Classroom: ฮอร์โมน HCG และ โปรตีนรูปตัว Y
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 9.4K views



เรื่อง: เคน อรรถเวชกุล

ฮอร์โมน HCG และ โปรตีนรูปตัว Y


สถิติการท้องไม่พร้อมของวัยรุ่นนั้นเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่สถิติที่เส้นกราฟควรพุ่งขึ้น บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าท้องจนกระทั่งใกล้คลอด ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ของเราวันนี้จะพาไปรู้จักการทำงานของ “ที่ตรวจครรภ์” กับปฏิกริยาระหว่าง HCG กับโปรตีนรูปตัว Y


ฮอร์โมน HCG คืออะไร
HCG (Human Chorionic Gonadotropin) คือฮอร์โมนที่มีหน้าที่สำคัญหลายอย่างที่จำเป็นต่อการตั้งครรภ์ ฮอร์โมน HCG จึงมีความสำคัญต่อการตั้งครรภ์ และจะถูกตรวจพบในปัสสาวะของผู้หญิงทุกคนที่ตั้งครรภ์


คนท้องเท่านั้นหรือเปล่าที่มี HCG
นอกจากคนท้องแล้ว ในกรณีของผู้เป็นมะเร็งที่มดลูก หรือมะเร็งลูกอัณฑะ ซึ่งมีผลทำให้ร่างกายมีฮอร์โมน HCG อยู่ในปัสสาวะด้วย ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ท้อง นี่คือเหตุผลที่ทำให้เกิดการแสดงผลว่า “ตั้งครรภ์” ในผู้ชายได้
แต่สำหรับการแสดงผลว่าไม่ท้อง ทั้ง ๆ ที่ท้องอยู่...อาจเกิดจากระดับฮอร์โมน HCG ที่น้อยเกินไป จนตรวจวัดไม่ได้ ซึ่งมักเกิดในกรณีตั้งท้องในระยะแรก ๆ หรืออาจเกิดจากการดื่มน้ำมากเกินไปก่อนการตรวจ ทำให้ปัสสาวะเจือจางมาก


แอนติบอดี้ตรวจจับ HCG
กระบวนการทดสอบจะเริ่มด้วยการที่ปัสสาวะซึมผ่านเยื่อไฟเบอร์เข้าสู่ภายในที่ตรวจครรภ์ ซึ่งแบ่งพื้นที่จากหัวไปท้าย ทั้งหมด 3 ส่วนคือ
1. โซนปฏิกิริยา (Reaction Zone) ในบริเวณนี้ของที่ตรวจครรภ์จะมีโปรตีนที่มีรูปร่างเป็นรูปตัว Y ซึ่งเรียกว่า แอนติบอดี โปรตีนตัวนี้จะคอยดักจับ HCG โดยแอนติบอดีจะไหลตามปัสสาวะไปสู่พื้นที่ที่สอง

2. โซนทดสอบ (Test Zone) สำหรับโซนนี้จะมีโปรตีนแอนติบอดีอยู่เช่นกัน ซึ่งจะคอยดักจับ HCG เช่นเดียวกับในโซนปฏิกิริยา ในกรณีของหญิงตั้งครรภ์ฮอร์โมน HCG ซึ่งถูกจับตัวไปแล้วกับแอนติบอดีในโซนแรกจะไหลมากับปัสสาวะ และจะถูกจับโดยแอนติบอดีอีกตัวในโซนนี้ กลายเป็นโครงสร้างแซนด์วิชระหว่าง แอนติบอดี 2 ตัว และ ฮอร์โมน HCG 1 ตัว
3. โซนควบคุม (Control Zone) ทำหน้าที่ช่วยสนับสนุนผลการทดสอบ คือ แอนติบอดีบางส่วนจากพื้นที่ทั้งสองก่อนหน้านี้ควรจะไหลมาฝังตัวจบสิ้นที่โซนควบคุม ไม่ว่าจะกำลังตั้งครรภ์หรือไม่ และเนื่องจากมีแอนติบอดีมาฝังตัวอยู่ในพื้นที่นี้ เอนไซม์พิเศษที่เกาะมากับแอนติบอดีก็จะทำงานในการกระตุ้นให้เกิดขีดสีขึ้นมา ดังนั้นไม่ว่าจะตั้งครรภ์หรือไม่ ที่ตรวจครรภ์จะปรากฏให้เห็นขีดสีในโซนควบคุมนี้เสมอ
ขีดสีนั้นเกิดจากเอนไซม์ชนิดพิเศษที่เกาะอยู่กับแอนติบอดี เอนไซม์ชนิดนี้มีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถกระตุ้นให้เกิดสีที่มองเห็นได้ ซึ่งในกรณีของหญิงท้องเอนไซม์พิเศษที่ติดอยู่มาด้วยจะกระตุ้นให้เกิดสีขึ้นมาในบริเวณโซนทดสอบ

ไม่น่าเชื่อว่าอุปกรณ์แท่งเล็ก ๆ จะมีหลักการทำงานทางวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจมาก ๆ ...ที่ตรวจครรภ์นั้นเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ ส่วนความรักเป็นเรื่องของอารมณ์ พี่สนับสนุนให้น้อง ๆ รู้จักยับยั้งชั่งใจ จะได้ไม่ต้องพึ่งพาที่ตรวจครรภ์กันในช่วงวัยเรียนนะครับ


บทความโดย
เคน อรรถเวชกุล
“พี่เคน” เกียรตินิยม อันดับ 1 เหรียญทอง วิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผู้แทนการแข่งขันเคมีโอลิมปิก ในระดับ สอวน. และ สสวท. อาจารย์เคมีผู้คิดค้นและพัฒนา K-TIPS เพื่อการเรียนเคมี โรงเรียนกวดวิชา OnDemand