รู้รอบโลก ตอน เท้าดอกบัว ความงามที่แลกด้วยความเจ็บปวด
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 10K views



เรื่อง: พฤทธิ์ เลิศสุกิตติพงศา ภาพประกอบ: สราวุธ สังข์สุวรรณ


 เท้าดอกบัว
 ความงามที่แลกด้วยความเจ็บปวด 


เท้าดอกบัวความงามและแฟชั่นเป็นเรื่องของสไตล์ บ่อยครั้งมักแลกมาด้วยความลำบากและความเจ็บปวด ซึ่งเป็นเช่นนี้มาช้านานและเกิดขึ้นในหลายวัฒนธรรม หนึ่งในค่านิยมความงามแห่งประวัติศาสตร์จีนในยุคศตวรรษที่ 10 นั่นก็คือ เท้าดอกบัว (Foot Binding) เมื่อความงามของสตรีสูงศักดิ์คือเท้าที่เล็กและมีรูปทรงดั่งดอกบัว ความงามที่ต้องแลกมาด้วยความเจ็บปวดตั้งแต่เด็ก ความลำบากในการเดิน และความเสี่ยงที่จะบาดเจ็บ ติดเชื้อ จนถึงขั้นเสียชีวิต
 

ประเพณีการรัดเท้าเริ่มต้นขึ้นจากเหล่านางสนมในพระราชวังช่วงยุคศตวรรษที่ 10 แห่งราชวงศ์ถัง ก่อนจะเริ่มกระจายตัวไปยังสตรีในกลุ่มต่าง ๆ อาจจะมีข้อยกเว้นสำหรับบางอาชีพที่มีการใช้แรงงานหรือว่าใช้เท้ามาก โดยสตรีที่มีเท้าเล็กกว่า 3 นิ้วจะเรียกว่า เท้าดอกบัวทองคำ หากใหญ่กว่าเล็กน้อยแต่ยังเล็กกว่า 4 นิ้วเรียกว่าเท้าดอกบัวเงิน ซึ่งกล่าวกันว่าค่านิยมนี้มาพร้อมกับศาสนาพุทธที่แผ่เข้ามายังจีนในช่วงนั้น กอปรกับพุทธศิลปะในยุคนั้นที่นิยมวาดจิตรกรรมรูปพระโพธิสัตว์กวนอิมนั่ง ยืน หรือเดินอยู่บนดอกบัว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนความดี บริสุทธิ์ และกรอบสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่และต้องการกดให้สตรีทั้งหลายอยู่ในกรอบอำนาจ ทำให้ค่านิยมนี้ถูกปลูกฝังหยั่งลึกไปอย่างรวดเร็ว
 

กว่าจะเป็นเท้าดอกบัว
โดยเฉลี่ยแล้วการรัดเท้าเริ่มต้นขึ้นเมื่อเด็กสาวอายุเพียง 5 ปี เนื่องจากเท้ายังเล็ก กระดูกยังอ่อน และดัดได้ง่าย โดยจะพันเอาไว้เพื่อพยุงให้ใช้ปลายเท้าในการทรงตัวและเดินอยู่ตลอดเวลา โดยการรัดเท้านั้นมักจะเสร็จสิ้นเมื่ออายุ 10 ปี ซึ่งกระดูกก็จะคงรูปเช่นนั้นและทำให้พื้นที่เท้าที่สัมผัสกับพื้นมีขนาดเพียง 3-4 นิ้วเท่านั้น หลังจากนั้นก็ไม่จำเป็นต้องรัดแน่นอีกต่อไป เนื่องจากเท้าผิดรูปบิดเบี้ยวไปแล้ว อย่างไรก็ดีเท้าดอกบัวไม่ได้หมายถึงการมีเท้าที่เล็กเท่านั้น เท้าดอกบัวในอุดมคติคือต้องมีลักษณะสำคัญ 7 อย่างคือ เล็ก เรียว บาง โค้ง หอม นุ่ม และเท่ากันทั้งสองข้าง และที่มากไปกว่านั้นเมื่อมีการประกวดสตรีที่มีเท้างดงาม นางงามเหล่านั้นก็จะใส่รองเท้าที่สั่งทำพิเศษ มีการประดับตกแต่งให้งดงามสมกับความงามของเท้าเล็ก ๆ ความทรมานเพื่อความงามยังคงดำเนินต่อไปอีกหลายร้อยปี จนกระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์เข้ามาปฏิวัติและถอนรากถอนโคนวัฒนธรรมที่มีรากฐานจากราชวงศ์จีนอย่างจริงจังในช่วงหลังปีคริสตศักราช 1949 เป็นต้นมา เมื่อวัฒนธรรมหรือประเพณีจากอดีตที่บ่งบอกถึงชนชั้น ถูกจัดเป็นสิ่งนอกรีต และต้องถูกกำจัด การเดินทางที่ยิ่งใหญ่ของเท้าคู่เล็ก ๆ จึงได้จบลง
 

