ภาษาไทย ป. 5 เรื่อง การใช้สำนวนไทย และการแต่งคำประพันธ์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 83.5K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้ 

 

การใช้สำนวนไทยและการแต่งคำประพันธ์ 

 

สำนวนไทย
สำนวนไทย เป็นถ้อยคำที่ร้อยเรียงขึ้นเพื่อใช้เป็นข้อคิดหรือคติสอนใจ แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท ได้แก่


๑. สำนวน
สำนวน คือ ถ้อยคำที่มีความหมายไม่ตรงตามตัวอักษร มักใช้ในการเปรียบเทียบ มีลักษณะต่าง ๆ ดังนี้
     ๑. ใช้คำคล้องจองหรือการซ้ำคำ เช่น ก่อร่างสร้างตัว
     ๒. มีความหมายเชิงเปรียบเทียบ เช่น กระดี่ได้น้ำ
     ๓. มีลักษณะเป็นข้อคิดสอนใจ เช่น ดาบสองคม 

 

สำนวน 

 

๒. สุภาษิต
สุภาษิต คือ ถ้อยคำที่ใช้เป็นคติสอนใจ แนะนำ หรือเตือนไม่ให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มักเป็นถ้อยคำสั้น ๆ และมีสัมผัสคล้องจอง เช่น รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี


๓. คำพังเพย
คำพังเพย คือ ถ้อยคำที่กล่าวแสดงความคิดเห็นอย่างกลาง ๆ เพื่อนำไปใช้ให้เข้ากับข้อความที่พูดหรือเขียน เช่น ปิดทองหลังพระ 

 

คำพังเพย  

 

ตัวอย่างการใช้สำนวนไทย

สำนวน

ดินพอกหางหมู

ความหมาย

งานที่ปล่อยให้คั่งค้างจะเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ

การใช้

ใช้กับคนที่ละเลยงานของตน ปล่อยให้คั่งค้างไว้ จนตัวเองต้องเดือดร้อน

ตัวอย่าง

นักเรียนควรรีบทำรายงานให้เสร็จ อย่าปล่อยให้เป็นดินพอกหางหมู เพราะถึงเวลาใกล้สอบจะเดือดร้อน

 

การแต่งคำประพันธ์
คำประพันธ์ คือ ถ้อยคำที่เรียบเรียงขึ้นตามฉันทลักษณ์ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันไปตามคำประพันธ์แต่ละชนิด ในการแต่งคำประพันธ์นักเรียนจำเป็นต้องมีความรู้เรื่อง คำสัมผัส


๑. คำสัมผัส
คำสัมผัส คือ คำที่มีเสียงรับกันหรือสอดคล้องกัน หากแบ่งตามลักษณะของเสียง จะแบ่งได้ ๒ ประเภท ได้แก่
     ๑. สัมผัสสระ คือ คำที่มีเสียงสระและเสียงตัวสะกดเหมือนกัน เช่น มด-อด ไต่-ไร
     ๒. สัมผัสพยัญชนะ คือ คำที่มีเสียงพยัญชนะต้นเหมือนกัน เช่น นก-นา ปลา-เปลี่ยน

 

เกร็ดควรรู้

สัมผัสพยัญชนะ ไม่ใช่แค่คำที่มีพยัญชนะต้นตัวเดียวกัน แต่หมายถึงพยัญชนะที่ออกเสียงเหมือนกันหรือคู่กัน เช่น ข-ค-ฆ  พ-ผ-ภ  ศ-ษ-ส

 

นอกจากนี้ หากแบ่งตามตำแหน่งของคำ จะแบ่งได้ ๓ ลักษณะ ได้แก่
     ๑. สัมผัสใน คือ สัมผัสสระหรือสัมผัสพยัญชนะที่อยู่ในวรรคเดียวกันของคำประพันธ์
     ๒. สัมผัสนอก คือ สัมผัสสระที่สัมผัสกันระหว่างวรรคของคำประพันธ์
     ๓. สัมผัสระหว่างบท คือ สัมผัสสระที่สัมผัสกันระหว่างบทของคำประพันธ์

 

ตัวอย่าง 

 

 

 

จากคำประพันธ์ดังกล่าวจะพบว่า
สัมผัสใน แบ่งเป็น
สัมผัสสระ ได้แก่ สลึง-พึง จบ-ครบ ของ-ต้อง น้อย-ค่อย มาก-ยาก ไป-(พิ)ไร คราว-คาว แม่-แก่ อด-(ระ)ทด
สัมผัสพยัญชนะ ได้แก่ ขาด-ของ เมื่อ-แม่
สัมผัสนอก ได้แก่ บาท-ขาด (ประ)สงค์-(บรร)จง-ลง ซื้อ-มื้อ หงาน-กาล-ท่าน
สัมผัสระหว่างบท ได้แก่ นาน-หวาน


๒. กาพย์ยานี ๑๑
กาพย์ยานี ๑๑ คือ คำประพันธ์ประเภทกาพย์ชนิดหนึ่ง ๑ บทมี ๒ บาท ๑ บาทมี ๒ วรรค วรรคหน้ามี ๕ คำ และวรรคหลังมี ๖ คำ มีลักษณะบังคับและคำสัมผัส ดังนี้ 

 

  

  

 

การแต่งคำประพันธ์ มีหลักการ ดังนี้
     ๑. กำหนดประเภทว่าจะแต่งคำประพันธ์ชนิดใด
     ๒. วางโครงเรื่องว่าจะแต่งเกี่ยวกับอะไร มีสาระอะไรบ้าง
     ๓. เขียนเนื้อความทั้งหมดเป็นร้อยแก้วก่อน
     ๔. นำเนื้อความมาเรียบเรียงให้ตรงตามฉันทลักษณ์ของคำประพันธ์

 

ตัวอย่างการแต่งกาพย์ยานี ๑๑
ชื่อเรื่อง – เดินชมสวนสัตว์
โครงเรื่อง – เราเดินชมสวนสัตว์ พบยีราฟ ม้าลาย ลา กำลังยืนกินหญ้า ลิง ค่าง บ่าง ชะนี และนกต่างส่งเสียงร้อง มีช้างกำลังเล่นน้ำซึ่งพวกเรากำลังมองดูอยู่
เนื้อความร้อยแก้ว – เดินชมสวนสัตว์ มีสัตว์ต่าง ๆ มากมาย มียีราฟ ม้าลาย ลา ยืนเล็มยอดหญ้า มีลิง ค่าง บ่าง ชะนี และนกส่งเสียงร้อง ช้างน้อยเล่นน้ำในคลอง พวกเรายืนมองดู
เรียบเรียงเป็นกาพย์ยานี ๑๑
               เดินชมสัตว์น้อยใหญ่      เพลิดเพลินใจดีหนักหนา
     ยีราฟม้าลายลา                       เล็มยอดหญ้าดูน่ามอง
               ลิงค่างบ่างชะนี             นกมากมีส่งเสียงร้อง
     ช้างน้อยเล่นน้ำคลอง                เรายืนมองสบายใจ 

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th