ภาษาไทย ป. 5 เรื่อง ภาษาไทยมาตรฐานและภาษาไทยถิ่น
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 86.6K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้ 

 

ภาษาไทยมาตรฐานและภาษาไทยถิ่น 

 

ภาษาไทยมาตรฐานและภาษาไทยถิ่น

๑. ภาษาไทยมาตรฐาน
ภาษาไทยมาตรฐาน คือ ภาษากลางที่ใช้ติดต่อราชการ เป็นแบบแผน ทุกคนในสังคมเข้าใจตรงกัน


๒. ภาษาไทยถิ่น
ภาษาไทยถิ่น คือ ภาษาที่ใช้ในท้องถิ่นต่าง ๆ มีลักษณะเฉพาะที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น แบ่งตามภูมิภาคของผู้พูดเป็น ๔ ภาค ได้แก่
     ๑. ภาษาไทยถิ่นเหนือ ใช้พูดกันในจังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย
     ๒. ภาษาไทยถิ่นอีสาน ใช้พูดกันในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
     ๓. ภาษาไทยถิ่นกลาง ใช้พูดกันในกรุงเทพมหานครและจังหวัดภาคกลางของประเทศไทย นอกจากนี้ภาษาไทยถิ่นกลางยังถือเป็นภาษาไทยมาตรฐานอีกด้วย
     ๔. ภาษาไทยถิ่นใต้ ใช้พูดกันในจังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย


ตัวอย่าง

ภาษาไทยถิ่นกลาง

ภาษาไทยถิ่นเหนือ

ภาษาไทยถิ่นอีสาน

ภาษาไทยถิ่นใต้

ฉัน

มอง

เฮา

ผ่อ

ข้อย

เบิ่ง

ฉาน

แล

 

นิทานชาวบ้าน
นิทานชาวบ้าน คือ เรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมา จะเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องที่สมมติขึ้นก็ได้ ทั้งนี้อาจรวมไปถึงตำนาน นิทานอุทาหรณ์ นิทานเหลือเชื่อ เทพนิยาย และเรื่องตลกชาวบ้านสั้น ๆ ด้วยก็ได้
นิทานชาวบ้าน เป็นภูมิปัญญาที่ได้สร้างสรรค์และสืบทอดแบบรุ่นต่อรุ่น เพื่อให้ผู้อ่านและผู้ฟังได้รับความบันเทิง ข้อคิด และคติสอนใจ โดยนิทานชาวบ้านมีลักษณะสำคัญ คือ
     ๑. เป็นเรื่องที่เล่าด้วยถ้อยคำธรรมดา อาจใช้ภาษาถิ่นหรือภาษาชาวบ้าน
     ๒. มักไม่ปรากฏชื่อผู้แต่งหรือผู้เล่าคนแรก
     ๓. มีการเล่าต่อมาเป็นทอด ๆ แบบปากต่อปาก
     ๔. เนื้อเรื่องเปลี่ยนแปลงไปตามผู้เล่าและกาลเวลา

 

แหล่งสืบค้นข้อมูล

นักเรียนสามารถศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับนิทานชาวบ้านเพิ่มได้ที่ www.thaifolk.com และ www.lokwannakadi.com 


การเล่านิทานชาวบ้าน
ผู้เล่าต้องถ่ายทอดให้ผู้ฟังรู้สึกคล้อยตามไปด้วย โดยมีหลักดังนี้
๑. เตรียมเรื่องที่จะเล่า
๒. ใช้ถ้อยคำ น้ำเสียง และภาษาให้เหมาะสมกับเรื่องและตัวละคร
๓. แสดงท่าทางประกอบบ้าง เพื่อความสนุกสนาน
๔. ลำดับเรื่องราวให้ต่อเนื่อง

 

เกร็ดควรรู้

นักเล่านิทานที่มีชื่อเสียง และถือว่าเป็นผู้เล่านิทานคนแรก คือ อีสป

 

เพลงชาวบ้าน
เพลงชาวบ้าน คือ เพลงที่ชาวบ้านแต่งขึ้นเพื่อใช้ร้องเล่นในโอกาสต่าง ๆ มีสำนวนภาษาที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน เพลงชาวบ้านจะแบ่งตามลักษณะผู้เล่นได้ ๒ ประเภท คือ
๑. เพลงเด็ก เช่น เพลงกล่อมเด็ก เพลงปลอบเด็ก เพลงร้องเล่น เพลงร้องประกอบการละเล่น
๒. เพลงผู้ใหญ่ เช่น เพลงปฏิพากย์ เพลงประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ
ในบทเรียนนี้จะเรียนเฉพาะเพลงร้องเล่น และเพลงร้องประกอบการละเล่นเท่านั้น


๑. เพลงร้องเล่น
เพลงร้องเล่น คือ เพลงที่เด็กใช้ร้องเล่นหรือล้อเลียนกัน มักใช้คำสั้น ๆ มีสัมผัสคล้องจอง เข้าใจและจดจำได้ง่าย เช่น

     ฝนตกแดดออก          นกกระจอกเข้ารัง

แม่ม่ายใส่เสื้อ                 ถ่อเรือไปดูหนัง 

 

๒. เพลงร้องประกอบการละเล่น
เพลงร้องประกอบการละเล่น คือ เพลงที่เด็กใช้ร้องประกอบการละเล่น ใช้ถ้อยคำง่าย ๆ มีท่วงทำนองที่สอดคล้องกับท่าทางประกอบการละเล่น อาจจะร้องคนเดียว ร้องเป็นกลุ่ม หรือสลับกันร้องก็ได้ เช่น 

 

 

 

เพลงร้องประกอบการละเล่น

 

วิธีการเล่น
     ๑. ผู้เล่นนั่งล้อมเป็นวงกลม คว่ำมือสองข้างกับพื้น
     ๒. ผู้เล่นคนหนึ่งเป็นคนจี้ โดยร้องเพลงจ้ำจี้พร้อมกับใช้นิ้วมือจิ้มไปตามนิ้วของผู้เล่นคนอื่นทีละนิ้ว
     ๓. เมื่อจบเพลง คนที่ถูกจิ้มนิ้วเป็นคนสุดท้าย ต้องพับนิ้วเข้าไป แล้วเริ่มเล่นจ้ำจี้กันใหม่ โดยจิ้มเฉพาะนิ้วที่เหลือ
     ๔. ผู้ที่ไม่เหลือนิ้วให้จิ้มต้องออกจากวง ใครเหลือนิ้วเป็นคนสุดท้ายถือเป็นผู้ชนะ


คุณค่าของเพลงชาวบ้าน มีดังนี้
๑. ให้ความเพลิดเพลิน
๒. ก่อให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ รู้จักการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
๓. มีไหวพริบสติปัญญาในการแก้ไขปัญหา 

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th