำบุญตักบาตร

 

 

อาหาร
อาหารหลักของคนไทย คือ ข้าวและกับข้าวซึ่งส่วนใหญ่มีรสจัด นิยมใช้เครื่องเทศและกะทิเป็นส่วนประกอบ อาหารไทยจำแนกตามภูมิภาคได้ดังนี้
ภาคเหนือ ได้แก่ ข้าวเหนียว น้ำพริก และแกง ส่วนใหญ่มีรสชาติกลาง ๆ รสเค็มนำเล็กน้อย ไม่นิยมอาหารที่มีรสเปรี้ยวและหวาน
ภาคกลาง ได้แก่ ข้าวสวย น้ำพริกและแกง ส่วนใหญ่มีรสกลมกล่อมหรือหวานนำเล็กน้อย

 

 

อาหารไทยภาคกลางชนิดต่าง ๆ

 

 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ข้าวเหนียว และอาหารอื่น ๆ ที่มีรสจัด เช่น ลาบ ส้มตำ
ภาคใต้ ได้แก่ ข้าวสวย แกงชนิดต่าง ๆ ผักสดพื้นเมือง และอาหารทะเล ส่วนใหญ่มีรสเผ็ดมากกว่าภาคอื่น ๆ

 

2. วัฒนธรรมเอเชียตะวันออก
เอเชียตะวันออกประกอบด้วย 6 ประเทศ ได้แก่ จีน มองโกเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ และไต้หวัน (ส่วนหนึ่งของจีน) ตัวอย่างวัฒนธรรมเอเชียตะวันออก ได้แก่ วัฒนธรรมญี่ปุ่น วัฒนธรรมเกาหลี และวัฒนธรรมจีน


วัฒนธรรมญี่ปุ่น
    ด้านการแต่งกาย ชาวญี่ปุ่นมีชุดประจำชาติซึ่งใช้กันมานับพันปี เรียกว่า “กิโมโน” ปัจจุบันชาวญี่ปุ่นแต่งกายแบบชาวตะวันตกมากขึ้น แต่ยังคงแต่งกิโมโนในพิธีการสำคัญ บางคนก็ผสมผสานการแต่งกายในปัจจุบันให้เข้ากับกิโมโน

 

 

ชุดกิโมโน

 

 

     ด้านภาษา ภาษาประจำชาติและภาษาราชการของญี่ปุ่น คือ ภาษาญี่ปุ่น ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากภาษาจีน ตัวอักษรญี่ปุ่นแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มตัวอักษรที่ใช้แทนเสียง และตัวอักษรที่ใช้แทนความหมายซึ่งมีอยู่จำนวนมาก รัฐจึงกำหนดให้อักษรกลุ่มนี้ทั้งหมด 1,945 ตัว เป็นอักษรที่คนญี่ปุ่นทราบกันดี ไม่ต้องเขียนคำอ่านกำกับ
     ด้านความเชื่อ ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่นับถือศาสนาชินโตและศาสนาพุทธ (นิกายดินแดนบริสุทธิ์นิกายเซ็น และนิกายนิชิเร็น)
     ด้านอาหาร ได้แก่ อาหารจำพวกถั่ว อาหารทะเล และผัก มีวิธีการปรุงที่หลากหลาย และมีความพิถีพิถันเรื่องการเลือกวัตถุดิบ วัฒนธรรมด้านอาหารของญี่ปุ่นคล้ายคลึงกับไทยในในเรื่องการรับประทานข้าวและการตกแต่งอาหารให้สวยงาม แต่อาหารไทยมักใช้วิธีแกะสลัก ขณะที่อาหารญี่ปุ่นเน้นการจัดวาง

 

 

ซูชิ

 


วัฒนธรรมเกาหลี
     ด้านการแต่งกาย ประเทศเกาหลีมีชุดประจำชาติเรียกว่า “ฮันบก” ปัจจุบันจะใช้เฉพาะเวลาออกงานสำคัญ