ค่านิยมที่ถูกปลูกฝัง
แต่หากจะมองว่าการทรมานตนด้วยการรัดเท้าของสตรีชาวจีนเป็นสิ่งโง่เขลา ก็คงเป็นสิ่งที่ไม่สมควร เพราะหากมุ่งไปยังจุดประสงค์ที่แท้จริงของการกระทำ หรือค่านิยมนั้น เกิดจากเป้าหมายในชีวิตที่มุ่งหาความสุขสบาย ค่านิยมที่ปลูกฝังมา เพื่อให้สตรีเหล่านั้นมีชีวิตที่ดี สามีที่ดี ตามจริตของสังคมที่กำหนดไว้ เฉกเช่นเดียวกับค่านิยมหรือแฟชั่นอื่น ๆ เช่น การใส่คอร์เซ็ทรัดเอวของชาวยุโรป เมื่อเอวกิ่วคอดเล็กแสดงถึงความงดงาม บอบบาง สาวที่มีหุ่นทรงนาฬิกาทรายคือสาวงาม หรือการสักของชาวอเมริกันพื้นเมือง หรือชายพื้นเมืองแห่งนิวซีแลนด์ หรือแม้แต่การเจาะ จิ้ม สักลาย ตกแต่งร่างกายของหลาย ๆ เผ่าในแอฟริกาที่แสดงถึงพลัง ความน่าเกรงขาม และอำนาจในการข่มขู่ศัตรู แสดงถึงการเชื่อมโยงทางจิตวิญญาณ หยิบยืมพลังเทวาภูติในธรรมชาติ หรือที่อาจจะดูน่าขันและไม่เจ็บปวดเท่าไร คงเป็นกรณีของการใส่วิกผมบลอนด์เป็นลอนฟูของขุนนางและชนชั้นปกครองในยุโรป ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงจารีตและวัฒนธรรมจากอดีตที่ยังคงอยู่ในปัจจุบัน

และแม้ว่าการรัดเท้าดอกบัวจะไม่มีให้เห็นอีกแล้ว คงเหลือแต่เพียงรูปภาพและหลักฐานทางโบราณคดีก็ตาม แต่มันก็ยังคงสะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบาก แปลกประหลาดที่พวกเขาพยายามทำตัวเองให้สวย ให้แตกต่าง เพื่อสร้างจุดยืนในกรอบของสังคมที่จารีตเป็นตัวกำหนดทิศทางความเป็นไป ไม่ว่าจะยุคไหน ต่างก็มีสิ่งที่คล้าย ๆ กันให้เห็นเสมอ

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

https://www.youtube.com/watch?v=BPknlFz4Aqg
https://www.smithsonianmag.com/history/why-footbinding-persisted-china-millennium-180953971/
https://www.theguardian.com/artanddesign/gallery/2015/jun/15/unbound-chinas-last-lotus-feet-in-pictures
https://www.bbc.com/news/in-pictures-28208695



นิตยสาร plook