รู้รอบโลก ตอน The Martial Arts
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 7.1K views



เรื่อง: พฤทธิ์ เลิศสุกิตติพงศา ภาพประกอบ: อารัมภ์พร เอี่ยมวุฒิ


 The Martial Arts 


รู้รอบโลก ตอน The Martial Artsวิวัฒนาการของมนุษย์ผ่านการต่อสู้แย่งชิงอาหาร ที่อยู่และทรัพยากร ดิ้นรนให้อยู่รอดจากทั้งธรรมชาติ สัตว์ผู้ล่า และมนุษย์ด้วยกันเอง ร่างกายของเราถูกออกแบบมาให้เคลื่อนไหวได้หลายส่วนไม่ว่าจะเป็นแขนหรือขา แม้ในปัจจุบันคนส่วนใหญ่จะไม่ได้ใช้ร่างกายในการต่อสู้ฟาดฟันเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการ เปลี่ยนมาพึ่งพิงการใช้อุปกรณ์เสริมและสมองในการคิดวางแผนมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้แปลว่า ศิลปะการต่อสู้ Martial arts นั้นอ่อนแอลงไป การต่อสู้นั้นเป็นศิลปะ ซึ่งบรรพบุรุษของเราคิดค้นและเคยใช้ชีวิตอยู่กับมันมาก่อน ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงสะท้อนให้เห็นอยู่ในการแสดงหรือการจัดการแข่งขัน

ในช่วงยุคทองเหลือง หรือราว ๆ สองพันปีก่อนคริศตกาลมีการค้นพบบันทึกในสุสานถึงการต่อสู้ในรูปแบบของมวยปล้ำ และการใช้อาวุธเข้าร่วมการต่อสู้ในยุคบาบิโลน อย่างไรก็ดีมันยังก็ยังไม่มีรูปแบบการต่อสู้และการใช้อาวุธที่ตายตัว เป็นเพียงการฝึกฝนและทักษะเฉพาะบุคคลเท่านั้น ผ่านมาอีกกว่าพันปีจึงจะเริ่มมีการฝึกฝนและถ่ายทอดในรูปแบบของวิชา มีการจัดการที่เป็นระบบ เนื่องจากอาณาจักรต่าง ๆ เริ่มเฟื่องฟูและมีความสัมพันธ์ทั้งในด้านการค้าและการสงคราม ในเอเชียตะวันออกมีการกล่าวถึง Taekkyon ซึ่งเป็นศิลปะการต่อสู้ของเกาหลี อยู่ในภาพจิตกรรมโบราณในสุสานหลวง หรือแม้แต่การต่อสู้แบบ Gladiator ในกรุงโรมซึ่งย้อนกลับไปถึงสมัยอาณาจักรกรีกโบราณ โดยแต่ละชุมชนแต่ละอาณาจักรต่างก็มีแนวทางศิลปะการต่อสู้ที่ถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นมาเป็นของตัวเอง

Kung Fu
หนึ่งในศิลปะการต่อสู้ที่เป็นที่น่าสนใจและเป็นเสมือนตัวแทนของชาวเอเชียก็คือ กังฟู (Kung Fu) จากวัดในมณฑลเหอหนาน ประเทศจีน มีตำนานเล่าขานมาจากความจริงที่สะท้อนอยู่ในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของพระจากวัดเส้าหลินและวิชาที่พวกเขาฝึกฝน แม้จะมีตำนานกล่าวว่าพระโพธิธรรมเป็นผู้คิดค้น แต่ในอีกฟากก็อ้างว่าพระเส้าหลินรู้จักและฝึกฝนกังฟูมาก่อนยุคของพระโพธิธรรม และไม่มีบันทึกใดถึงการฝึกฝนและใช้วิชาของพระโพธิธรรม อย่างไรก็ดีกังฟูถูกเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวางทั่วแผ่นดินจีนและเอเชียตะวันออกโดยใช้เวลาเพียงไม่นานพร้อม ๆ กับการเผยแผ่ศาสนา

