โอริกามิ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 11.2K views



ประวัติและความเป็นมา

       เมื่อกล่าวถึง คำว่า "Origami" ทุกคนจะนึกถึงการพับกระดาษซึ่งมีที่มาจากประเทศญี่ปุ่น เป็นที่เข้าใจกันดีว่า "Origami" มาจากภาษาญี่ปุ่นซึ่งเกิดจากการผสมคำว่า "Ori" ที่แปลว่า "พับ" และคำว่า "Kami" ที่แปลว่า "กระดาษ" เมื่อเรียกกันนานๆเข้า คำศัพท์เกิดเพี้ยนไปเป็น "Origami" นั่นเอง

        การรุกรานของมัวร์ ซึ่งเป็นชนเผ่าแอฟริกาเหนือที่เข้ามาในสเปนช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 8 ได้ทิ้งมรดกชิ้นสำคัญไว้ คือการพับกระดาษที่เรียกว่า “ปาคาริต้า” การพับกระดาษในประเทศแถบยุโรปจึงรุ่งเรืองมากในประเทศสเปน ซึ่งเป็นรูปแบบดั้งเดิมที่ได้รับการยอมรับ และตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน

         ในศตวรรษที่ 19 มีหลักสูตรการพับกระดาษเกิดขึ้นในการศึกษาระดับชั้นอนุบาลของประเทศเยอรมัน เพื่อเป็นตัวช่วยการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และฝึกฝนสมาธิให้เด็กๆ ซึ่งในปัจจุบัน การพับกระดาษได้หายไปจากหลักสูตรอนุบาลเยอรมันเสียแล้ว

         ในประเทศญี่ปุ่น ช่วงคริสต์ศตวรรษ ที่ 17 การพับกระดาษยังไม่เป็นที่กว้างขวางมากนัก เนื่องมาจากกระดาษมีราคาแพง มักมีเล่นได้คนชั้นสูง และเหล่าซามูไร ซึ่งคนเหล่านี้มักถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่คนในตระกูลเท่านั้น สังเกตได้จากพวกซามูไร ที่จะมีธรรมเนียมการห่อของขวัญเป็นรูปแบบเฉพาะตัว และต่อมาในศตวรรษที่ 18 หนังสือเล่มหนึ่งถูกเขียนขึ้นในชื่อ “วิธีพับนกกระเรียนพันตัว” ซึ่งสร้างความแปลกใหม่ในวงการพับกระดาษ จึงถือให้หนังสือเล่มนี้เป็น ”หนังสือพับกระดาษเชิงนันทนาการเล่มแรกของโลก”

         วิธีการและรูปแบบการพับกระดาษได้พัฒนา เปลี่ยนแปลงไปมาก เมื่อเทียบกับการพับกระดาษเป็นรูป “กบ” และ “นก”  ในสมัยก่อนศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นการพับกระดาษแบบธรรมดาทั่วไปและเป็นรูปแบบที่เก่าแก่ที่สุด ผู้ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิดรูปแบบการพับนกแบบเดิมๆ ที่พับกันมานานเป็นร้อยปี เป็นอะไรที่สร้างสรรค์กว่า และสวยงามกว่า คือ อากิระ โยชิซาวา ปรมาจารย์ชาวญี่ปุ่น ที่ออกมาแสดงผลงานแหวกแนวคลาสสิก ท่านเสียชีวิตเมื่อปี 2005 แต่สิ่งสำคัญที่ท่านทิ้งไว้คือ สัญลักษณ์การพับกระดาษสากลนั่นเอง ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักพับกระดาษทั้งตะวันออกและตะวันตก เพราะถือเป็นภาษาของนักพับกระดาษที่เข้าใจกันทั่วโลก

         ในปัจจุบัน มีการศึกษาโอริกามิในเชิงคณิตศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์อย่างจริงจัง การพับกระดาษสามารถอธิบายตรีโกณมิติ ถอดสมการพหุนาม และหาค่ารากที่สองของจำนวนจริงได้ ทั้งยังใช้ในการพับแผนที่ พับถุงลมนิรภัย บรรจุบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แม้กระทั่งเป็นต้นแบบให้กับการพับแผงเซลแสงอาทิตย์ของดาวเทียมที่ส่งขึ้นไปสู่อวกาศ ทุกวันนี้นักพับกระดาษบางคนได้คิดค้นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการออกแบบโอริงามิของพวกเขา จนเราสามารถพูดได้ว่าขอบเขตของโอริกามิไม่มีขีดจำกัดอีกแล้ว 

 

ที่มาของบทความ https://www.thaigoodview.com/library/contest2552/type2/dev01/01/origami/about.html