portfolio : ยุวศิลปินสืบสาน “โขนพระราชทาน”
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 17.8K views



portfolio : ยุวศิลปินสืบสาน “โขนพระราชทาน”

เรื่อง: นฤมล อารีสินพิทักษ์


 ยุวศิลปินสืบสาน “โขนพระราชทาน” 


โขนพระราชทาน


หากจะมีการแสดงใดที่ยิ่งใหญ่ตระการตา รวมทั้งศาสตร์และศิลป์ของไทยไว้แทบทุกแขนง คงจะมิใช่งานใดยิ่งใหญ่ได้เท่า “โขนพระราชทาน” การแสดงโขนอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ นิ่ม-อริศรา วัฒนพงศ์ไพร, แจ๋ม-ภาชินี พิกุลเงิน และฟรองก์-ปพน รัตนสิปปกร คือตัวแทนสามเยาวชนไทยกว่าสองร้อยคนที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการแสดงโขนพระราชทาน ชุด  "ศึกอินทรชิต ตอนพรหมาศ" ผู้มีใจรักในการร่วมสืบสานมรดกไทย

 

จากเด็กชาวเขาที่ชอบงานปักผ้า นิ่ม-อริศราได้รับพระราชทานพระราชวโรกาสจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ทรงรับเข้าเป็นนักเรียนในมูลนิธิศิลปาชีพ ได้เรียนวิชาปักผ้าแบบโบราณและเป็นนักเรียนศิลปาชีพรุ่นที่สองของครูวีรธรรม ตระกูลเงินไทย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพัสตราภรณ์และลายปักไทยโบราณ ซึ่งเป็นผู้ดูแลและออกแบบงานปักชุดโขนพระราชทาน

 

โขนพระราชทาน

“เมื่อก่อนเราปักกระเป๋า ปักเสื้อผ้าชนเผ่า พอได้มาอยู่ในมูลนิธิฯ เราก็ได้ปักชุดโขนด้วยดิ้นเงินดิ้นทอง ชุดโขนแต่ละปีลายก็จะไม่เหมือนกัน มีตั้งแต่ลายง่ายจนถึงลายยาก ชิ้นหนึ่งก็ใช้เวลาทำหลายเดือนค่ะ ทำตั้งแต่ตอนพรหมาศครั้งแรก ได้ดูโขนครั้งแรกในชีวิตด้วยค่ะ ทั้งฉาก ทั้งชุด ทั้งท่าทาง อลังการมาก ตอนเห็นชุดที่ตัวเองปัก (สไบของนางลอยและชุดเสนายักษ์) มันพูดไม่ออกเลยค่ะ เห็นแล้วจำได้เลยว่าชุดไหนเราทำ...ภูมิใจและดีใจที่เห็นผลงานตัวเองแล้วนักแสดงได้ใส่ให้คนทั้งโลกดู ศิลปะการปักผ้าโบราณถ้าเราไม่อนุรักษ์ไว้มันก็สูญหายไปได้


นอกจากชุดโขนที่ต้องใช้เวลาจัดทำกันนานแรมเดือน การคัดเลือกนักแสดงก็เป็นงานหนักของผู้เชี่ยวชาญและครูละครตลอดจนศิลปินแห่งชาติหลายท่าน และในทุกปีก็จะเปิดโอกาสให้นักแสดงโขนรุ่นใหม่ระดับเยาวชนเข้าสมัครเข้าร่วมออดิชั่นด้วย ปีนี้มีคนสมัครถึง 845 คน ได้รับคัดเลือกแสดงประมาณ 300 คน โดยมีเพียง 26 คนที่ได้รับพระราชทานทุนการศึกษา
 

โขนพระราชทาน


แจ๋ม-ภาชินี นักศึกษาจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ลพบุรีสนใจด้านการรำมาตั้งแต่เด็ก ใฝ่ฝันจะได้รำในงานพระราชทานตั้งแต่เลือกเรียนวิชาเอกนาฏศิลป์ไทย ปีนี้แจ๋มนอกจากจะได้เป็นเล่นเป็นตัวละครพระ ก็ยังได้รับพระราชทานทุนการศึกษาด้วย “งานโขนพระราชทานถือเวทีใหญ่ และเป็นแรงบันดาลใจในการฝึกซ้อมตัวเองเพื่อเข้ามาออดิชั่นค่ะ การคัดเลือกนั้นเข้มข้นมาก นอกจากท่ารำแล้ว ยังต้องตีบทตามเนื้อร้องและต้องมีเรื่องไหวพริบปฏิภาณด้วยในการต่อท่ารำ ซ้อมหนักทุกเย็นหลังเลิกเรียนค่ะ...มีความสุขทุกครั้ง มาที่นี่ด้วยความภูมิใจ ถ้าไม่มีโขนนอกจากเด็กนาฏศิลป์จะไม่มีโอกาสได้วิชาจากครูโขนที่เก่ง ๆ แล้ว ก็ยังจะทำให้นาฏศิลป์ไทยนั้นสูญหายไปด้วยค่ะ
 

โขนพระราชทาน

ฟรองก์ – ปพน โขนยักษ์น้องเล็กอายุเพียง 16 ปี ทุ่มเทกับการซ้อมโขนจนได้คัดเลือกให้เล่นบทเด่นคือวิรุญมุขในตอนนาคบาศ และล่าสุดคือกาลสูร โดยได้รับทุนการศึกษาอันดับ 1 ของบทตัวยักษ์ “ปกติคนตัวเล็กจะได้เป็นลิง แต่ผมได้เรียนโขนยักษ์มาตั้งแต่เด็กเลยครับ เพราะครูเห็นว่าพ่อผมเป็นครูสอนโขนยักษ์ครับ ก็เลยให้เรียนตัวยักษ์ มันจะมีบทยักษ์สำหรับคนที่ไม่สูงมากด้วยเหมือนกัน ครั้งแรกที่มาออดิชั่นเป็นเด็กชายคนเดียวเลยครับ ตื่นเต้นมาก แต่ปีแรกก็ไม่ได้ กลับมาเราก็ฝึกหนักขึ้น บ้านอยู่ร้อยเอ็ดแต่มาเรียนที่นาฏศิลป์อ่างทองคนเดียวเลยครับ วันไหนที่ว่างจะเปิดโขนดู คอยดูว่ารุ่นพี่เรียนเรียนอะไร หาว่าต่อไปต้องเรียนท่าอะไร...คนที่ไม่ได้มาสัมผัสตรงนี้จะไม่รู้เลยว่าโขนให้อะไรเราบ้าง นอกจากเราจะได้เรื่องสมาธิแล้ว ยังได้ครอบครัว ได้เข้าสังคมด้วย คนที่ไม่เคยดูโขนผมก็อยากให้ลองมาดูสักครั้งหนึ่ง ชอบหรือไม่ชอบต้องลองมาดูก่อน โขนอาจสร้างบันดาลใจให้เราได้ครับ”

 

โขนพระราชทาน