หนังจีนกำลังภายใน หรือแม้แต่หนังสมัยใหม่ที่ผลิตออกมาจากฮ่องกงและไปตีตลาดโลกต่างก็ได้รับอิทธิพลของวัฒนธรรมจีนไม่ว่าจะความเจริญทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การศึกษา และเทคโนโลยีผนวกกับรากเหง้าวัฒนธรรมจีนที่น่าค้นหา และนั่นทำให้กังฟูกลายเป็นศิลปะการต่อสู้ที่มีชื่อเสียงมากขึ้นไปอีก

Capoeira
ศิลปะการต่อสู้ซึ่งมีคนรู้จักน้อยมากจากแอฟริกา อาจจะนึกไม่ออกยิ่งบอกว่าเป็นการต่อสู้ที่คล้ายกับการเต้นบีบอย ก็อาจจะยิ่งงงว่าการเต้นไปเกี่ยวข้องอะไรกับศิลปะการต่อสู้ได้อย่างไร ซึ่งมันก็คือ คาโปเอร่า (Capoeira) ปัจจุบันถูกจัดให้เป็นศิลปะการละเล่นประจำชาติของบราซิล ซึ่งไม่ได้อยู่แอฟริกา แต่เป็นอเมริกาใต้ โดยเป็นการผสมผสานการเต้น ดนตรี ปรัชญาและการต่อสู้เข้าด้วยกัน

คาโปเอร่า ถูกนำมายังบราซิลหลายร้อยปีก่อนพร้อมกับแรงงานทาสที่ถูกขนถ่ายจับตัวมาจากแอฟริกา แต่เนื่องจากสถานะการเป็นทาสทำให้ไม่สามารถถ่ายทอดหรือฝึกฝนศิลปะการต่อสู้ได้ จึงแปลงให้กลายเป็นการละเล่นเต้นรำแทน ศิลปะการต่อสู้คาโปเอร่าผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายยุคหลายสมัย นับตั้งแต่การถูกห้ามฝึกห้ามเล่นในยุคล่าอาณานิคม แม้จะผ่านมาถึงยุคเลิกทาสแล้วก็ยังถูกห้ามเนื่องกลุ่มอันธพาลส่วนใหญ่ยังคงใช้ศิลปะนี้ในการต่อต้านรัฐและก่ออาชญากรรม จนกระทั่งถูกเชิดชูอีกครั้งเมื่อกองทัพคาโปเอร่านำชัยชนะมาสู่บราซิลจากการทำสงครามกับปารากวัย การเต้นแห่งอิสรภาพนี้จึงถูกยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์และศิลปะประจำชาติบราซิลในที่สุด

แม้ในโลกนี้จะมีศิลปะการต่อสู้แบบต่าง ๆ กระจายอยู่ตามชุมชน และเป็นที่นิยมมากมาย แต่ก็ใช่ว่าเราจะรู้จักและทำการศึกษาได้ครบทุกรูปแบบ เรียกได้ว่าศิลปะการต่อสู้มีความคล้ายกับภาษา ซึ่งเมื่อมีคนฝึกฝนและยังคงใช้งาน มันก็จะยังได้รับการพัฒนาให้เท่าทันยุค เปลี่ยนแปลงปกปิดจุดด้อย ปรับจุดแข็งให้เหมาะกับผู้ฝึก นับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายที่รูปแบบการต่อสู้บางตำรับนั้นขาดผู้สืบทอด ก็เหมือนกับภาษาที่ตายไปแล้ว ไม่มีผู้ใช้งาน ทำได้แค่เพียงอ่าน เขียน เฉพาะกับบางบริบท แต่ไม่ได้รับการพัฒนาให้เหมาะสมกับโลกที่หมุนไป

 

 

นิตยสาร plook

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.youtube.com/watch?v=VMpE1VnFrto

https://www.findingdulcinea.com/guides/Sports/Martial-Arts.pg_0.html
https://www.travelchinaguide.com/intro/martial_arts/
https://theculturetrip.com/south-america/brazil/articles/disguised-in-dance-the-secret-history-of-capoeira/
https://www.princeton.edu/~capoeira/ln_abt.html