 

 

การแต่งกายของชาวเกาหลี

 

 

     ด้านภาษา ภาษาประจำชาติของเกาหลี คือ ภาษาเกาหลี ตัวอักษรเกาหลีเรียกว่า “ฮันกึล” ประกอบด้วยสระ 10 ตัว และพยัญชนะ 14 ตัว มีการยืมคำศัพท์จากภาษาจีนมาใช้ในการเขียน
     ด้านความเชื่อ ชาวเกาหลีมีการนับถือศาสนาอย่างหลากหลาย เช่น พระพุทธศาสนา ศาสนาคริสต์ ลัทธิขงจื๊อ และศาสนาย่อย ๆ ที่เกิดจากการผสมผสานความเชื่อดั้งเดิมกับแนวคิดใหม่
     ด้านอาหาร ชาวเกาหลีนิยมรับประทานข้าวเป็นอาหารหลักควบคู่กับอาหารอื่น ๆ เช่น น้ำแกงหรือน้ำซุป เต้าหู้ และกิมจิ โดยใช้เครื่องปรุงในท้องถิ่น และมักรับประทานอาหารที่มีสรรพคุณยา เช่น โสม นอกจากนี้จำนวนอาหารบนโต๊ะของชาวเกาหลียังแสดงถึงฐานะได้อีกด้วย

 

 

อาหารเกาหลีชนิดต่าง ๆ

 

 

วัฒนธรรมจีน
     ด้านการแต่งกาย การแต่งกายของจีน เป็นการผสมผสานระหว่างรูปแบบของชนกลุ่มน้อยในประเทศ และจากชาวต่างชาติ ในสมัยปฏิวัติราชวงศ์ชิง เครื่องแต่งกายของจีนก็เปลี่ยนแปลงไปตามอิทธิพลของชาวตะวันตก แต่ยังคงมีชุดที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น “กี่เพ้า” ซึ่งเดิมเป็นเครื่องแต่งกายของสตรีแมนจูในราชวงศ์ชิง ขณะที่ชาวเผ่าต่าง ๆ จะมีเครื่องแต่งกายที่ต่างกันตามพื้นที่

 

 

ชุดกี่เพ้า

 

 

     ด้านภาษา ภาษามาตรฐานของจีน คือ ภาษาจีนกลาง ซึ่งเป็นภาษาของชาวฮั่น นอกจากนี้ยังมีภาษาในแต่ละท้องถิ่น เช่น ภาษาแคะ ภาษาอู๋ ภาษาเย่ว์ ภาษาก้าน และภาษาเหนือ (ใช้มากที่สุด) แต่ละภาษามีลักษณะแตกต่างกันในด้านสำเนียง การใช้ศัพท์ และไวยากรณ์
     ด้านความเชื่อ ประเทศจีนเป็นต้นกำเนิดของ ลัทธิเต๋า และลัทธิขงจื๊อ สำหรับพระพุทธศาสนา จีนรับมาจากอินเดียเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 1 และได้ผสมผสานกับลัทธิเดิม เมื่อถึงยุคคอมมิวนิสต์ ศาสนาต่าง ๆ ก็เสื่อมลง แต่ปัจจุบันได้มีการผ่อนปรน ทำให้ศาสนาเดิมกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง และมีการนับถือศาสนาอื่น ๆ เช่น ศาสนาคริสต์และอิสลาม
     ด้านอาหาร วัฒนธรรมด้านอาหารของจีนมีส่วนคล้ายคลึงกับไทยมาก ชาวจีนนิยมรับประทานข้าวเป็นอาหารหลักร่วมกับอาหารชนิดอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เน้นพืชผัก ธัญพืช สมุนไพร เนื้อสัตว์จำพวกหมู ไก่ และอาหารทะเล การปรุงมักจะเน้นวิธีผัดด้วยไฟแรง ซึ่งช่วยให้อาหารคงคุณค่าและความสดกรอบไว้ได้ อาหารจีนมีความหลากหลายไปตามภูมิภาค เช่น อาหารซันตง เป็นอาหารพื้นเมืองทางภาคเหนือแถบเป่ยจิงและซันตง อาหารมีลักษณะสดและนุ่ม นิยมปรุงด้วยการเคี่ยวน้ำซุป รสชาตินุ่มนวล ไม่เผ็ด เค็ม หวาน หรือขมจัด อาหารเจียงซู เป็นอาหารทางภาคตะวันออก แถบซ่างไห่ เจียงจู และเจ๋อเจียง นิยมปรุงด้วยการต้ม นึ่ง หรือตุ๋น รสชาติมัน เลี่ยน และเค็มเล็กน้อย วัตถุดิบส่วนใหญ่เป็นอาหารทะเล อาหารกวางตุ้ง เป็นอาหารของมณฑลกวางตุ้งทางภาคใต้ นิยมปรุงด้วยการต้ม ย่าง เคี่ยว และอบ รสชาติจืดและหวานเล็กน้อย เน้นการตกแต่ง และ อาหารเสฉวน อยู่ทางภาคตะวันตกแถบเมืองเฉินตู มีรสจัดและเค็ม นิยมปรุงด้วยวิธีการนึ่งและทอด พร้อมทั้งใช้เครื่องเทศที่มีรสเผ็ด

