portfolio : เยาวชนต่อกล้าให้เติบใหญ่
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 5.2K views



เรื่อง: วรรณวิสา สุภีโส


 เยาวชนต่อกล้าให้เติบใหญ่ 
 

visionear 

“ต่อกล้าให้เติบใหญ่” ปีที่ 3 ผลงาน Visionear อุปกรณ์ช่วยมองสำหรับผู้พิการทางสายตา ประเภทอิเล็กทรอนิกส์ หนึ่งในโครงการที่ฝ่าด่านจาก 120 โครงการ เหลือเพียง 15 โครงการ ที่จะได้รับทุนสนับสนุน และโอกาสเข้าร่วมกระบวนการพัฒนาศักยภาพเพื่อต่อยอดผลงานจากเวทีประกวดสู่การใช้จริง ภายใต้ NECTEC ในการสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยทีมผู้พัฒนาผลงาน ประกอบไปด้วย ปาล์ม-นันทิพัฒน์ นาคทอง จั๊ม-ณัฐภัทร เลาหระวี นิค-บุษภาณี พงษ์ศิริยาภรณ์ และ เดียร์-เกวลี เลี่ยมโลหะ จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
 

ด้วยความที่ทั้งสี่คนเรียนอยู่คณะเดียวกัน และเข้าแข่งขันประกวดตามที่ต่าง ๆ ทำให้ได้เห็นผลงานเกี่ยวกับคนตาบอดค่อนข้างเยอะ แต่ทำไมไม่มีผลงานไหนสามารถออกมาใช้ได้จริง ๆ เลยรู้สึกว่าต้องมีอะไรสักอย่างที่ยังไม่ใช่ จึงเข้าไป ทำความรู้จักสมาคมผู้พิการทางสายตาแห่งประเทศไทยเพื่อทำโปรเจ็กต์ Visionear ออกมา
 

visionear


“Visionear” มาจากสองคำ Vision(การมองเห็น) + ear(หู) เพื่อสื่อว่าอุปกรณ์นี้สามารถทำให้ผู้พิการทางสายตารับรู้เสียงต่าง ๆ รอบตัวได้ผ่านการใช้หูแทนการใช้ตา

ปาล์มเล่าถึงกลไกการทำงานว่า “เป็นแว่นตาติดกล้องสำหรับผู้พิการทางสายตา ตัวแว่นตาจะถ่ายรูปของที่อยู่ด้านหน้า มาคิดประมวลผลในตัวเครื่องแล้วก็อธิบายเป็นเสียงให้ผู้พิการทางสายตาได้ฟัง สามารถอธิบายเป็นภาษาไทย อังกฤษ จีน สมมติ ชูแบงค์ร้อยขึ้นมาตัวอุปกรณ์ก็บอกได้ว่าคือธนบัตรหนึ่งร้อยบาท ตัวอุปกรณ์สามารถอธิบายได้สี่เรื่องหลัก ๆ คือเรื่องของธนบัตร แยกสีของสิ่งของ ตรวจสอบหลอดไฟ แยกแยะสิ่งของที่สำคัญ เช่น ของขายตามห้างฯ เพราะบางคนแพ้อาหารอย่างถั่ว กุ้ง แต่เขามองไม่เห็น อุปกรณ์นี้จะช่วยลดปัญหานี้ได้”
 

visionear


ขั้นตอนการทำงาน ปาล์มจะดูเรื่องของฮาร์ดแวร์ ตัวชิ้นงานเป็นหลักตัววงจรข้างในอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนของจั๊มจะดูเรื่องของซอฟแวร์ โปรแกรม นิคออกแบบดีไซน์ ตัวโครงแว่นตา รูปทรง โลโก้ สื่อต่าง ๆ ที่จะใช้ในการประชาสัมพันธ์ เดียร์ประสานงาน ติดต่อกับคนภายนอก งานเอกสารต่าง ๆ ปาล์มบอกว่า “ยากที่สุดของการทำงานชิ้นนี้คือ ทีมไม่มีใครเป็นผู้พิการทางสายตาจริง ๆ ฉะนั้นการที่เราจะเข้าใจเขา เราก็ต้องไปสัมผัสชีวิตของคนตาบอดจริง ๆ ความท้าทายอีกอย่าง จะทำอย่างไรให้ตัวผลงานมีความเสถียรมีคุณภาพมากพอที่จะออกสู่เชิงพาณิชย์ได้จริง ซึ่งผลงานอยู่ในช่วงของการพัฒนา ก็คาดว่าถ้าผลการทดสอบเป็นไปได้ด้วยดีก็น่าจะผลิตได้ในช่วงปีนี้”
 

แนวทางการต่อยอดผลงาน ถ้าในไทยก็อยากจะไปประสานความร่วมมือกับสมาคมผู้พิการทางสายตาต่างประเทศอาจจะเป็นประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนเพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดต่อไป
 

“เราต้องการให้ผู้พิการทางสายตามีชีวิตที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดี คือ ช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น ทำให้เขารู้สึกมีความสุข เรามองว่าคนตาบอดจะช่วยเหลือตัวเองได้ขนาดไหนแต่พอเราเข้าไปเจอแล้ว มีหลายอย่างที่เราไม่เคยรู้ คนตาบอดก็อยากจะใช้ชีวิตธรรมดาเหมือนคนปกติ” ปาล์มทิ้งท้าย

 
 

นิตยสาร plook