 

 

อาหารจีนทั่ว ๆ ไป

 

 

อาหารชุดโต๊ะจีน

 

 

3. วัฒนธรรมเอเชียใต้
เอเชียใต้ประกอบด้วย 7 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน เนปาล บังกลาเทศ ศรีลังกา ภูฏาน และมัลดีฟส์ ตัวอย่างวัฒนธรรมในภูมิภาคนี้ ได้แก่ วัฒนธรรมอินเดีย


วัฒนธรรมอินเดีย

     ด้านการแต่งกาย ชาวอินเดียได้รับวัฒนธรรมอาหรับเข้ามาผสมผสานกับการแต่งกายเดิม สตรีอินเดียมีชุดแต่งกายประจำชาติ เรียกว่า “ส่าหรี” ตัวผ้ามีการทอยกดิ้นทองหรือเงิน เช่น ผ้าดอกจากเมืองพาราณสีทางภาคเหนือ การนุ่งส่าหรีจะต้องพันตัว 1 รอบ แล้วนำผ้าฝ้ายมาพับจีบด้านหน้าบางส่วน แล้วตวัดผ้าที่เหลือคลุมไหล่ เหลือชายผ้าทิ้งไปด้านหลัง

 

 

ชุดส่าหรี

 

 

     ด้านภาษา อินเดียมีภาษาทางการ 18 ภาษา แต่ละภาษามีอักษรของตนเอง ภาษาที่ใช้มาก ได้แก่ ฮินดี ซึ่งเป็นภาษาราชการ คู่กับภาษาอังกฤษ ภาษาของอินเดียที่มีความคล้ายคลึงกับภาษาไทย ได้แก่ ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต เนื่องจากเป็นสื่อกลางในการเผยแผ่ศาสนาพราหมณ์และพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ไทยยังรับศิลปวัฒนธรรมแขนงอื่น ๆ จากอินเดียอีกด้วย
     ด้านความเชื่อ ประเทศอินเดียเป็นต้นกำเนิดของศาสนาสำคัญ เช่น ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู พระพุทธศาสนา และศาสนาเชน ชาวอินเดียมีส่วนใหญ่นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู รองลงมาคืออิสลาม และศาสนาอื่น ๆ เช่น ศาสนาคริสต์ ศาสนาพุทธ และศาสนาเชน
     ด้านอาหาร ชาวอินเดียนิยมรับประทานข้าวและแผ่นแป้งที่ทอดจนสุก เรียกว่า “โรตี” และเนื้อไก่ เนื้อแพะ ปรุงด้วยเครื่องเทศ อาหารในแต่ละภาคมีลักษณะเฉพาะ เช่น ภาคใต้มีรสจัดและใช้กะทิเป็นส่วนประกอบ ขณะที่ภาคเหนือใช้เนย เป็นต้น

 

 

อาหารอินเดีย

 

 


4. วัฒนธรรมเอเชียตะวันตกเฉียงใต้
เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ประกอบด้วย 16 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน ตุรกี อัฟกานิสถาน เยเมน อิรัก โอมาน ซีเรีย จอร์แดน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิสราเอล คูเวต กาตาร์ เลบานอน ไซปรัส และบาห์เรน ตัวอย่างวัฒนธรรมที่จะศึกษา คือ วัฒนธรรมซาอุดีอาระเบีย


วัฒนธรรมซาอุดีอาระเบีย
     ด้านการแต่งกาย ชาวซาอุดีอาระเบียแต่งด้วยเสื้อผ้าหลวม ปกปิดมิดชิด โดยผู้ชายจะใส่ชุดสีขาว เรียกว่า “โต๊ป” (Thobe) สำหรับผู้หญิง หากต้องปรากฏตัวต่อคนนอกครอบครัวหรือในที่สาธารณะจะต้องสวมเสื้อคลุมสีดำที่เรียกว่า “อาบายะห์” (abaaya) ซึ่งเป็นเสื้อแขนยาว ตัวยาวคลุมถึงข้อเท้า มีผ้าคลุมศีรษะ และผ้าสีดำคลุมหน้า เรียกว่า “เวียล” (veil) ทั้งนี้ การคลุมศีรษะไม่ใช่บทบัญญัติทางศาสนา แต่เป็นประเพณีท้องถิ่นของคนในเมือง

 

 

การแต่งกายของชาวซาอุดิอาระเบีย

 

 

     ด้านภาษา ซาอุดีอาระเบียใช้ภาษาอารบิกเป็นภาษาราชการ และใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก
     ด้านความเชื่อ ประชาชนชาวซาอุดีอาระเบียทุกคนนับถือศาสนาอิสลาม โดยแบ่งออกเป็น 2 นิกาย คือ นิกายซุนนี และนิกายชีอะฮ์ ศาสนาอิสลามจึงเป็นทั้งแนวทางในการดำเนินชีวิต กฎระเบียบ และจริยธรรมของชาวซาอุดีอาระเบีย
     ด้านอาหาร อาหารของซาอุดีอาระเบียเป็นอาหารมุสลิมตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลามที่กำหนดให้บริโภคสิ่งที่อนุมัติและสภาพดีมีคุณค่า

 

 

กัปซะ เป็นอาหารของชาวซาอุดิอาระเบีย

 

 

วัฒนธรรมนำไปสู่ความเข้าใจอันดีระหว่างกัน
วัฒนธรรมช่วยให้มนุษย์สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับสมาชิกของสังคมอื่นได้ดังนี้
1. วัฒนธรรมเกี่ยวกับภาษา ช่วยให้คนต่างสังคมเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของคนกลุ่มอื่น
2. วัฒนธรรมเกี่ยวกับความเชื่อและศาสนา ทำให้คนมีแนวทางและจุดมุ่งหมายในการดำเนินชีวิตคล้ายคลึงกัน จึงไม่เกิดความขัดแย้ง
3. วัฒนธรรมที่เป็นขนบธรรมเนียมประเพณี คนต่างกลุ่มสร้างมิตรภาพด้วยขนบธรรมเนียมที่ดีได้

 

Key Word  วัฒนธรรม  วัฒนธรรมไทย  วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  วัฒนธรรมเอเชียตะวันออก  วัฒนธรรมเอเชียใต้  วัฒนธรรมเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ 

 

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th